In Focus: จับตาทั่วโลกผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ หลังฟื้นพิษโควิด-19

หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ โควิด-19 ส่งสัญญาณเป็นบวก ประเทศต่างๆทั่วโลกก็เริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ที่เคยบังคับใช้อย่างเข้มงวด ขณะที่นักลงทุนและตลาดหุ้นทั่วโลกต่างขานรับเนื่องจากมีความหวังว่าเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างสาหัสมาแรมเดือนกำลังจะฟื้นตัว ทว่าสิ่งที่ต้องจับตาดูก็คือ มาตรการที่ประเทศต่างๆนำมาใช้เพื่อให้สอดรับกับวิถีปกติใหม่ … In Focus สัปดาห์นี้ จะพาผู้อ่านติดตามมาตรการผ่อนคลายล็อกดาวน์ทั่วโลก พร้อมส่องแนวโน้มเศรษฐกิจหลังจากคลายล็อกดาวน์

นิวซีแลนด์: ประกาศชัยชนะเหนือโควิด-19

“แม้ว่าภารกิจะยังไม่จบ แต่เราปฎิเสธไม่ได้เลยว่านี้คือความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ ขอบคุณชาวนิวซีแลนด์ทุกท่าน” นี่คือถ้อยแถลงของนางเจซินดา อาร์เดิร์น นายกรัฐมนตรีหญิงแกร่งแห่งเกาะกีวี ที่สะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จในการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จนกลายเป็นประเทศที่ปลอดผู้ติดเชื้ออย่างสมบูรณ์

ความสำเร็จของนิวซีแลนด์ไม่ได้มาเพราะโชคช่วย แต่เกิดจากทุ่มเทการตรวจหาเชื้อและมาตรการล็อกดาวน์ที่เข้มข้นนานถึงเกือบ 7 สัปดาห์ นิวซีแลนด์เริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 28 เม.ย. หลังจากจำนวนผู้ติดเชื้อชะลอตัวลง และไม่พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ติดต่อกันนานกว่า 2 สัปดาห์ รัฐบาลจึงตัดสินใจยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และเข้าสู่ช่วงเปลี่ยนผ่านทั่วประเทศ (National Transition Period) เมื่อวันที่ 13 พ.ค. ก่อนจะลดความเข้มงวดของมาตรการล็อกดาวน์ลงสู่ระดับ 2 จากเดิมที่เคยใช้ในระดับ 4

จนกระทั่งในวันที่ 8 มิ.ย. นายกรัฐมนตรีเจซินดา อาร์เดิร์น ประกาศชัยชนะเหนือไวรัสโควิด-19 หลังจากส่งตัวผู้ติดเชื้อรายสุดท้ายของประเทศกลับบ้าน พร้อมสั่งยกเลิกข้อกำหนดที่เข้มงวดสำหรับภาคธุรกิจ และมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม เพื่อให้ประชาชนสามารถกลับมาใช้ชีวิตตามปกติอย่างเต็มรูปแบบ 100%

ทั้งนี้ แม้นิวซีแลนด์ยังคงข้อจำกัดด้านการควบคุมชายแดน แต่รัฐบาลก็มีแผนที่จะผ่อนคลายข้อจำกัดด้านชายแดนกับออสเตรเลีย เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจการท่องเที่ยว พร้อมยกเลิกมาตรการกักกันตัว 14 วัน กับประเทศที่ปลอดจากโควิด-19 เช่น หมู่เกาะคุก หรือไต้หวัน

ออสเตรเลีย: แตกต่างกันตามรัฐ

ออสเตรเลียถือเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ได้รับการยกย่องในเรื่องการควบคุมการแพร่ระบาดได้อย่างดีเยี่ยม โดยจนถึงขณะนี้ ออสเตรเลียมีผู้เสียชีวิตเพียง 102 ราย และยอดการติดเชื้อลดลงอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้นายสกอตต์ มอร์ริสัน นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย ประกาศแผนการ 3 ขั้นตอนเพื่อยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์

ออสเตรเลียเริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ขั้นแรกในรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย รัฐแทสเมเนีย และรัฐเซาท์ออสเตรเลีย เมื่อวันที่ 11 พ.ค. และอนุญาตให้ร้านอาหาร ร้านค้า ร้านกาแฟ ห้องสมุด กลับมาเปิดให้บริการ แต่ไม่อนุญาตให้รวมตัวกันนอกบ้านเกิน 10 คน และการตัดสินใจดังกล่าวต้องขึ้นอยู่กับรัฐบาลของแต่รัฐว่า แต่ละขั้นจะมีผลบังคับใช้เมื่อใด

