เปิด 12 ขั้นตอนกระบวนการเข้าร่วม CPTPP ชี้ไทยผ่านขั้นตอน 1-3 กำลังก้าวสู่ครึ่งทาง

การเข้าร่วมความความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปชิฟิก (CPTPP) ยังอยู่ในขั้นตอนการเจรจา ไม่มีอะไรที่เป็นข้อผูกมัด หรือผูกพันประเทศไทยทั้งสิ้น โดยยังไม่เป็นที่ตกผลึกในกรณีที่ประเทศไทยจะเข้าร่วมเป็นสมาชิกความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ในอนาคตหรือไม่ เนื่องจากในระหว่างนี้ยังต้องรอการศึกษาผลดี-ผลเสีย จากคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิกก่อน

ขั้นตอนการเจรจาเข้าร่วมความตกลง CPTPP ของไทย ปัจจุบันกระบวนการเข้าร่วมความตกลง CPTPP ของไทย ยังอยู่แค่ขั้นตอน 3 จากทั้งหมด 12 ขั้นตอน

เปิด 12 ขั้นตอนกระบวนการขอเจรจากับสมาชิก CPTPP

1. ศึกษาประโยชน์-ผลกระทบความตกลง CPTPP

2. รับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน

3. รวบรวมความเห็นและผลการศึกษา

4. นำเสนอคณะรัฐมนตรี

5. ยื่นหนังสือขอเจรจาต่อนิวซีแลนด์

ส่วนกระบวนการเจรจาความตกลง CPTPP

6. คณะกรรมาธิการสมาชิก CPTPP พิจารณาและเห็นชอบให้ตั้งคณะทำงาน CPTPP เพื่อเจรจากับไทย

7. เจรจาข้อผูกพันและต่อรองขอข้อยกเว้น และความยืดหยุ่น รวมถึงระยะเวลาปรับตัวที่เหมาะสม

8. คณะทำงาน CPTPP เสนอคณะกรรมาธิการสมาชิก CPTPP เห็นชอบผลการเจรจา

9. เสนอผลการเจรจาต่อคณะรัฐมนตรี

10.เสนอผลการเจรจาต่อรัฐสภา (โดยขั้นตอนที่ 1-10 นี้ จะยังไม่มีผลผูกพันประเทศไทย)

11.ให้สัตยาบันความตกลง CPTPP

12.เข้าเป็นภาคีความตกลง CPTPP

ปัจจุบัน ไทยได้ผ่านขั้นตอนที่ 1-3 ไปแล้ว และกำลังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญการเข้าร่วมความตกลง CPTPP เพื่อที่จะนำสรุปผลการพิจารณาเข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร และคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 12 มิ.ย.63 ได้มีการตั้งคณะอนุกรรมาธิการขึ้น 3 คณะ ประกอบด้วย 1.คณะอนุกรรมาธิการเมล็ดพันธุ์และการเกษตร 2.คณะอนุกรรมาธิการการสาธารณสุขและยา และ 3. คณะอนุกรรมาธิการเศรษฐกิจการค้าและการลงทุน

คณะอนุกรรมาธิการดังกล่าว จะต้องศึกษาถึงผลดี-ผลเสียทางเศรษฐกิจหากไทยเข้าร่วมความตกลง CPTPP โดยคาดว่าจะใช้เวลาพิจารณาให้แล้วเสร็จไม่เกินวันที่ 10 ก.ค.นี้ ก่อนที่จะนำเข้าบรรจุในระเบียบวาระการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาและนำเสนอข้อสังเกตที่ได้ในครั้งนี้เสนอแนะไปยังรัฐบาลต่อไป

ซึ่งหากคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ ไทยจึงจะยื่นหนังสือเพื่อขอเจรจากับนิวซีแลนด์ ในฐานะประเทศผู้รักษาความตกลงเพื่อขอเจรจาเข้าร่วม ซึ่งจะมีการประชุมในเดือน ส.ค.63 นี้

อย่างไรก็ดี หากประเทศไทยไม่สามารถขอสมัครเข้าร่วมความตกลง CPTPP ได้ทันในปีนี้ ก็ยังสามารถสมัครได้ในปีหน้า แต่หากสุดท้ายคณะรัฐมนตรีไม่เห็นชอบให้ไทยเข้าร่วมความตกลงดังกล่าว ผลการศึกษาทั้งหมดที่ดำเนินการมาก็เป็นอันพับเก็บเข้าลิ้นชักไปได้ หรือในอีกแนวทาง เมื่อมีการนำเสนอผลการเจรจาต่อรัฐสภาแล้ว แต่ไทยยังไม่พอใจก็ยังสามารถยกเลิกได้ ซึ่งจะต้องทำก่อนที่จะเข้าสู่ขั้นตอนการให้สัตยาบันความตกลง CPTPP เพราะหากมีการให้สัตยาบันไปแล้ว ย่อมจะถือว่าไทยได้เข้าเป็นสมาชิกและข้อตกลง CPTPP มีผลบังคับใช้แล้ว

ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้เคยนำเสนอผลศึกษาและการระดมความเห็นต่อการเข้าเป็นสมาชิก CPTPP ต่อคณะรัฐมนตรีไปแล้ว โดยผลการศึกษาตามแบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ สรุปว่าการเข้าร่วม CPTPP จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยขยายตัว โดย GDP จะขยายตัว 0.12% (คิดเป็นมูลค่า 13.32 พันล้านบาท) การลงทุนขยายตัว 5.14% (คิดเป็นมูลค่า 148.24 พันล้านบาท)

แต่หากไม่เข้าร่วม CPTPP จะส่งผลกระทบ GDP ไทยลดลง 0.25% (คิดเป็นมูลค่า 26.6 พันล้านบาท) และกระทบการลงทุน 0.49% (คิดเป็นมูลค่า 14,270 ล้านบาท) รวมทั้งจะทำให้ไทยเสียโอกาสขยายการค้าการลงทุนและการเชื่อมโยงห่วงโซ่หรือกระบวนการผลิตในภูมิภาค โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับเพื่อนบ้าน และอาเซียน เช่น เวียดนาม และสิงคโปร์ ซึ่งเป็นสมาชิก CPTPP แล้ว

ในส่วนประเด็นที่มีผู้กังวลว่าความตกลง CPTPP จะส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงยา การคุ้มครองพันธุ์พืช และการเปิดตลาดจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐของไทยนั้น ผลการศึกษาในข้อบทความตกลง CPTPP และข้อผูกพันของประเทศสมาชิก CPTPP พบว่า

(1) ความตกลงฯ ได้ถอดเรื่องการขยายขอบเขตและอายุคุ้มครองสิทธิบัตรยา ตลอดจนการผูกขาดข้อมูลผลการทดสอบยาออกไปแล้วตั้งแต่สหรัฐฯ ถอนตัวออกจากการเจรจาความตกลง CPTPP จึงไม่มีข้อบทนี้ และสมาชิก CPTPP ไม่มีข้อผูกพันเรื่องนี้ นอกจากนี้ ความตกลง ข้อ 18.41 และ 18.6 กำหนดให้สมาชิกสามารถบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา (CL) และใช้มาตรการเพื่อดูแลเรื่องสาธารณสุข เพื่อดูแลเรื่องการเข้าถึงยาของประชาชนได้ตามความตกลงทริปส์ขององค์การการค้าโลก (WTO) ในทุกกรณี รวมถึงการใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะที่ไม่ใช่เพื่อการค้า (public noncommercial use) อีกทั้งจะไม่สุ่มเสี่ยงที่จะถูกฟ้องร้องในประเด็นการใช้ CL เพราะข้อบทการลงทุนข้อที่ 9.8 เรื่องการเวนคืน (expropriation) ย่อหน้าที่ 5 ได้กำหนดไว้ชัดเจนว่าจะไม่นำมาใช้กับมาตรการ CL

นอกจากนี้ ข้อบทเรื่องการระงับข้อพิพาทข้อ 28.3.1 (C) ไม่ได้รวมเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาเป็นส่วนหนึ่งของข้อบทในขอบเขตการระงับข้อพิพาทระหว่างสมาชิก CPTPP

(2) เรื่องการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่และการเข้าเป็นสมาชิกอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (UPOV 1991) ได้ให้ทางเลือกแก่สมาชิก CPTPP สามารถออกกฎหมาย กำหนดเป็นข้อยกเว้นให้เกษตรกรเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ปลูกในพื้นที่เพาะปลูกของตนได้ อีกทั้งสามารถใช้ประโยชน์จากผลผลิตและผลิตภัณฑ์ได้ โดยไม่ต้องขออนุญาตเจ้าของพันธุ์หากซื้อมาถูกกฎหมาย จึงแก้ปัญหาที่เกษตรกรมีข้อกังวลว่าจะไม่สามารถเก็บพันธุ์พืชไว้ปลูกต่อได้เมื่อเข้าเป็นสมาชิก UPOV รวมทั้งยังคงสามารถเก็บเมล็ดพันธุ์พืชในกลุ่มพันธุ์พื้นเมือง พันธุ์ดั้งเดิม พันธุ์ป่าของพืชทุกชนิดรวมทั้งสมุนไพร และพันธุ์การค้าที่ไม่ได้รับการคุ้มครองไปปลูกต่อได้เหมือนเดิม

