เงินบาทเปิด 31.76 ต่อดอลล์ แข็งค่าเกาะกลุ่มภูมิภาค จับตาเหตุจลาจลในสหรัฐฯ

นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้ที่ระดับ 31.76 บาท/ดอลลาร์ จากเย็นวันศุกร์ที่อยู่ที่ระดับ 31.81 บาท/ดอลลาร์

“เงินบาทแข็งค่าเกาะภูมิภาคหลังดอลลาร์โดนเทขาย และส่วนหนึ่งน่าจะมาจาก Flow ส่งออกทองคำหลังราคาทองคำเมื่อคืนวันศุกร์ปรับตัวสูงขึ้นมากนัก..ขณะที่ ธปท.ระบุว่าอาจจะมีมาตรการดูแลธุรกรรมของผู้ค้าทองคำ”

นักบริหารเงินระบุ

นักบริหารเงิน คาดว่า กรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทจะอยู่ระหว่าง 31.70-31.85 บาท/ดอลลาร์ โดยคืนนี้จะมีตัวเลข ISM ภาคการผลิตของสหรัฐฯ และต้องจับตาการจลาจลในสหรัฐฯ
THAI BAHT FIX 3M (29 พ.ค.) อยู่ที่ระดับ 0.45968% ส่วน THAI BAHT FIX 6M อยู่ที่ระดับ 0.58412%

ปัจจัยสำคัญ

  • เงินเยนอยู่ที่ระดับ 107.66 เยน/ดอลลาร์ จากเย็นวันศุกร์ (29 พ.ค.) ที่อยู่ที่ระดับ 107.23 เยน/ดอลลาร์
  • เงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.1134 ดอลลาร์/ยูโร จากเย็นวันศุกร์ (29 พ.ค.) ที่อยู่ที่ระดับ 1.1118 ดอลลาร์/ยูโร
  • อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท/ดอลลาร์ ถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักระหว่างธนาคารของธปท.อยู่ที่ระดับ 31.8320 บาท/ดอลลาร์
  • วันที่ 1 มิ.ย.นี้ จะเป็นวันแรกที่มีการผ่อนคลายล็อกดาวน์ ระยะ 3
  • ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในสัปดาห์ถัดไป (1-5 มิ.ย.) ที่ระดับ 31.70-32.10 บาท/ดอลลาร์ฯ โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สัญญาณความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ-จีน รวมถึงสถานการณ์โควิด-19 และการปลดล็อกเศรษฐกิจในประเทศระยะที่ 3
  • ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.ก.กู้เงินทั้ง 3 ฉบับ วงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท
  • “บีโอไอ” เล็งปรับ ยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุน ฟื้นระบบโซน ควบคู่การดึงอุตสาหกรรมไฮเทค ให้สิทธิแต่ละโซนตามจุดเด่นแต่ละพื้นที่ เตรียมเสนอบอร์ดเห็นชอบหลักการ หวังกระจายการพัฒนาเศรษฐกิจ
  • กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า การใช้จ่ายส่วนบุคคลของผู้บริโภคสหรัฐ ดิ่งลง 13.6% ในเดือนเม.ย. ซึ่งเป็นการทรุดตัวลงมากที่สุดนับตั้งแต่เริ่มมีการเก็บรวบรวมข้อมูลในปี 2502 และย่ำแย่กว่าสถิติเดิมที่ 6.9% ที่ทำไว้ในเดือนมี.ค. ขณะที่นักวิเคราะห์คาดไว้ว่าอาจลดลง 12.6%
  • กระทรวงพาณิชย์สหรัฐ เปิดเผย ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ลดลง 0.5% ในเดือนเม.ย. เมื่อเทียบรายเดือน ซึ่งเป็นการดิ่งลงมากที่สุดในรอบกว่า 5 ปี หลังจากลดลง 0.3% ในเดือนมี.ค. ขณะที่ดัชนี PCE พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญ ลดลง 0.4% ในเดือนเม.ย. เมื่อเทียบรายเดือน ซึ่งเป็นการปรับตัวลงมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.ย. 2544 หลังจากทรงตัวในเดือนมี.ค.
  • ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐ ดีดตัวขึ้นสู่ระดับ 72.3 ในเดือนพ.ค. จากระดับ 71.8 ในเดือนเม.ย. แต่ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 74.0
  • ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เปิดเผยในวันศุกร์ (29 พ.ค.) ว่า แนวโน้มผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่พุ่งขึ้นในสหรัฐ อาจจะสกัดกั้นการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากโรคระบาดดังกล่าว แม้เขาได้ระบุย้ำว่า เฟดยืนยันที่จะยังคงเดินหน้าต่อสู้กับวิกฤตดังกล่าวต่อไปก็ตาม
  • ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เตรียมเลื่อนการประชุมกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ หรือ G7 ออกไปเป็นเดือนก.ย. จากเดิมที่วางแผนไว้ว่าจะจัดขึ้นในช่วงเดือนมิ.ย.
  • นักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับการประท้วงที่ลุกลามในพื้นที่หลายแห่งของสหรัฐในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา จนทำให้หลายเมืองใหญ่ในสหรัฐต้องประกาศเคอร์ฟิว
  • ข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐที่มีกำหนดเปิดเผยในสัปดาห์นี้ได้แก่ ดัชนี PMI/ISM ภาคการผลิต-ภาคบริการ ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร ข้อมูลการจ้างงานภาคเอกชนเดือนพ.ค. รายจ่ายด้านการก่อสร้าง ยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือนเม.ย. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ นอกจากนี้ ตลาดอาจรอติดตามผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป ดัชนี PMI ภาคการผลิต-ภาคบริการเดือนพ.ค. ของจีน ญี่ปุ่น และยูโรโซน และอัตราเงินเฟ้อของไทยในเดือนพ.ค.

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (01 มิ.ย. 63)

Tags: , , ,
Back to Top