หลังจากสถานการณ์ดีวันดีคืน เมื่อวันที่ 30 พ.ค ออสเตรเลียเข้าสู่แผนการขั้นที่ 2 โดยอนุญาตให้ประชาชนสามารถรวมตัวกันได้ถึง 20 คน ส่วนโรงยิม โรงภาพยนตร์ แกลเลอรี่ และสถานเสริมความงาม กลับมาเปิดทำการอีกครั้ง ทว่าหลายรัฐยังคงปิดเขตชายแดน รัฐนิวเซาท์เวลส์ ซึ่งถือว่าเป็นรัฐที่มีการออกกฎที่ผ่อนปรนมากที่สุด อนุญาตให้ร้านอาหารสามารถรับลูกค้าได้ครั้งละไม่เกิน 50 คน จากเดิม 10 คน และต้องมีพื้นที่สำหรับลูกค้าต่อคนอย่างน้อย 4 ตารางเมตร ส่วนรัฐควีนสแลนด์ ร้านอาหารสามารถรองรับผู้คนสูงสุดเพียง 20 ราย เช่นเดียวกับรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย แต่รัฐแทสเมเนียยังคงจำกัดอยู่ที่ 10 ราย

ส่วนในระยะที่ 3 ประชาชนสามารถชุมนุมกันได้มากถึง 100 คน รวมทั้งอนุญาตให้มีการเปิดไนท์คลับ ซาวน่า และโรงอาบน้ำ แต่ต้องปฎิบัติตามวิถีใหม่อย่างเคร่งครัด เพราะไวรัสยังคงเป็นภัยคุกคาม

สหรัฐ: เศรษฐกิจต้องรอด

แม้ว่าสหรัฐจะเป็นประเทศที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อจากไวรัสโควิด-19 และผู้เสียชีวิตเป็นอันดับ 1 ของโลก ประกอบกับคำเตือนของผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขที่กังวลถึงยอดติดเชื้อที่อาจจะเพิ่มขึ้นอีกครั้ง แต่ผู้ว่าการรัฐได้ทยอยคลายมาตรการล็อกดาวน์ จนถึงขณะนี้ ทั้ง 50 รัฐในสหรัฐกลับมาเปิดเศรษฐกิจและอนุญาตให้ธุรกิจกลับมาเปิดดำเนินการ

รัฐจอร์เจียประเดิมเป็นรัฐแรกที่ผลักดันแผนผ่อนคลายล็อกดาวน์ หลังจากเกิดการประท้วงอย่างหนัก โดยอนุญาตให้ธุรกิจขนาดเล็กเปิดทำการเมื่อวันที่ 24 เม.ย. เช่น ร้านสัก สปา ร้านทำผม หรือร้านตัดผม ตามมาด้วยรัฐอลาสกา รัฐเซาท์ แคโรไลนา รัฐเทนเนสซี และเท็กซัส ที่เริ่มทยอยคลายมาตรการล็อกดาวน์ในสัปดาห์ถัดมา ทว่าร้านค้าจำต้องปฏิบัติตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมที่เข้มงวด

ส่วนรัฐที่รับผลกระทบอย่างหนักจากโควิด-19 เช่น นครนิวยอร์ก ตัดสินใจเปิดเศรษฐกิจเฟสแรกเมื่อวันที่ 9 มิ.ย. หลังดำเนินมาตรการล็อกดาวน์มานานเกือบ 3 เดือน โดยอนุญาตให้สถานที่ก่อสร้างกลับมาดำนเนินงานได้อีกครั้ง พร้อมกับภาคการผลิต ค้าส่ง แต่ยังไม่อนุญาตให้รับประทานอาหารภายในร้านได้ ส่วนรัฐนิวเจอร์ซีย์ทยอยเปิดเศรษฐกิจเฟสแรกมาตั้งแต่ 18 พ.ค. และปัจจุบันกำลังเตรียมพร้อมที่จะเข้าสู่เฟส 2 ในวันจันทร์ที่ 15 มิถุนายน ซึ่งจะอนุญาตให้ร้านอาหารเปิดทำการได้เพียงพื้นที่ภายนอกร้านเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม เหตุผลที่สหรัฐกลับมาผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์แม้ต้องเผชิญเสียงคัดค้านจากแพทย์และผู้เชี่ยวชาญนั้น ส่วนหนึ่งมาจากภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มชะลอตัว ประกอบกับข้อมูลที่ระบุว่า ในเดือนเม.ย. ชาวอเมริกันสูญเสียงานสูงถึง 20.5 ล้านตำแหน่ง เพียงระยะเวลาแค่เดือนเดียว ขณะที่นายสตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีคลังสหรัฐ แสดงความเห็นเกี่ยวกับการเปิดเศรษฐกิจว่า “ถ้าหากเราปฎิบัติอย่างรอบครอบ ผมไม่คิดว่าจะมีความเสี่ยงมาก แต่ผมว่ามันมีความเสี่ยงมากกว่าถ้าหากไม่เปิดเลย ซึ่งจะสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างถาวรแก่ชาวอเมริกัน”

