In Focus: จากอู่ฮั่นถึงฮ่องกง วิบากกรรมข้อตกลงการค้าสหรัฐ-จีน

เมื่อเช้าวันอังคาร (23 มิ.ย.) ที่ผ่านมา มีข่าวใหญ่ที่ทำให้ตลาดหุ้นสะเทือน โดยดัชนีดาวโจนส์ฟิวเจอร์ร่วงลงกว่า 400 จุด เนื่องจากนายปีเตอร์ นาวาร์โร ที่ปรึกษาด้านการค้าประจำทำเนียบขาวได้กล่าวให้สัมภาษณ์กับรายการ “The Story” ของสำนักข่าวฟ็อกซ์ นิวส์ในวันจันทร์ตามเวลาสหรัฐว่า ข้อตกลงการค้าระหว่างสหรัฐและจีนได้ยุติลงแล้ว หลังจากมีข้อมูลที่ทำให้มั่นใจว่า ไวรัสโควิด-19 มีต้นตอมาจากห้องแล็บในเมืองอู่ฮั่นของจีน

อย่างไรก็ตาม หลังสื่อเปิดเผยบทสัมภาษณ์ดังกล่าวเพียงไม่ถึงหนึ่งชั่วโมง นายนาวาร์โรคนเดิมก็ได้ออกมาแก้ข่าวดังกล่าวในทันที โดยชี้แจงว่า ข้อตกลงการค้าระหว่างสหรัฐและจีนยังไม่ยุติ ซึ่งการแสดงความเห็นของเขาก่อนหน้านั้น “เป็นไปในลักษณะของการแสดงความเห็นในมุมมองกว้างๆ ขณะที่ข้อตกลงการค้าเฟสแรกยังคงเหมือนเดิม ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง” เขาให้สัมภาษณ์เพียงเพื่อที่จะแสดงความรู้สึกว่า “เราไม่ไว้ใจพรรคคอมมิวนิสต์จีนแล้วในตอนนี้ หลังจากที่พวกเขาโกหกเกี่ยวกับต้นตอการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จนทำให้เกิดการแพร่ระบาดไปทั่วโลก” ขณะเดียวกันนั้น ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์แห่งสหรัฐก็ได้ทวีตยืนยันด้วยเช่นกันว่า “ข้อตกลงการค้ากับจีนยังคงดำเนินไปอย่างเต็มรูปแบบ”

จากการที่นายนาวาร์โรแสดงความเห็นเช่นนั้น ประกอบกับการที่มีข่าวอยู่เรื่อยๆ เกี่ยวกับการคว่ำข้อตกลงการค้าระหว่างสหรัฐ-จีนนั้น In Focus สัปดาห์นี้จึงขอพาไปดูว่า สหรัฐไม่พอใจจีนมากถึงขนาดจะคว่ำหนึ่งในข้อตกลงการค้าที่มีมูลค่าสูงสุดในประวัติศาสตร์จริงหรือไม่ หรือเป็นการทำไปเพื่อหวังผลในด้านอื่นๆ

ข้อตกลงการค้าสหรัฐ-จีน

สหรัฐและจีนได้ลงนามในข้อตกลงการค้าเฟสแรกเมื่อวันที่ 15 ม.ค. 2563 โดยสหรัฐจะปรับลดภาษีลงครึ่งหนึ่งจากอัตรา 15% ที่เรียกเก็บจากสินค้านำเข้าจากจีนวงเงิน 1.2 แสนล้านดอลลาร์ และชะลอการเก็บภาษีเพิ่มเติมเพื่อแลกกับการที่จีนให้คำมั่นสัญญาในการปฏิรูปโครงสร้าง รวมทั้งซื้อสินค้าและบริการจากสหรัฐเพิ่มขึ้นอีก 2 แสนล้านดอลลาร์ในช่วง 2 ปีข้างหน้า โดยสหรัฐคาดว่า การดำเนินการดังกล่าวของจีนจะช่วยให้ยอดขาดดุลการค้าของสหรัฐกับจีนปรับตัวลดลง

ข้อตกลงยังระบุด้วยว่า สหรัฐจะยังคงตรึงอัตราภาษีสินค้านำเข้าจากจีนราว 2 ใน 3 ซึ่งคิดเป็นมูลค่าราว 3.6 แสนล้านดอลลาร์ไปจนกว่าจะผ่านพ้นการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในเดือนพ.ย.ปีนี้ และจะพิจารณาปรับลดอัตราภาษีก็ต่อเมื่อสหรัฐและจีนมีการลงนามในข้อตกลงการค้าเฟสสอง

