คมนาคม-เกษตรฯ ลงนามใช้ยางพาราผลิตอุปกรณ์ด้านการจราจร หนุนรายได้เกษตรกร

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีลงนามความร่วมมือการนำอุปกรณ์ทางด้านการจราจรและอำนวยความปลอดภัยทางถนนที่ผลิตจากยางพาราไปใช้ประโยชน์ในหน่วยงานภาครัฐ ระหว่างกระทรวงคมนาคม และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้มอบนโยบายให้กระทรวงคมนาคม ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปรับปรุงเส้นทางคมนาคมเพื่อลดการบาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนทางหลวง ขณะเดียวกันเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางที่ประสบปัญหาราคายางตกต่ำ จึงได้มุ่งเน้นให้ใช้น้ำยางพาราเป็นวัสดุในการปรับปรุง ก่อสร้างทาง เพื่อสร้างรายได้ให้เกษตรกรโดยตรง

กระทรวงคมนาคม โดย กรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท จึงได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยศึกษาแนวทางการเพิ่มความปลอดภัยทางถนนด้วยการใช้ยางพาราเป็นวัสดุหลัก ซึ่งจากผลการศึกษาและวิจัยพบว่า มี 2 ผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสม คือ แผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต (Rubber Fender Barrier : RFB) และหลักนำทางยางธรรมชาติ (Rubber Guide Post : RGP) ซึ่งได้รับการทดสอบการชนจากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย และสถาบัน Korea Automobile Testing & Research Institute (KATRI) ประเทศสาธารณรัฐเกาหลี พบว่าสามารถลดความรุนแรงของอุบัติเหตุได้อย่างมีประสิทธิภาพ

โดยกระทรวงคมนาคมมีแผนดำเนินงานนำผลิตภัณฑ์ทั้ง 2 อย่าง มาใช้ติดตั้งบนถนนของกรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบททั่วประเทศ ภายในปี 2563 – 2565 แบ่งเป็นแผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต (RFB) ระยะทางรวม 12,282 กิโลเมตร และหลักนำทางยางธรรมชาติ (RGP) จำนวน 1,063,651 ต้น ใช้น้ำยางพาราในปริมาณมากถึง 1 ล้านตัน สร้างรายได้ให้เกษตรกรถึง 71% หรือคิดเป็นผลตอบแทนกว่า 30,000 ล้านบาท ซึ่งเกษตรกรจะได้รับโดยตรง เป็นการยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิต
ของเกษตรกรไทย

ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์พร้อมให้การสนับสนุนเครื่องมือรวมถึงวัตถุดิบในการผลิตโดยให้สหกรณ์สวนยางทั่วประเทศที่มีคุณสมบัติเหมาะสมเข้าร่วมโครงการ ให้ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตจากกระทรวงคมนาคม และสามารถกระจายรายได้สู่เกษตรกรอย่างเท่าเทียม จึงนำมาสู่การทำบันทึกความร่วมมือการนำอุปกรณ์ทางด้านการจราจรและอำนวยความปลอดภัยทางถนนที่ผลิตจากยางพาราไปใช้ประโยชน์ในหน่วยงานภาครัฐ ระหว่างกระทรวงคมนาคม และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

สำหรับข้อตกลงความร่วมมือฯ ในส่วนของกระทรวงคมนาคมจะศึกษาและพัฒนาต้นแบบอุปกรณ์ทางด้านการจราจรและอำนวยความปลอดภัยทางถนนที่ผลิตจากยางพารา รวมถึงทำการทดสอบเพื่อตรวจสอบประสิทธิภาพ และการจัดทำแบบมาตรฐานและข้อกำหนดคุณสมบัติของวัสดุ การจัดทำแผนงานและการกำหนดความต้องการการใช้ยางตามมติคณะรัฐมนตรี รวมทั้งการรับซื้อผลิตภัณฑ์ และนำอุปกรณ์ดังกล่าวไปติดตั้ง ใช้งบประมาณ 85,624 ล้านบาท โดยใช้ยางพาราสดปริมาณ 1,007,951 ตัน ซึ่งนอกจากจะเป็นการสร้างความปลอดภัยให้ผู้ใช้รถใช้ถนนแล้ว ยังเป็นการสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรโดยตรง คิดเป็นผลตอบแทนกว่า 30,108 ล้านบาท

ส่วนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์มีหน้าที่กำกับคุณภาพในการผลิตอุปกรณ์ทางด้านการจราจรและอำนวยความปลอดภัยทางถนนที่ผลิตจากยางพารา พร้อมทั้งคัดเลือกสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร และวิสาหกิจชุมชน ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับรอง ให้เข้าร่วมโครงการฯ ทั้งยังสนับสนุนจัดเตรียมเครื่องมือและวัตถุดิบ ให้เป็นไปตามรูปแบบ มาตรฐาน และราคาตามที่กระทรวงคมนาคมกำหนด ซึ่งปัจจุบันมีสถาบันเกษตรกรที่ดำเนินธุรกิจยางพารา 661 แห่ง โดยปีที่ผ่านมามีการผลิตยางพารารูปแบบต่าง ๆ ประมาณ 475,058 ตันต่อปี คิดเป็นร้อยละ 57 จากผลผลิตทั้งหมดของสมาชิกสหกรณ์ที่ประกอบอาชีพสวนยางพารารวม 355,181 ราย มีสมาชิกในครัวเรือนที่ได้รับผลประโยชน์ จำนวน 1,420,724 ราย

ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะช่วยเหลือสถาบันเกษตรกร ทั้งในการด้านพัฒนาเครื่องมือ อุปกรณ์ การถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต และการลงทุนเพิ่มกำลังการผลิต โดยพร้อมผลักดันเกษตรกรชาวสวนยางไทยให้ได้รับโอกาสอย่างทั่วถึง ด้วยการสนับสนุนเครื่องมือ รวมถึงวัตถุดิบในการผลิตให้แก่สหกรณ์สวนยางทั่วประเทศที่มีคุณสมบัติเหมาะสมในการเข้าร่วมโครงการ เพื่อให้ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตจากกระทรวงคมนาคม และสามารถกระจายรายได้สู่เกษตรกรอย่างทั่วถึง

ความร่วมมือร่วมใจในครั้งนี้ นอกจากจะลดความสูญเสีย สร้างผลตอบแทนเป็นความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินที่ไม่อาจประเมินค่าได้แล้ว ที่สำคัญยังเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรชาวสวนยางไทย ให้สามารถยืนหยัดได้ด้วยตนเอง รวมถึงกระตุ้นเศรษฐกิจ กระจายรายได้ และสร้างความมั่นคงทางอาชีพอย่างยั่งยืน

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ยินดีในการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือครั้งนี้ และรับทราบผลการศึกษาเรื่องการผลิต “แผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต และ หลักนำทางยางธรรมชาติ ว่า สามารถที่จะช่วยลดแรงปะทะที่เกิดจากการชน ประกอบกับ มีสัดส่วนการใช้น้ำยางพาราเป็นส่วนผสมจำนวนมาก ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ทั้งในส่วนของการช่วยอำนวยความปลอดภัยทางถนน และเป็นการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางพารา โดยการเพิ่มความต้องการใช้ยางพาราภายในประเทศ ช่วยสร้างรายได้โดยตรงให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางพารากว่า 30,000 ล้านบาท

พร้อมขอชื่นชมความร่วมมือร่วมใจในการผนึกกำลังของหน่วยงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ที่ได้มีส่วนร่วมในการวิจัยและพัฒนาอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยทางถนน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 มิ.ย. 63)

Tags: , , , , , , , , , ,
Back to Top