ฝรั่งเศส-อิตาลี: เสรีภาพโบกสะบัดอีกครา

อิตาลีที่เคยถูกขนานนามว่าอู่ฮั่นแห่งยุโรปเริ่มกลับมาฟื้นคืนชีพอีกครั้ง หลังจากปิดประเทศมานานกว่า 2 เดือน อิตาลีเริ่มทำการปลดล็อกอย่างเป็นขั้นเป็นตอน โดยเข้าสู่การผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์เฟสแรกเมื่อวันที่ 4 พ.ค. หลังยอดผู้ติดเชื้อทรงตัว จนกระทั่งวันที่ 18 พ.ค. อิตาลีเข้าสู่มาตรการคลายล็อกดาวน์เฟส 2 โดยอนุญาตให้กลับมาเปิดร้านอาหาร บาร์ ร้านกาแฟ และร้านตัดผม แต่ยังไม่อนุญาตให้มีการรวมตัวของกลุ่มคนขนาดใหญ่ ส่วนผู้ที่โดยสารรถไฟจะต้องสวมหน้ากากอนามัยและถุงมือ และอยู่ห่างจากผู้โดยสารคนอื่นอย่างน้อย 1 เมตร

สำหรับเมืองแบร์กาโม แคว้นลอมบาร์เดีย ซึ่งเคยเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดหนักสุดนั้น นายจีออร์จิโอ กอรี นายกเทศมนตรีเมืองแบร์กาโม ชูโครงการฟื้นฟูเมือง หรือ “Renaissance program” ที่มุ่งสร้างกองทุนฟื้นฟูพิเศษเพื่อช่วยเหลือครอบครัวที่ขัดสน ส่งเสริมกิจกรรมทางวัฒนธรรม และมอบการสนับสนุนทางการเงินแก่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมซึ่งเป็นแกนหลักของเศรษฐกิจท้องถิ่น

ส่วนประเทศที่มีชายแดนติดกันอย่างฝรั่งเศส ได้เริ่มผ่อนมาตรการล็อกดาวน์ระยะที่ 2 เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. หลังจากมาตรการระยะแรกได้ผลดี ประชาชนสามารถเดินทางภายในระยะทาง 100 กิโลเมตร ตลอดจนธุรกิจที่ไม่มีความจำเป็น สวนสาธารณะ และชายหาดกลับมาดำเนินการอีกครั้งได้ แต่ยังคงห้ามไม่ให้มีการรวมกลุ่มกันมากกว่า 10 คน ส่วนไนท์คลับและสนามกีฬาจะยังคงปิดทำการ

ขณะที่ร้านอาหาร คาเฟ่ และบาร์ ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่ำจะสามารถรับลูกค้าได้ หากเคารพแนวปฎิบัติด้านสุขภาพและการเว้นระยะห่างทางสังคม ทว่าเขตปารีสและพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งถูกจัดเป็นเขตสีส้ม จะสามารถเปิดทำการได้เพียงพื้นที่ภายนอกร้านเท่านั้น และผู้คนจะต้องสวมหน้ากากอย่างเคร่งครัด