นอกจากนี้ จีนยังให้คำมั่นว่าจะซื้อสินค้าเกษตรจากสหรัฐในวงเงิน 3.65 หมื่นล้านดอลลาร์ภายใต้ข้อตกลงการค้าเฟสแรก ซึ่งเพิ่มขึ้นจากระดับ 2.4 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2560 ซึ่งเป็นช่วงก่อนเกิดสงครามการค้า

อย่างไรก็ดี ข้อมูลจากกระทรวงเกษตรสหรัฐระบุว่า จีนได้ซื้อสินค้าเกษตรจากสหรัฐไปเพียง 4.65 พันล้านดอลลาร์ในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ ซึ่งตัวเลขดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วนเพียง 13% ของเป้าหมายที่กำหนดไว้ในข้อตกลงการค้า และต่ำกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปี 2560 อยู่เกือบ 40% ซึ่งเป็นผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

ทั้งนี้ การทำข้อตกลงการค้าเฟสสองก็ยังไม่เกิดขึ้น หลังจากที่ทั้งสหรัฐและจีนต่างก็เผชิญกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศอย่างรุนแรง

สหรัฐโจมตีจีนปิดบังข้อมูลโควิด-19

ไวรัสโควิด-19 นั้นเริ่มระบาดในช่วงปลายปี 2562 โดยมีต้นตอมาจากเมืองอู่ฮั่นของจีน และกินเวลายืดเยื้อมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งนับจนถึงขณะนี้ มีผู้ติดเชื้อไปแล้วกว่า 9,354,326 รายทั่วโลก และเสียชีวิต 479,816 ราย ขณะที่สหรัฐมียอดผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตสูงสุดในโลกถึง 2,424,168 ราย และ 123,473 รายตามลำดับ ซึ่งเรื่องนี้นับเป็นหนึ่งในประเด็นความขัดแย้งครั้งใหญ่ระหว่างสหรัฐกับจีน

เมื่อโควิด-19 เริ่มแพร่ระบาดในจีนช่วงแรกๆ นั้น ปธน.ทรัมป์ได้กล่าวชื่นชมจีนในการรับมือกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการที่จีนแบ่งปันข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับโรคดังกล่าวให้กับสหรัฐ องค์การอนามัยโลก (WHO) และทั่วโลก

แต่ทว่า แม้ปธน.ทรัมป์จะระบุมาโดยตลอดว่ามีความสัมพันธ์อันดีกับปธน.สี จิ้นผิงของจีน และมีการร่วมมือกันรับมือกับโควิด-19 แต่ในเวลาเดียวกัน ปธน.ทรัมป์ก็เรียกไวรัสโควิด-19 ว่า “ไวรัสจีน” ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับทางจีนอย่างมาก

นอกจากนี้ ในเดือนเม.ย. ปธน.ทรัมป์ได้เริ่มกล่าวโจมตี WHO ว่าให้ความสนใจกับจีนมากเกินไป ลุกลามจนถึงขั้นตัดเงินสนับสนุน WHO อีกทั้งยังได้สั่งให้มีการสอบสวนต้นตอของไวรัสโควิด-19 ว่า มาจากห้องแล็บในเมืองอู่ฮั่นหรือไม่ และแสดงความเชื่อมั่นว่า ไวรัสดังกล่าวเกิดจากห้องแล็บในเมืองอู่ฮั่นอย่างแน่นอน

แม้สหรัฐไม่ใช่เพียงประเทศเดียวที่สงสัยเรื่องต้นกำเนิดของไวรัสโควิด-19 รวมไปถึงมาตรการรับมือและความโปร่งใสของข้อมูลที่จีนมอบให้กับทาง WHO แต่ก็เชื่อกันว่า การที่ปธน.ทรัมป์ออกมาโทษจีนเรื่องโควิด-19 นั้น เป็นไปเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจของประชาชนจากความล้มเหลวของรัฐบาลสหรัฐในการรับมือกับโควิด-19 และยังเป็นการหวังผลทางการเมือง เนื่องจากใกล้ถึงเวลาเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในเดือนพ.ย.ปีนี้ ดังนั้นหากจะหาแพะมารับบาปจากความล้มเหลวของตัวเองนั้น ก็คงไม่มีใครเหมาะสมไปกว่าจีนอีกแล้ว

