PTT ลุ้นเซ็นซื้อขายก๊าซฯระยะยาวกับกฟผ.-จัดหา Spot LNG ครบตามเป้าปีนี้

นายวุฒิกร สติฐิต รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บมจ.ปตท. (PTT) เปิดเผยความคืบหน้าการลงนามสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติตามสัญญาระยะยาวกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งเป็นสัญญาหลัก (GLOBAL DCQ) นั้น คาดว่าจะสามารถลงนามสัญญาได้ในเร็ว ๆ นี้ ซึ่งในส่วนของสัญญาใหม่ กฟผ.ได้กำหนดที่จะพิจารณาทางเลือกจัดหาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ในรูปแบบอื่น ๆ ได้ด้วย โดยปริมาณก๊าซฯที่จะรับจากปตท.ในแต่ละปี จะมีปริมาณไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับความต้องการใช้

ส่วนการจัดหาและนำเข้า LNG จากตลาดจร (Spot) ตามนโยบายของกระทรวงพลังงาน ที่ต้องการให้ปตท.เร่งพิจารณาจัดซื้อ Spot LNG ในช่วงที่มีราคาถูกเข้ามาเฉลี่ยต้นทุนค่าเชื้อเพลิงก๊าชธรรมชาติ ที่เป็นต้นทุนหลักในการผลิตไฟฟ้าสัดส่วนถึง 70% ของกำลังผลิตไฟฟ้ารวมของประเทศ โดยล่าสุด ปตท.ได้ทำสัญญาจัดซื้อ Spot LNG แล้ว จำนวน 5 ลำ ปริมาณลำละ 6-7 หมื่นตัน ซึ่งได้เริ่มนำเข้า Spot LNG ลำแรกเข้ามาแล้วตั้งแต่เดือน มี.ค.63 ที่เหลือจะทยอยส่งมอบตามความต้องการใช้เพื่อให้เกิดสมดุลระหว่างความต้องการใช้และปริมาณในแต่ละช่วงเวลาด้วย

ขณะที่ปีนี้ปตท. มีแผนจะนำเข้า Spot LNG จำนวน 11 ลำ หรือ ปริมาณรวม 6.6-7.7 แสนตัน ซึ่งก็มีความเป็นไปได้ที่จะนำเข้าได้ครบตามแผน แต่ก็ต้องประสานงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐอย่างใกล้ชิด ทั้งสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เพื่อดูจังหวะเวลาที่เหมาะสม เพราะการจะนำ Spot LNG เข้ามาต้องไม่กระทบต่อต้นทุนค่าไฟฟ้ารวมของประเทศ

ส่วนกรณีที่ กกพ.อนุมัติออกใบอนุญาตประกอบกิจการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (LNG Shipper) ให้กับภาคเอกชนหลายรายนั้น ปตท. มองว่า เป็นเพียงขั้นตอนแรกเท่านั้น ซึ่งการจะนำเข้าก๊าซฯได้จริง ยังต้องผ่านกระบวนการพิจารณาของภาครัฐอีกหลายขั้นตอน ขณะเดียวกัน ปตท. ก็มีแผนที่จะร่วมมือกับบมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) ศึกษาโอกาสและความเป็นไปได้ในธุรกิจ LNG ที่ภาครัฐจะเปิดกว้างมากขึ้นในอนาคต ซึ่งขณะนื้ ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ เพราะยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นการศึกษา

สำหรับความคืบหน้าการผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการซื้อขาย LNG ของภูมิภาค (Regional LNG Hub) นั้น ขณะนี้ปตท.ยังเดินหน้าตามนโยบายของกระทรวงพลังงานที่จะดำเนินการเชิงพาณิชย์ให้ได้ในไตรมาสที่ 3/63 หลังจากได้เริ่มทดสอบกิจกรรมการให้บริการต่าง ๆ ในช่วงไตรมาส 1/63 เช่น ระบบบริการขนถ่าย LNG (Reload System) ให้บริการเติม LNG แก่เรือที่ใช้ LNG เป็นเชื้อเพลิงในการเดินเรือ (Bunkering) และทำการตลาดเพื่อสื่อสารให้กับผู้ค้า LNG เข้ามาใช้บริการ แต่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ทำให้จะต้องมีการสรุปกลุ่มลูกค้าในประเทศเป้าหมายใหม่ จากเดิมที่เคยมองไว้ในกลุ่ม CLMV และจีน รวมถึงต้องพิจารณาปริมาณส่งออกที่เหมาะสมด้วย คาดว่าจะมีความชัดเจนในเร็ว ๆ นี้

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 มิ.ย. 63)

Tags: , , , , , , ,
Back to Top