(3) สำหรับการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ ความตกลงฯ เปิดให้สมาชิกสามารถกำหนดมูลค่าขั้นต่ำของการแข่งขันในโครงการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐ ถ้ามูลค่าต่ำกว่าที่กำหนดไว้ ก็ไม่ต้องเปิดให้สมาชิก CPTPP เข้ามาแข่งขันทำให้สมาชิก CPTPP สามารถดูแลผู้ประกอบการในประเทศ และมีระยะเวลาปรับตัว เช่น เวียดนาม ขอเวลาปรับตัวถึง 25 ปี

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ระบุว่า หาก ครม.เห็นชอบให้ไทยขอเจรจาเข้าร่วมความตกลง CPTPP ก็ยังมีอีกหลายขั้นตอน คือ ไทยจะต้องมีหนังสือถึงนิวซีแลนด์ ในฐานะประเทศผู้รักษาความตกลงฯ เพื่อขอเจรจาเข้าร่วม หลังจากนั้น จะมีการตั้งคณะเจรจาซึ่งประกอบด้วยผู้แทนของกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำหน้าที่เจรจาต่อรองเงื่อนไข ข้อยกเว้น และระยะเวลาในการปรับตัวของไทย เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อประเทศมากที่สุด

และในระหว่างการเจรจา จะต้องมีกระบวนการที่โปร่งใส เปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนได้เข้าร่วมหารือ แลกเปลี่ยนข้อมูล ความเห็น และความคืบหน้าต่างๆ ซึ่งในท้ายที่สุด การตัดสินใจว่าไทยจะยอมรับผลการเจรจาและเข้าร่วมความตกลง CPTPP หรือไม่ จะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา ตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญ

ด้านความคิดจากภาคเอกชน ในส่วนของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) มีมุมมองต่อการเข้าร่วม CPTPP ของไทยว่า กกร.เห็นควรสนับสนุนให้ประเทศไทยเข้าร่วมเจรจากับกลุ่มประเทศภายใต้ข้อตกลง CPTPP ในเดือน ส.ค.63 เนื่องจากการเข้าร่วมเจรจา ทำให้เห็นถึงผลดีหรือผลเสียต่อการเข้าร่วมเป็นประเทศภาคีตามข้อตกลง CPTPP ซึ่งกระบวนการเข้าร่วมเป็นประเทศภาคีนั้น มีขั้นตอนเป็นลำดับขั้น ประกอบด้วย การขอเข้าร่วมเจรจา การเข้าร่วมเจรจากับประเทศภาคี หลังจากเจรจาเสร็จแล้ว ต้องนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณา ซึ่งขณะเดียวกันต้องมีการรับฟังประชาพิจารณ์ผลการเจรจาด้วย และสุดท้ายต้องเสนอให้รัฐสภาพิจารณาเห็นชอบ ซึ่งต้องใช้เวลาในทุกกระบวนการอย่างน้อย 4 ปี

พร้อมมองว่า ประเทศไทยสามารถยุติการเจรจาในทุกขั้นตอนได้ หากเห็นว่าประเทศไทยไม่ได้ประโยชน์ ซึ่ง กกร.เห็นว่าการเข้าร่วมเจรจาจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย เพื่อให้ประเทศไทยทราบถึงข้อตกลง และเป็นประโยชน์สำหรับการปรับตัวของประเทศไทยให้สามารถแข่งขันกับประเทศต่างๆ ได้ในเวทีโลก โดยเฉพาะประเทศในกลุ่มอาเซียน

ขณะที่ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ออกมาให้ความเห็นในเรื่องนี้ โดยยืนยันว่าการพิจารณาเรื่องการเข้าร่วมความตกลง CPTPP จะคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศชาติ และประชาชนเป็นสำคัญ ถ้าหากเจรจาแล้วไม่ได้ผลตามที่ต้องการ รัฐบาลก็จะไม่ลงนามตามข้อตกลงนี้อย่างแน่นอน ดังนั้นจึงขอให้ประชาชนอย่ากังวล

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 มิ.ย. 63)

Tags: , , , ,
Back to Top