PTT ทำแผนการเงินยืดหยุ่น-รักษาสภาพคล่องรับมือโควิด แต่ไม่หยุดหาโอกาสเติบโต

นางสาวพรรณนลิน มหาวงศ์ธิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน บมจ.ปตท. (PTT) เปิดเผยว่า สถานการณ์ปี 63 กลุ่มปตท.ได้รับผลกระทบเข้ามามากทั้งจากสงครามราคาน้ำมัน ที่ทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวลดลงแรง และปัจจัยการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่กระทบต่ออุปสงค์ของน้ำมันลดลง จากการล็อกดาวน์ประเทศ และกระทบมาถึงภาพรวมของเศรษฐกิจทั่วโลกที่ชะลอตัวลงมาก

ทำให้แผนการบริหารจัดการด้านการเงินและการลงทุนของกลุ่มปตท.ในปีนี้ได้ปรับแผนมาเน้นการสร้างความยืดหยุ่น (Flexible) มากขึ้น จากเดิมที่กลุ่มปตท.จะเน้นการบริหารจัดการด้านการเงินและการลงทุนที่มีความเข้มงวด มีระเบียบวินัยตามแผน (Discipline) เพื่อทำให้แผนการจัดการด้านการเงินและการลงทุนของกลุ่มปตท.สามารถปรับเปลี่ยนได้สอดคล้องกับสถานการณ์

โดยเฉพะการจัดการด้านการเงินที่ในปีนี้ได้ปรับลดค่าใช้จ่ายลงทั้งค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน (OPEX) และการใช้จ่ายในการลงทุน (CAPEX) ประมาณ 10-15% เพื่อทำให้สภาพคล่องของบริษัทมีมากขึ้น สามารถรองรับกับสถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอนเกิดขึ้นได้อยู่ตลอด และสามารถผ่านพ้นแรงกดดันที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ไปได้ ทำให้บริษัทมีความพร้อมที่จะก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน รวมไปถึงบริษัทยังมีความพร้อมที่จะลงทุนใหม่ ๆ ได้หากมีโอกาสที่ดีเข้ามา โดยสิ่งที่กลุ่มปตท.พยายามผลักดันอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจ คือ การมองหา New S Curve ใหม่ ที่เข้ามาช่วยต่อยอดการเติบโตของธุรกิจในปัจจุบัน

“ปีนี้ถือว่ากลุ่มปตท. โดน Perfect Storm เข้ามาเต็ม ๆ ในฐานะบทบาทของ CFO ก็ต้องคอยประสานงานกับทุก BU อยู่แล้ว ปกติทุก BU จะมองว่า CFO ไม่สนับสนุนการเติบโตของธุรกิจ คอยดึงเชิงเอาไว้ แต่สถานการณ์ในปีนี้มันไม่ใช่ จากแรงกดดันที่เข้ามากระทบธุรกิจ จาก Oil Price War และโควิด-19 ทำให้เราต้องปรับและบาลานซ์การจัดการการเงินและการลงทุนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ และรักษา Liquidity ให้อยู่ในระดับที่ดี และสิ่งที่เราต้องมองเผื่อไว้ คือ สถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดที่อาจเกิดขึ้นได้ ซึ่งจะทำให้เราเริ่มวางแผนป้องกันไว้ตั้งแต่ต้น เพื่อทำให้ธุรกิจสามารถไปต่อได้”

นางสาวพรรณนลิน กล่าว

สำหรับในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ กลุ่มปตท.ได้มองเห็นถึงโอกาสในการระดมทุนผ่านช่องทางการออกหุ้นกู้และการออกตราสารหนี้ที่เป็นตั๋วสัญญาใช้เงินระยะสั้น (B/E) วงเงินรวมกว่า 6 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น การออกหุ้นกู้วงเงินรวมกว่า 4 หมื่นล้านบาท และการออกตั๋ว B/E อีก 2 หมื่นล้านบาท เพื่อนำมาใช้ในการเสริมสภาพคล่องและรองรับการลงทุนของบริษัท โดยมองว่าตลาดตราสารหนี้และหุ้นกู้เริ่มเห็นสัญญาณการกลับมาฟื้นตัวที่ดีขึ้น โดยเฉพาะหุ้นกู้ของบริษัทที่มีอันดับเครดิตเรตติ้งที่ดี ทำให้เป็นโอกาสในการหาแหล่งเงินทุนที่เมาะสมที่ต้นทุนไม่สูง เพื่อทำให้บริษัทมีต้นทุนทางการเงินลดลง และมีสภาพคล่องรองรับการดำเนินธุรกิจและการลงทุนในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ขณะเดียวกันหลังจากที่กระทรวงการคลังได้ร่วมกับธนาคารกรุงไทย (KTB) นำร่องเสนอขายพันธบัตรออมทรัพย์ผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล บริษัทได้มองเห็นถึงโอกาสของการเสนอขายหุ้นกู้หรือตราสารหนี้ในอนาคตผ่านช่องทางดิจิทัล ที่อาจทำให้สามารถเสนอขายหุ้นกู้หรือตราสารหนี้ได้มากยิ่งขึ้น และเปิดโอกาสให้กลุ่มนักลงทุนรายย่อยได้เข้าถึงการลงทุนในหุ้นกู้หรือตราสารหนี้ของบริษัท และยังทำให้ต้นทุนในการออกหุ้นกู้และตราสารหนี้ของบริษัทลดลง ซึ่งปัจจุบันบริษัทได้ให้ทีมงานไปศึกษาเรื่องดังกล่าวอยู่

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 มิ.ย. 63)

Tags: , , , , , , , ,
Back to Top