สหรัฐเริ่มจับตาสื่อจีน ชี้เป็นองค์กรโฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาล

ช่วงเดือนก.พ.ที่ผ่านมา รัฐบาลสหรัฐได้ประกาศให้สื่อของรัฐบาลจีน 5 แห่งเป็น “คณะผู้แทนต่างชาติ” หรือ “foreign mission” ตามกฎหมาย ซึ่งเป็นการบังคับให้สื่อจีนกลุ่มนี้ต้องยื่นข้อมูลเกี่ยวกับพนักงาน และทรัพย์สินที่ถือครองอยู่ในสหรัฐ โดยทั้ง 5 แห่งได้แก่ สำนักข่าวซินหัว, สถานีข่าวไชน่า โกลบอล เทเลวิชัน เน็ตเวิร์ก ในเครือซีซีทีวี, สถานีวิทยุไชน่า เรดิโอ อินเตอร์เนชันแนล, หนังสือพิมพ์ไชน่า เดลี และบริษัทไห่ เทียน เดเวลอปเมนต์ ยูเอสเอ ซึ่งเป็นผู้จัดจำหน่ายหนังสือพิมพ์เดอะพีเพิลส์เดลี ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน

และในเดือนมิ.ย.นี้ สหรัฐประกาศให้สื่อของรัฐบาลจีนอีก 4 แห่งเป็น “คณะผู้แทนต่างชาติ” ได้แก่ สถานีวิทยุโทรทัศน์กลางแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (CCTV), ไชน่า นิวส์ เซอร์วิส ซึ่งเป็นสื่อใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 2 ของรัฐบาลจีน, หนังสือพิมพ์พีเพิล เดลี ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ทางการของพรรคคอมมิวนิสต์จีน และหนังสือพิมพ์โกลบอล ไทมส์ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์แท็บลอยด์ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน

เจ้าหน้าที่ระดับอาวุโสรายหนึ่งจากกระทรวงต่างประเทศสหรัฐกล่าวไว้ว่า สื่อเหล่านี้เป็นองค์กรโฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาลจีน และได้รับคำสั่งโดยตรงจากบุคคลระดับสูงสุด การที่สหรัฐกำหนดให้เป็น “คณะผู้แทนต่างชาติ” นั้น ทำไปเพื่อเพิ่มความโปร่งใสที่เกี่ยวข้องกับพรรคคอมมิวนิสต์จีน และกิจกรรมด้านสื่อของรัฐบาลจีนในสหรัฐ

เจ้าหน้าที่จากกระทรวงต่างประเทศระบุว่า การกำหนดให้สื่อทั้ง 9 แห่งนี้เป็น “คณะผู้แทนต่างชาติ” ตามกฎหมายว่าด้วยคณะผู้แทนต่างชาตินั้น ไม่ได้หมายความว่า สื่อกลุ่มนี้จะเป็นสถานทูตหรือสถานกงสุล และไม่ได้หมายความว่าจะมีสิทธิพิเศษหรือได้รับการคุ้มครองทางการทูต แต่สื่อกลุ่มนี้จะต้องแจ้งให้รัฐบาลสหรัฐทราบเกี่ยวกับบุคลากรที่กำลังประจำการอยู่ในสหรัฐ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ด้านการจ้างงานของบุคลากร

นอกจากนี้ สื่อทั้ง 9 แห่งยังจำเป็นต้องแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับทรัพย์สินที่ครอบครองอยู่ในปัจจุบัน เช่น ข้อมูลการเป็นเจ้าของหรือข้อมูลการเช่า และจำเป็นต้องได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลสหรัฐก่อนที่จะซื้อทรัพย์สินใหม่ในสหรัฐ

สหรัฐขู่คว่ำบาตรจีน-ถอดสถานะพิเศษฮ่องกง หวังกดดันให้ถอนกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติ

เมื่อวันศุกร์ที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา ในที่ประชุมคณะกรรมาธิการประจำสภาประชาชนแห่งชาติจีน (NPC) ครั้งที่ 13 รัฐบาลจีนได้เสนอกฎหมายใหม่ที่กำหนดให้ฮ่องกงต้องดำเนินการบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติโดยเร็ว ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับย่อซึ่งเป็นกฎหมายพื้นฐานของฮ่องกงเอง ก่อนจะมีการประกาศบังคับใช้ในวันที่ 28 พ.ค.