หากดูแผนการเปิดพรมแดนของ 2 ประเทศ ทางการอิตาลีได้อนุญาตให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศโดยไม่ต้องกักกันตัว เพื่อกระตุ้นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 6% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ส่วนชาวอิตาลีจะสามารถเดินทางเคลื่อนย้ายระหว่างภูมิภาคได้ แต่สำหรับฝรั่งเศสนั้น นายเอดัวร์ ฟีลิป รองนายกรัฐมนตรีฝรั่งเศส ประกาศแผนการเปิดพรมแดนของฝรั่งเศสแก่สหภาพยุโรป โดยจะเริ่มวันที่ 15 มิ.ย. พร้อมกับหลายประเทศในยุโรป

ยุโรปตะวันออก: เปิดพรมแดน ฟื้นการท่องเที่ยว

ยุโรปถือว่าเป็นทวีปที่เกือบทุกประเทศมีอาณาเขตติดต่อกัน การเดินทางข้ามประเทศจึงเป็นปกติในชีวิต ดังนั้น นอกจากผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 ภายในประเทศแล้ว หลายประเทศทางยุโรปตะวันออกเริ่มทยอยผ่อนคลายมาตรการควบคุมชายแดน เพื่อหวังฟื้นฟูอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 10% ของผลผลิตทางเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป

เมื่อวันที่ 13 พ.ค. คณะกรรมาธิการยุโรป (EC) แนะนำให้ประเทศที่มีความเสี่ยงในระดับเดียวกันแลกเปลี่ยนนักท่องเที่ยวซึ่งกันและกัน จนกระทั่งวันที่ 15 พ.ค. เอสโตเนีย ลัตเวีย และลิทัวเนีย กลายเป็นประเทศแรกในสหภาพยุโรปที่เปิดพรมแดนร่วมกันอีกครั้ง ขณะที่ฮังการี สโลวาเกีย และสาธารณรัฐเช็ก ร่วมเปิดพรมแดนของแต่ละประเทศเมื่อวันที่ 1 มิ.ย. เพื่ออนุญาตให้ประชาชนเดินทางพักอาศัยได้ไม่เกิน 48 ชั่วโมง

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 25 พ.ค. รัฐบาลสาธารณเช็กเริ่มเปิดจุดผ่านแดนกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างเยอรมนีและออสเตรีย แต่การข้ามพรมแดนในพื้นที่ที่ไม่ได้รับอนุญาตจะยังคงเป็นสิ่งต้องห้ามจนถึงวันที่ 13 มิ.ย. และชายแดนด้านนอกของพื้นที่เชงเก้นจะถูกปิดจนกว่าจะถึงวันที่ 15 มิ.ย.

ส่วนบัลแกเรีย กรีซ และเซอร์เบีย ได้บรรลุข้อตกลงเพื่อให้นักท่องเที่ยวจากทั้งสามประเทศเดินทางโดยไม่ต้องกักตัว 14 วันเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.

ญี่ปุ่น: กำลังฟื้นไข้

เมื่อกลับมาดูประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับ 3 ของโลก อย่าง ญี่ปุ่น ที่ประกาศภาวะฉุกเฉินทั่วประเทศนานนับเดือน แต่ผ่านไปไม่นานหลังจากมีรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลงสู่ระดับเลข 2 หลัก รัฐบาลก็ได้ตัดสินใจประกาศยกเลิกภาวะฉุกเฉินในจังหวัดโอซากา เกียวโต และเฮียวโกะ เมื่อวันที่ 21 พ.ค. และประกาศยกเลิกภาวะฉุกเฉินทั่วประเทศ ซึ่งรวมถึงโตเกียวและจังหวัดใกล้เคียงเมื่อวันที่ 25 พ.ค. ซึ่งเร็วกว่ากำหนดเดิมถึง 6 วัน โดยอนุญาตให้เปิดร้านอาหารได้ถึงเวลา 22.00 น. และประชาชนสามารถชุมนุมเพื่อทำกิจกรรมสาธารณะสูงสุดไม่เกิน 50 คน

อย่างไรก็ดี เมื่อยกเลิกภาวะฉุกเฉินแล้ว รัฐบาลจะกำหนดระยะเวลาการเปลี่ยนผ่านและประเมินสถานการณ์การติดเชื้อในทุก 3 สัปดาห์ ซึ่งหมายความว่า ญี่ปุ่นจะค่อยๆผ่อนคลายข้อเรียกร้องที่ให้ประชาชนอยู่ภายในบ้านและหลีกเลี่ยงการชุมนุมขนาดใหญ่หลังประเมินสถานการณ์แต่ละครั้ง

