ดัชนีเชื่อมั่นผู้ประกอบการท่องเที่ยว Q2/63 ต่ำสุดตั้งแต่ปี 53

นายชัยรัตน์ ไตรรัตนจรัสพร ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการท่องเที่ยวไตรมาส 2/63 อยู่ที่ 12 ซึ่งต่ำกว่าที่ผู้ประกอบการได้คาดการณ์ไว้เมื่อไตรมาสที่ 1/63 โดยได้คาดการณ์ไว้ที่ 62 สะท้อนสถานการณ์การท่องเที่ยวที่ถือว่าต่ำกว่าระดับปกติมากที่สุดตั้งแต่มีการจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา

เนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่มีการแพร่กระจายไปทั่วโลก ส่งผลให้เศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกประเทศอยู่ในภาวะถดถอย มีการออกประกาศห้ามอากาศยานทำการบินเข้าสู่ประเทศไทย และมีการขยายระยะเวลามาเรื่อย ๆ ตามสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ที่ยังคงแพร่ระบาดในหลาย ๆ ประเทศทั่วโลกและยังไม่สามารถควบคุมได้ ส่งผลให้เดือนเมษายน 2563 ไม่มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางเข้าสู่ประเทศไทยจนสิ้นไตรมาสนี้

สถานการณ์การท่องเที่ยวภายในประเทศก็ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาศของโรคโควิด-19 อย่างหนักเช่นเดียวกัน รัฐบาลได้ประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 เพื่อควบคุมสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 และได้มีการประกาศห้ามประชาชนเดินทางข้ามเขตพื้นที่จังหวัด ปิดสถานที่ท่องเที่ยวห้างสรรพสินค้า สถานบันเทิงต่าง ๆ ห้ามการชุมนุม รณรงค์ให้ประชาชนอยู่กับบ้าน ประชาชนก็มีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การระบาดของโรดโควิด-19 บวกกับการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทำให้ประชาชนงดออกจากบ้านโดยไม่จำเป็น ส่งผลให้จำนวนการเดินทางท่องเที่ยวของคนไทยในประเทศหดตัว 99% แหล่งท่องเที่ยวและธรุกิจที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวต่ง ๆ ต้องปิดบริการชั่วคราวเนื่องจากไม่มีนักท่องเที่ยว

“จากเหตุผลต่าง ๆ เหล่านี้สะท้อนให้ห็นสถานการการณ์ท่องเที่ยวในไตรมาสนี้ผ่านดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยวที่ตัวเลขออกมาต่ำที่สุดเท่าที่เคยมีมา”

ส่วนการคาดการณ์สถานการณ์ท่องเที่ยวไตรมาส 3/63 นายชัยรัตน์ กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์อยู่ที่ 37 แสดงให้เห็นว่าผู้ประกอบการมีความคาดหวังว่า สถานการณ์การท่องเที่ยวในไตรมาสหน้าจะดีขึ้นกว่าไตรมาสนี้ แต่ก็ยังคงคาดว่าผลประกอบการอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าปกติมากที่สุด

นายชัยรัตน์ กล่าวว่า จากการสำรวจในไตรมาส 2/63 ธุรกิจส่วนใหญ่อยู่ในสภาวะปิดกิจการชั่วคราวประมาณ 65% ของธุรกิจท่องเที่ยวทั้งหมดจึงกล่าวได้ว่าในไตรมาสนี้แรงงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวส่วนใหญ่อยู่ในสภาวะตกงานชั่วคราว เมื่อวิเคราะห์จากตัวเลขการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยวประมาณ 4 ล้านคน จะเห็นได้ว่าในไตรมาสนี้จะมีแรงงานจำนวน 2.6 ล้านคนอยู่ในสภาวะว่างงาน โดยแรงงานที่หยุดงานชั่วคราวได้รับค่าครองชีพจากเงินประกันสังคม และจากการช่วยเหลือภาครัฐผ่านมาตรการเราไม่ทิ้งกันจำนวน 5,000 บาท แรงงานเหล่านี้ยังมีโอกาสกลับเข้ามาในระบบได้เหมือนเดิมหลังจากที่สถานประกอบการกลับมาเปิดทำการ

