ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค พ.ค. ฟื้นตัวครั้งแรกในรอบ 15 เดือน แต่โดยรวมยังต่ำ

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนพ.ค. 63 อยู่ที่ 48.2 จาก 47.2 ในเดือนเม.ย.63 เป็นการฟื้นตัวครั้งแรกในรอบ 15 เดือน หลังจากเริ่มผ่อนคลายธุรกิจได้ ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวมเดือน พ.ค. อยู่ที่ 40.2 จากเดือน เม.ย.63 ที่อยู่ในระดับ 39.2

ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำ อยู่ที่ 46.6 จาก 46.0 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตเท่ากับ 57.7 จาก 56.4

โดยมีปัจจัยบวก ได้แก่ รัฐบาลมีมาตรการผ่อนปรนระยะที่ 1 และ 2, คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25%, ส่งออกเดือนเม.ย. เพิ่มขึ้น 2.12%

ส่วนปัจจัยลบมาจากการแพร่ระบาดของโควิด-19, สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ เผย GDP ไตรมาสแรกปี 63 ติดลบ 1.8% รวมทั้งปรับลดประมาณการปี 63 ลง, รัฐบาลขยายเวลาบังคับใช้พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินออกไป, ความกังวลปัญหาสงครามการค้า, ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น, เงินบาทแข็งค่า และผู้บริโภคยังกังวลเศรษฐกิจชะลอตัว

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ กล่าวว่า แม้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนพ.ค.63 จะปรับตัวขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 15 เดือน แต่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมยังคงอยู่ในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ นับตั้งแต่ทำการสำรวจในรอบ 21 ปี 8 เดือน

ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นทุกรายการจากมาตรการผ่อนคลายให้ธุรกิจเปิดดำเนินการได้มากขึ้น และมีมาตรการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจออกมาอย่างต่อเนื่อง แต่การที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังทรงตัวต่ำและอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 21 ปีหลายรายการ

ดังนั้น จึงคาดว่าผู้บริโภคยังชะลอการใช้จ่ายไปอีกอย่างน้อย 3-6 เดือนนับจากนี้ไปจนกว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดจะคลายตัวลง และมีการเปิดร้านค้า/กิจกรรมทางเศรษฐกิจหรือธุรกิจอย่างกว้างขวาง พร้อมกับที่รัฐบาลได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เป็นรูปธรรมชัดเจนในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจหลังโควิด เพื่อฟื้นความเชื่อมั่นของผู้บริโภค

“การที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 15 เดือนนั้น การเพิ่มขึ้นดังกล่าวยังไม่ใช่การเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เพียงแค่ 1 เดือนยังวัดอะไรไม่ได้ ต้องขึ้นอยู่กับข้อมูลเศรษฐกิจในระยะต่อไป ซึ่งกว่าที่เศรษฐกิจไทยจะเริ่มฟื้น คาดว่าจะเป็นช่วงไตรมาส 4 ปีนี้”

นายธนวรรธน์ ระบุ

นายธนวรรธน์ กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมยังอยู่ในระดับต่ำกว่า 100 แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคยังคงเห็นว่าเศรษฐกิจโดยรวมน่าจะปรับตัวเข้าสู่ภาวะถดถอยจากวิกฤติโควิด-19 ในทั่วโลก ซึ่งอาจส่งผลกระทบในเชิงลบอย่างมากต่อกำลังซื้อภายในประเทศ การท่องเที่ยว การส่งออก ธุรกิจโดยทั่วไป และการจ้างงานในอนาคต ซึ่งเป็นปัจจัยที่บั่นทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั้งในปัจจุบันและในอนาคตอย่างต่อเนื่อง

โดยความเสี่ยงสำคัญซึ่งพบได้จากการสำรวจความเห็นของผู้บริโภค คือ ความกังวลในเรื่องการว่างงาน การปลดคนงานที่ยังมีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดขึ้น ซึ่งประเด็นนี้ถือเป็นความเสี่ยงต่อระบบเศรษฐกิจของไทยด้วย

ขณะเดียวกัน มองว่าเศรษฐกิจไทยได้ถึงจุดต่ำสุดแล้วในช่วงพ.ค. และคาดว่าในช่วงไตรมาส 2/63 เศรษฐกิจไทยมีความเป็นไปได้ที่จะหดตัวถึง -10% แต่คงจะไม่ทรุดตัวต่อเนื่องมากไปกว่านี้แล้ว เพราะสถานการณ์ในภาพรวมเริ่มดีขึ้น ทั้งจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศที่ลดลงอย่างมาก การผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ที่ทำให้ร้านค้า/กิจกรรมต่างๆ สามารถกลับมาเปิดดำเนินการได้มากขึ้น ซึ่งทำให้ผู้บริโภคมองว่าความเชื่อมั่นจะเริ่มดีขึ้น เพราะมองว่าสถานการณ์ในอนาคตจะไม่แย่ไปมากกว่านี้

“เศรษฐกิจคงจะไม่ทรุดต่อเนื่อง ถ้าไม่มีเหตุให้ต้องล็อกดาวน์ในรอบ 2 ไม่มีเรื่องทางการเมือง หรือปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ก็คาดว่าเศรษฐกิจจะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในเดือนพ.ค. หรือในช่วงไตรมาส 2 ซึ่งคาดว่าจะติดลบประมาณ 10% และมีสัญญาณฟื้นตัวในช่วงปลายไตรมาส 3 โดยเศรษฐกิจไทยมีโอกาสกลับมาเป็นบวกได้เล็กน้อย 1-2% ในไตรมาส 4”

นายธนวรรธน์กล่าว

พร้อมระบุว่า ม.หอการค้าไทย จะยังไม่ปรับมุมมองทางเศรษฐกิจที่เคยประเมินว่าปีนี้เศรษฐกิจไทยจะหดตัวที่ระดับ -5 ถึง -3.5% แต่ทั้งนี้โอกาสที่จะเป็น -3.5% เริ่มมีน้อยลง โดยมีความเป็นไปได้มากขึ้นที่จะลงไปอยู่ในขอบล่างที่ -5%

นายธนวรรธน์ มองว่า การฟื้นเศรษฐกิจตั้งแต่ในช่วงไตรมาส 3 มีความสำคัญมากและจำเป็นต้องทำอย่างเข้มข้น ซึ่งเชื่อว่ามาตรการด้านการคลังของรัฐบาลในการอัดฉีดเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 3 ประมาณ 2 แสนล้านบาทนั้น จะมีส่วนช่วยให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่ผ่านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ในระดับชุมชน ส่งผลดีที่ทำให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระดับเศรษฐกิจฐานราก

ขณะเดียวกัน หากรัฐบาลสามารถผ่อนคลายมาตรการให้แก่ภาคธุรกิจได้มากขึ้น ภายใต้การควบคุมการแพร่ระบาดในระยะยาวไว้ได้ ก็จะทำให้ภาคธุรกิจมีรายได้เข้ามาหมุนเวียนใกล้เคียงกับช่วงสถานการณ์ในปกติ ซึ่งจะมีส่วนช่วยฟื้นเศรษฐกิจของประเทศได้เร็วขึ้นด้วย

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (04 มิ.ย. 63)

Tags: , , ,
Back to Top