ปัจจุบัน ญี่ปุ่นกำลังเข้าเฟส 2 ของมาตรการคลายล็อกดาวน์ โดยรัฐบาลอนุญาตให้เปิดห้องสมุด ร้านค้าปลีก พิพิธภัณฑ์ และโรงยิม รวมถึง สถานที่ที่ไม่เคยมีประวัติติดเชื้อแบบกลุ่ม แต่ต้องปฎิบัติตามมาตรการที่เข้มงวดเพื่อป้องกันการติดเชื้อระลอก 2 ตามมา เช่นในช่วงแรกของการเปิดพิพิธภัณฑ์ รัฐบาลจะอนุญาตสำหรับผู้เข้าชมที่จองตั๋วล่วงหน้าทางออนไลน์เท่านั้น อีกทั้งในระยะนี้ ประชาชนสามารถชุมนุมกันสูงสุดไม่เกิน 100 คน

เศรษฐกิจฟื้นตัว: ตลาดขานรับ แต่อย่าชะล่าใจ

การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ไม่เพียงแต่คร่าชีวิตของผู้คนทั่วโลกอย่างไม่เลือกปฎิบัติ แต่ยังฉุดเศรษฐกิจรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ บริษัทปลดพนักงานกันเป็นว่าเล่น ผู้คนสูญเสียงานและรายได้ แผนการเปิดเศรษฐกิจจึงเปรียบเสมือนการต่อลมหายใจแก่ผู้คน นักลงทุน และตลาดหุ้นทั่วโลก

ความเชื่อมั่นทางธุรกิจของหลายประเทศเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยผลสำรวจจากเนชั่นแนล ออสเตรเลีย แบงก์ (NAB) ระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจของออสเตรเลียเดือนพ.ค. ปรับตัวขึ้น 25 จุด ซึ่งเป็นผลมาจากการที่รัฐบาลออสเตรเลียผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ และเปิดธุรกิจทั่วประเทศอีกครั้ง

ขณะที่สำนักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นเปิดเผยว่า ความเชื่อมั่นทางธุรกิจของชาวญี่ปุ่นที่ประกอบอาชีพที่มีความอ่อนไหวต่อภาวะเศรษฐกิจ ปรับตัวขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือนในเดือนพ.ค.

แม้จะมีสัญญาณที่สดใสจากตลาดหุ้นและนักลงทุนทั่วโลก แต่ผู้เชี่ยวชาญบางส่วนกลับมองว่าอาจเป็นเพียงระยะสั้น ตราบเท่าที่ยังไม่มีการค้นพบวัคซีน โดยคริสโตเฟอร์ เอ็ม. ไมสเนอร์ อาจารย์เศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เดวิส เปิดเผยว่า “หากไวรัสยังคงอยู่ ผู้คนจะมองว่าการออกนอกบ้านเป็นเรื่องอันตราย พวกเขาก็จะไม่ไปไหน อีกทั้งทั่วโลกกำลังอยู่ในภาวะถดถอยเช่นกัน เราอาจเห็นผลลัพธ์น้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้”

อาเลสซันโดร รีบุชชี่ นักเศรษฐศาสตร์จากโรงเรียนธุรกิจคาเรย์ แสดงความเห็นที่คล้ายกันว่า “การกลับมาเปิดเศรษฐกิจสำหรับประเทศที่ยังมีการติดเชื้อไวรัสไม่ใช่หนทางที่ดีสำหรับการฟื้นฟูเศรษฐกิจ แต่การฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างแท้จริงนั้น รัฐบาลจะต้องสร้างความปลอดภัยและสามารถควบคุมไวรัสได้อย่างแท้จริง”

แม้ว่าทั่วโลกจะเริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ แต่รัฐบาลก็จะควบคุมและหาวิธีกำราบไวรัสโควิด-19 โดยต้องอาศัยความร่วมมือจากคนในชาติให้ปฎิบัติตามกฎระเบียบด้านอนามัยและรักษาการเว้นระยะห่างทางสังคมอย่างเคร่งครัด เพราะมิฉะนั้นแล้วหากไวรัสโควิด-19 พ่นพิษออกมาอีกระลอก เศรษฐกิจโลกที่กำลังร่อแร่อาจจะถูกซ้ำเติมจนแสนสาหัสก็เป็นได้

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 มิ.ย. 63)

Tags: , , , , , , , ,
Back to Top