MCOT แจงแบ่งครึ่งเงินเยียวยาคืนคลื่น 2600MHz ยันไม่เสียเปรียบ

นายเขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.อสมท (MCOT) ชี้แจงข้อเท็จจริงการพิจารณาเรียกเงินเยียวยาคลื่น 2600 MHz รวมทั้ง ข้อกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการที่ อสมท ถูกเรียกคืนคลื่นความถี่ในย่าน 2600 MHz จนนำมาซึ่งการจะต้องได้รับการเยียวยาจาก กสทช. จากการที่ถูกเรียกคืนคลื่นความถี่ว่า ในการกำหนดจำนวนเงินที่จะต้องจ่ายชดใช้ และจ่ายค่าตอบแทนการเสียโอกาสจากการถูกเรียกคืนคลื่นความถี่ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องคือ พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ และประกาศของ กสทช. ได้กำหนดให้เป็นหน้าที่ของ กสทช. มิใช่ให้เป็นหน้าที่ของผู้ที่ถูกเรียกคืนคลื่นที่จะกำหนดจำนวนเงินได้เอง

อสมท ในฐานะเป็นผู้ที่ถูกเรียกคืนคลื่นความถี่ มีหน้าที่เพียงแจ้งข้อมูลรายละเอียดต่างๆ ของการลงทุนและการได้รับประโยชน์จากการใช้คลื่นความถี่ในทางธุรกิจให้ กสทช. ทราบเท่านั้น เพื่อนำไปประกอบการพิจารณากำหนดการจ่ายเงินชดใช้และการจ่ายเงินค่าตอบแทนการเสียโอกาส รวมทั้งการกำหนดสัดส่วนการจ่ายเงินชดใช้และการจ่ายเงินค่าทดแทน ระหว่าง อสมท ผู้ถูกเรียกคืนคลื่นความถี่ กับ บริษัทเอกชนคู่สัญญา ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการถูกเรียกคืนคลื่นความถี่ก็เป็นหน้าที่ของ กสทช.ด้วยเช่นกัน

ในการเยียวยานั้น อสมท และบริษัทเอกชนคู่สัญญา แบ่งการเยียวยาเป็น 2 ส่วน คือ “การจ่ายค่าชดใช้” และ “การจ่ายค่าตอบแทนการเสียโอกาสจากการถูกเรียกคืนคลื่นความถี่” ซึ่งตามกฎหมายเพื่อให้ความเป็นธรรม จึงกำหนดให้ กสทช.ต้องแต่งตั้งคณะอนุกรรมการจากหน่วยงานต่างๆ จำนวน 7 หน่วยงานมาเป็นผู้พิจารณากำหนดจำนวนเงินทั้ง 2 ส่วน ซึ่งอนุกรรมการจากหน่วยงานต่างๆ ของรัฐ เป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเป็นกลาง ไม่มีส่วนได้เสียในการพิจารณา โดยที่กฎหมายยินยอมให้ กสทช. มีผู้แทน 1 คนร่วมเป็นอนุกรรมการในการพิจารณาด้วย

และนอกจากนี้ เพื่อความรอบคอบ กฎหมายยังกำหนดให้ กสทช.ต้องว่าจ้างสถาบันอุดมศึกษาที่เป็นของรัฐ 3 แห่ง ทำการศึกษามูลค่าการเรียกคืนคลื่นความถี่และการทดแทน ชดใช้ และจ่ายค่าตอบแทนการเสียโอกาสจากการถูกเรียกคืนคลื่นความถี่ แล้วนำผลการศึกษาของทั้ง 3 สถาบันมาประกอบการพิจารณาของ กสทช. ซึ่งสุดท้าย กสทช.ได้เลือกผลการศึกษาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพียงสถาบันเดียวมาประกอบการพิจารณา

เมื่อกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ อสมท ได้เข้าไปชี้แจงต่อที่ประชุม กสทช.เมื่อวันที่ 27 พ.ค.63 ได้ทราบว่าคณะอนุกรรมการจาก 7 หน่วยงานมีความเห็นเสนอต่อ กสทช.ว่าในการเยียวยาให้แก่ อสมท และบริษัทเอกชนคู่สัญญาให้จ่ายเฉพาะส่วนค่าตอบแทนการเสียโอกาสจากการถูกเรียกคืนคลื่นความถี่เพียงส่วนเดียวเท่านั้น โดยไม่ต้องจ่ายในส่วนของการชดใช้ และในการแบ่งสัดส่วนการจ่ายค่าตอบแทนให้กับเอกชนคู่สัญญา ให้แบ่งในสัดส่วนเท่าๆกัน