สำหรับกฎหมายฉบับดังกล่าวนั้น สื่อต่างประเทศหลายสำนักต่างรายงานว่า จะให้อำนาจรัฐสภาของจีนในการจัดทำกรอบกฎหมาย และบังคับใช้กลไกทางกฎหมายเพื่อป้องกันและลงโทษการกบฎ, การก่อการร้าย, การแบ่งแยกดินแดน และการแทรกแซงของต่างชาติ หรือการกระทำใดๆ ที่เป็นอันตรายร้ายแรงต่อความมั่นคงของประเทศ

การประกาศดังกล่าวทำให้กลุ่มผู้ประท้วงในฮ่องกงนัดชุมนุมต่อต้านจีนอย่างรุนแรง นอกจากนี้ ยังนำมาซึ่งเสียงประณามจากนานาชาติว่า จีนแทรกแซงความเป็นเอกราชของฮ่องกง โดยเฉพาะสหรัฐซึ่งถึงขั้นขู่ว่าอาจคว่ำบาตรจีน และประกาศยกเลิกสถานะพิเศษของฮ่องกง ซึ่งนำมาซึ่งการตอบโต้จากจีนว่า จะระงับการนำเข้าถั่วเหลืองจากสหรัฐ

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 16-17 มิ.ย.ที่ผ่านมา นายหยาง เจียฉี หัวหน้าฝ่ายนโยบายต่างประเทศของจีน ได้จัดการประชุมร่วมกับนายไมค์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐที่รัฐฮาวาย เพื่อหารือเรื่องความขัดแย้งระหว่างทั้งสองประเทศ ซึ่งภายหลังการประชุมนั้น นายปอมเปโอได้ทวีตข้อความว่า นายหยางให้คำมั่นที่จะปฏิบัติตามข้อตกลงการค้าเฟสแรกระหว่างจีนกับสหรัฐ และสื่อต่างประเทศได้รายงานว่า จีนจะเร่งซื้อสินค้าเกษตรจากสหรัฐ เพื่อให้เป็นไปตามข้อตกลงการค้าเฟสแรกที่ทำไว้ร่วมกับสหรัฐ

ในช่วงเวลาเดียวกันนั้นเอง มีรายงานว่าปธน.ทรัมป์ได้ลงนามในกฎหมายคว่ำบาตรจีนกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวอุยกูร์ หลังมาตรการคว่ำบาตรดังกล่าวผ่านสภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐด้วยเสียงท่วมท้นถึง 413 ต่อ 1 โดยเรียกร้องให้มีการลงโทษกับผู้รับผิดชอบในการปราบปรามชาวอุยกูร์ และชาวมุสลิมกลุ่มอื่นๆ ในเขตปกครองตนเองซินเจียงของจีน ก่อนที่ปธน.ทรัมป์จะกลับลำเมื่อวันที่ 22 มิ.ย. โดยเปิดเผยว่า ได้ตัดสินใจชะลอการใช้มาตรการคว่ำบาตรจีนกรณีละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวอุยกูร์ชั่วคราว เนื่องจากกังวลว่ามาตรการดังกล่าวจะกระทบการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน

จากหลายเหตุการณ์ข้างต้นนี้ ทำให้เกิดคำถามว่า สหรัฐตั้งใจจะคว่ำข้อตกลงการค้ากับจีนจริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงแค่เกมการเมืองเพื่อหวังผลในด้านอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการทำข้อตกลงการค้าเฟสสอง หรือการสร้างคะแนนเสียงเพื่อรอรับการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในช่วงเดือนพ.ย.ที่จะถึงนี้ หลังจากในช่วงที่ผ่านมา ปธน.ทรัมป์ได้สูญเสียคะแนนนิยมไปพอสมควรกับความล้มเหลวในการรับมือกับโรคโควิด-19 ในสหรัฐ และจากการรับมือกับกลุ่มผู้ประท้วงทั่วประเทศกรณีการเสียชีวิตของนายจอร์จ ฟลอยด์ ชาวอเมริกันผิวสี คงมีแค่เพียงเวลาเท่านั้นที่จะให้ความกระจ่างกับคำถามนี้

สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 มิ.ย. 63)

Tags: , , , , , , , , ,
Back to Top