นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ชี้แจงที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เกี่ยวกับ พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 วงเงิน 5 แสนล้านบาท (พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนลบ.) ว่า เนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดของวิกฤตโควิด-19 มีความไม่แน่นอนสูงมาก เพราะยังไม่มีใครรู้ว่าปัญหาดังกล่าวจะสิ้นสุดเมื่อไหร่ ซึ่งสร้างปัญหาให้ทุกฝ่าย ทั้งผู้ประกอบการ สถาบันการเงิน ผู้กำหนดนโยบาย
“ปัญหาการขาดสภาพคล่องของผู้ประกอบการเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะอาจจะนำไปสู่ปัญหาการมีหนี้สินล้นพ้นตัว ปัญหาการล้มละลาย ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ”
นายวิรไท กล่าว
สำหรับ พ.ร.ก.ซอฟท์โลนเพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีจะมีมาตรการทางการเงิน 4 ด้าน คือ
- การลดอัตราดอกเบี้ย ซึ่งมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงมาอยู่ที่ 0.50% ต่อปี ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์
- การเลื่อน/ลดภาระการชำระหนี้ ซึ่งมีลูกหนี้ได้รับการช่วยเหลือแล้วกว่า 1.1 ล้านราย ยอดเงินกว่า 2.1 ล้านล้านบาท
- การให้สินเชื่อเพิ่มเติม โดย ธปท.อนุมัติสินเชื่อไปแล้ว 5.8 หมื่นล้านบาท ลูกค้า 35,200 ราย ในส่วนธนาคารออมสินอนุมัติสินเชื่อผ่านสถาบันการเงินอื่น 5.5 หมื่นล้านบาท ลูกค้า 9,150 ราย ธนาคารออมสินอนุมัติสินเชื่อของตัวเอง 4,000 ล้านบาท ลูกค้า 625 ราย สินเชื่อเพิ่มของสถาบันการเงินโดยมี บสย.ค้ำประกัน 3.1 หมื่นล้านบาท ลูกค้า 38,825 ราย รวมลูกหนี้ที่ได้รับสินเชื่อไปแล้ว 8.4 หมื่นราย ยอดเงินกว่า 1.48 แสนล้านบาท แต่ตัวเลข 8.4 หมื่นรายนี้ นายวิรไท กล่าวว่า ยังไม่พอใจ เพราะยังมีลูกค้าเอสเอ็มอี รออีกมาก ซึ่งต้องเร่งสถาบันการเงินต่อไป โดยให้ความสำคัญกระจายไปยังเอสเอ็มอีขนาดเล็ก
- การเร่งปรับโครงสร้างหนี้เชิงรุก โดยผ่อนคลายกฎเกณฑ์การกำกับดูแลสถาบันการเงิน เพื่อให้เร่งปรับโครงสร้างหนี้โดยไม่ต้องรอให้เป็นหนี้เสีย
ปัจจุบันมีวงเงินสินเชื่อซอฟท์โลน 58,208 ล้านบาท มีผู้ประกอบการได้รับการช่วยเหลือ 35,217 ราย วงเงินอนุมัติเฉลี่ยรายละ 1.65 ล้านบาท ซึ่งแยกเป็น ธุรกิจขนาดเล็กวงเงินเดิมไม่เกิน 5 ล้านบาท 51% และธุรกิจขนาดเล็กวงเงินเดิม 5-20 ล้านบาทอีก 23% โดย 51% ของเอสเอ็มอีที่ได้รับสินเชื่อประธอบธุรกิจค้าปลีกค้าส่ง ขณะที่ธุรกิจท่องเที่ยวได้รับสินเชื่อ 2,600 ราย วงเงิน 5,100 ล้านบาท โดยมีสัดส่วนของลูกหนี้ในต่างจังหวัด 71% และเป็นกลุ่มลูกหนี้ที่มีความเสี่ยงปานกลางถึงค่อนข้างสูง 70%
ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า ธนาคารพาณิชย์ปล่อยกู้แต่ลูกค้าชั้นดีความเสี่ยงต่ำนั้น นายวิรไท กล่าวว่า ไม่เป็นความจริงนายวิรไท กล่าวว่า มาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีนั้นให้ความสำคัญใน 4 มิติ คือ
- การดูแลเยียวยาผู้ประกอบการอย่างรวดเร็วและทั่วถึง
- มาตรการต่างๆ ที่ดำเนินการจะต้องไม่นำไปสู่ปัญหาระบบสถาบันการเงิน ซึ่งนับโชคดีที่ระบบสถาบันการเงินขณะนี้มีความแข็งแกร่งที่สามารถเข้าไปช่วยเหลือผู้ประกอบการได้ แต่หากเกิดปัญหาจะทำให้เกิดวิกฤตทางการเงินที่ไม่มีใครต้องการให้เกิดขึ้น
- ไม่สร้างภาระทางการคลัง และภาษีของประชาชนมากเกินควร
- โครงสร้างระบบเศรษฐกิจหลังวิกฤตโควิด-19 คลี่คลายจะมีต่างไปจากอดีตมาก วิถีชีวิต พฤติกรรมการบริโภค วิถีการทำธุรกิจจะเปลี่ยนแปลงไป มาตรการทางการเงินต้องเอื้อและส่งเสริมให้ผู้ประกอบการปรับตัวไปสู่โครงสร้างใหม่
นายวิรไท กล่าวในช่วงท้ายของการชี้แจงว่า การออกพ.ร.ก.ซอฟท์โลนนี้ เป็นรูปแบบเดียวกับเมื่อครั้งที่เกิดน้ำท่วมใหญ่ปี 54 และไม่ถือเป็นการกู้เงิน ต่างกับการใช้จ่ายเงินของรัฐบาล และไม่ถือเป็นหนี้สาธารณะ ไม่เป็นภาระภาษีให้กับประชาชน และไม่จำเป็นต้องใช้ทุนสำรองระหว่างประเทศมาใช้ เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาสภาพคล่องในรูปของเงินบาท
นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง ยอมรับสถานภาพของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก (เอสเอ็มอี) มีความหลากหลาย ทั้งในเรื่องโครงสร้าง ขนาดทุน ประสบการณ์ ทำให้ความต้องการสินเชื่อมีความแตกต่างกันไปด้วย เมื่อเกิดวิกฤตโควิด-19 ทำให้ได้รับผลกระทบรุนแรง รัฐบาลจึงเตรียมหาทางช่วยเหลือให้อยู่ต่อไปได้ โดยได้หารือกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐและรับฟังความคิดเห็นจากผู้ประกอบการเพื่อเร่งพิจารณาออกมาตรการเพิ่มเติมให้ครอบคลุมและสอดคล้องกับสถานการณ์ เช่น กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ซึ่งการช่วยเหลืออาจมีรูปแบบเป็นการจัดตั้งกองทุนประกอบเงื่อนไข ซึ่งต่างไปจากสินเชื่อ
“รัฐบาลมีเป้าหมายที่จะดูแลเอสเอ็มอีที่ยังไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงิน เพราะไม่มีประสบการณ์ในการกู้เงินจากสถาบันการเงิน ขนาดยังไม่ใหญ่นัก ยังไม่เข้มแข็งเรื่องเงินทุน ถ้าเป็นภาวะปกติคงเติบโตไปได้ แต่ในภาวะเช่นนี้จะเป็นที่น่าเสียดายหากถูกกระทบจนล้มหายตายจากไป เพราะยังอยู่ในช่วงการเติบโตในช่วงแรก”
นายอุตตม กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 พ.ค. 63)
Tags: SME, ประชุมสภา, ผู้ประกอบการ, พ.ร.ก.กู้เงิน, วิรไท สันติประภพ, อุตตม สาวนายน, เอสเอ็มอี