แต่ในส่วนผลการศึกษาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีความเห็นว่าให้จ่ายค่าตอบแทนการถูกเรียกคืนคลื่นทั้งหมดโดยตรงต่อ อสมท โดยในส่วนของบริษัทคู่สัญญาให้ได้รับการจ่ายค่าตอบแทนจาก อสมท ตามข้อตกลงทางธุรกิจที่ได้ทำไว้ร่วมกัน ซึ่งความเห็นของคณะอนุกรรมการจาก 7 หน่วยงานและ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นความเห็นที่แตกต่างกัน

จากนั้น กสทช.แจ้งว่า อสมท จะต้องทำหนังสือยืนยันว่าต้องการให้แบ่งสัดส่วนการจ่ายค่าตอบแทนอย่างไร ซึ่งเท่ากับว่าจะต้องเลือกว่าจะทำตามความเห็นของคณะอนุกรรมการจาก 7 หน่วยงาน หรือความเห็นของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ อสมท ได้ขอให้ กสทช. เป็นผู้กำหนดส่วนแบ่งการจ่ายค่าตอบแทนเพราะเป็นหน้าที่ตามกฎหมาย แต่ได้รับการยืนยันว่า อสมท จะต้องทำหนังสือเสนอการแบ่งสัดส่วนการจ่ายค่าตอบแทนมาให้ก่อนจึงจะพิจารณาให้ ทำให้ อสมท จำเป็นต้องทำหนังสือแจ้งยืนยันรายละเอียดและสัดส่วนการชดใช้ หรือจ่ายค่าตอบแทนในการเรียกคืนคลื่นความถี่ไปยัง กสทช. ทั้งที่ได้มีความเห็นทักท้วงแล้วว่าเป็นหน้าที่ของ กสทช. ซึ่งต่อมาได้มีการนำหนังสือแจ้งยืนยันดังกล่าวของ อสมท ไปเผยแพร่ และมีการกล่าวหาว่ากรรมการผู้อำนวยการใหญ่ อสมท ดำเนินการเรื่องนี้โดยไม่มีอำนาจหน้าที่ และทำให้เสียเปรียบต่อบริษัทเอกชนคู่สัญญา

สำหรับหนังสือยืนยันการแบ่งสัดส่วนต่อ กสทช. มีใจความว่า “สำหรับจำนวนสัดส่วนการชดใช้ หรือจ่ายค่าตอบแทนในการถูกเรียกคืนคลื่นความถี่ระหว่าง บมจ.อสมท กับบริษัทคู่สัญญา ขอให้มีการพิจารณาแบ่งค่าตอบแทนดังกล่าวในจำนวนเท่าๆกันทั้งสองฝ่าย ซึ่งจะทำให้ บมจ.อสมท ไม่เป็นการเสียเปรียบแต่อย่างใด”

การแจ้งยืนยันดังกล่าวมีเหตุผลในการพิจารณาตัดสินใจเลือกความเห็นของคณะอนุกรรมการจาก 7 หน่วยงานที่เสนอให้แบ่งสัดส่วนเท่าๆกัน แต่ไม่ได้ให้จ่ายค่าชดใช้ ทำให้ อสมท ได้รับประโยชน์มากกว่า คือได้รับเงินส่วนแบ่งเป็นจำนวนที่มากกว่า เพราะแม้จะแบ่งสัดส่วนในจำนวนที่เท่ากัน แต่ อสมท ไม่มีภาระในการจ่ายเงินลงทุน ทำให้ยังเหลือเงินส่วนแบ่งที่ได้รับเต็มจำนวน ขณะที่บริษัทคู่สัญญามีภาระที่จ่ายเงินลงทุนไป เมื่อหักกลบเงินที่ลงทุนไปแล้ว จึงทำให้ได้รับเงินส่วนแบ่งไม่เต็มจำนวน และมีจำนวนน้อยกว่าที่ อสมท ได้รับ และที่สำคัญ อสมท ยังมีข้อผูกพันตามสัญญากับบริษัทเอกชนคู่สัญญา จึงไม่สามารถเป็นผู้กำหนดสัดส่วนการแบ่งเงินรายได้ที่ได้รับจากการเยียวยาได้ตามใจชอบ ต้องเป็นไปในกรอบของสัญญาด้วย

สำหรับขั้นตอนต่อไปจากนี้ อสมท จะต้องรอเอกสารอย่างเป็นทางการจากสำนักงาน กสทช.เพื่อจะพิจารณารายละเอียดอื่นๆที่จะตามมา เช่น ระยะเวลาของการเบิกจ่ายค่าเยียวยา และอื่นๆ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 มิ.ย. 63)

Tags: , , , ,
Back to Top