สภาฯ ลงมติผ่านพ.ร.ก.กู้เงิน 3 ฉบับ วงเงิน 1.9 ล้านลบ.

ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีมติเห็นชอบเห็นชอบ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 ด้วยคะแนน 274 เสียง งดออกเสียง 207 เสียง

พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 วงเงิน 5 แสนล้านบาท ที่ประชุมฯ เห็นด้วย 275 เสียง ไม่เห็นด้วย 1 เสียง และงดออกเสียง 205 เสียง

ส่วนพ.ร.ก.การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ.2563 วงเงิน 4 แสนล้านบาท ที่ประชุมเห็นด้วย 274 เสียง ไม่เห็นด้วย 195 เสียง งดออกเสียง 12 เสียง

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม กล่าวว่า มาตรการการดูแลช่วยเหลือของรัฐบาลประกอบด้วย 5 มิติ ได้แก่ 1) การลดภาระค่าใช้จ่าย ทั้งค่าไฟฟ้า-ประปา ค่าโทรศัพท์-อินเทอร์เน็ต ค่าเชื้อเพลิง การยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปีให้แก่ผู้ประกอบกิจการโรงงาน เป็นต้น 2) การเพิ่มสภาพคล่อง อาทิ การคืนเงินประกันการใช้ไฟฟ้า-น้ำประปา การชะลอเลื่อนการชำระภาษี การเลื่อนส่งเงินกองทุนประกันสังคม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 3) การเยียวยาทุกคน เช่น กลุ่มแรงงานในระบบประกันสังคม การเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ การเยียวยาเด็กที่ครัวเรือนยากจน การช่วยเหลือฉุกเฉินเป็นค่าอาหารแก่นักเรียนยากจนกว่า 7.5 แสนคนตามกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาครอบคลุมสถานศึกษาสังกัด สพฐ. ศธ. ตชด. ทั่วประเทศ ดูแลเด็กนอกระบบ

นอกจากนี้ รัฐบาลยังเร่งรัดการจัดเก็บข้อมูลด้วยระบบ Big Data เพื่อการบริหารในอนาคตด้วย ซึ่งประชาชนต้องร่วมมือด้วย 4) การชะลอหนี้สินเดิม อาทิ การพักเงินต้น การปรับโครงสร้างหนี้ การลดดอกเบี้ยผ่านธนาคารต่าง ๆ ทั้งธนาคารรัฐและธนาคารพาณิชย์ซึ่งอยู่ในขอบเขตอำนาจของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ดูแลอยู่ซึ่งรัฐบาลไม่สามารถสั่งการ 5) การเพิ่มช่องทางในการเข้าถึงแหล่งเงินเพิ่มเติม การให้เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เพื่อรองรับกรณีฉุกเฉินในการดำเนินธุรกิจ รวมทั้งจะมีกองทุนจัดขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือคนที่เป็นหนี้เสีย เอ็นพีแอลหรือมีศักยภาพน้อย แต่คำนึงถึงการใช้เงิน เพราะทุกบาททุกสตางค์ เป็นเงินของพี่น้องประชาชน

นายกรัฐมนตรี ระบุว่า รัฐบาลเตรียมมาตรการฟื้นฟูและสร้างความแข็งแกร่ง 400,000 ล้านบาท เพราะเชื่อว่าสถานการณ์เศรษฐกิจหลังสถานการณ์โควิด-19 จะมีการปรับเปลี่ยนอย่างมาก โดย 1) สนับสนุนเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจของประเทศให้เดินต่อ ทั้งกลุ่มกิจการที่มีศักยภาพ SMEs วิสาหกิจรายเล็ก ทั้งภาคการผลิต การแปรรูป ภาคการส่งออกทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ เพื่อให้เดินหน้าต่อไปได้ ท่ามกลางสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอนสูง 2) เน้นสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานรากของประเทศไทย เสริมภูมิคุ้มกันของประเทศให้ดีขึ้น

นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า จะบริหารด้วยโปร่งใส มีเจตนาดี และทำตามกฎหมาย โดยการใช้เงินกู้ดังกล่าวจะต้องดำเนินการเบิกจ่ายเช่นเดียวกับเงินงบประมาณแผ่นดินปกติ นอกจากนี้ยังมีระบบรายการความก้าวหน้า และจะมีเว็บไซต์แสดงความก้าวหน้า แสดงประโยชน์/ผลลัพธ์แต่ละโครงการด้วย

ส่วนการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อติดตามและตรวจสอบการใช้งบประมาณใน พ.ร.ก.กู้เงินนั้น เป็นเรื่องของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะพิจารณา

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (31 พ.ค. 63)

Tags: , , , ,
Back to Top