เมื่อพิจารณาแยกตามประเภทธุรกิจ พบว่า ธุรกิจที่มีการปิดบริการชั่วคราวมากที่สุด คือ ธุรกิจสถานบันเทิง รองลงมา 98% คือ ธุรกิจนวดและสปา, 91% ธุรกิจนำเที่ยว, 77% ธุรกิจสวนสนุกและธีมพาร์ค, 72% ธุรกิจที่พักแรม, 42% ธุรกิจคมนาคมขนส่ง, 39% ธุรกิจร้านอาหาร และ 10% สินค้าที่ระลึก

สำหรับไตรมาส 3/63 ในภาพรวมผู้ประกอบการ 8% คาดว่าจะลดพนักงานในธุรกิจตัวเองลง 30% ของจำนวนพนักงานทั้งหมด จึงคาดว่าน่าจะมีแรงงานถูกให้ออกประมาณ 2.4% หรือประมาณ 1 แสนคนจากแรงงานภาคการท่องเที่ยวทั้งระบบที่บางส่วนยังไม่ตัดสินใจว่าจะปลดพนักงานหรือไม่ ขอรอดูนโยบายจากรัฐบาลและความรุนแรงของการระบาดของโรคโควิด-19 ก่อน

แต่หากไตรมาส 3/63 ผู้ประกอบการไม่สามารถเปิดกิจการได้ หรือกลไกทางเศรษฐกิจฟื้นตัวได้ช้า คาดว่าจะมีสัดส่วนของการลดพนักงานมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ข้างต้น ซึ่งไตรมาส 2/63 มีแรงงานภาคท่องเที่ยวที่ไม่มีงานทำชั่วคราวประมาณ 2.6 ล้านคน และกำลังรอการตัดสินใจจากนายจ้างว่าจะเลิกจ้างหรือไม่ เนื่องจากระยะเวลาในการชดเชยรายได้จากกองทุนประกันสังคมเนื่องจากถูกสั่งให้ปิดกิจการครบกำหนด 3 เดือนในเดือน มิ.ย. ถ้าหากผู้ประกอบการไม่สามารถดำเนินกิจการได้หรือรายได้จากการประกอบกิจการไม่เพียงพอต่อการจ่ายค่าจ้างพนักงาน ผู้ประกอบการก็จำเป็นต้องลดต้นทุนต่างๆ ในการดำเนินกิจการ รวมทั้งการลดจำนวนพนักงาน

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการคาดหวังว่ารัฐบาลจะปลดล็อกธุรกิจท่องเที่ยวให้เริ่มดำเนินการเป็นปกติได้ในไตรมาส 3/63 สะท้อนจากดัชนีคาดการณ์สถานการณ์ท่องเที่ยวในช่วงวันหยุดและเทศบาล ขณะที่ด้านการวางแผนประกอบธุรกิจผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังไม่ตัดสินใจลดจำนวน หรือลดเงินเดือนพนักงานเพราะเป็นการรอดูนโยบายจากรัฐบาล ผู้ประกอบการคาดหวังว่าจะได้กลับมาดำเนินกิจการตามปกติเมื่อสถานการณ์ดีขึ้น ดังนั้น ภาครัฐน่าจะค่อยๆ ผ่อนคลายมาตรการและอนุญาตให้ธุรกิจทุกประเภทสามารถกลับมาดำเนินการได้ตามปกติ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจให้เร็วที่สุด หากกลไกทางเศรษฐกิจเริ่มต้นล่าช้า หรือผู้ประกอบการไม่สามารถฟื้นคืนมาได้ในเวลาอันรวดเร็วจะส่งผลต่อการเลิกจ้างงานของแรงงานในภาคการท่องเที่ยวเป็นจำนวนมากได้

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ประชาชนเริ่มผ่อนคลายความกังวลเกี่ยวกับการระบาดของโรคโควิต-19 ดังนั้น ในไตรมาส 3/63 หากมีการประกาศให้สามารถดำเนินชีวิตประจำวันตามปกติได้ก็คาดว่าประชาชนจะเริ่มออกไปท่องเที่ยวในสัดส่วนที่มากกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ดังนั้นภาครัฐควรให้ความสำคัญต่อกระบวนการสร้างวัคซีนทางสังคม (ชุมชนเข้มแข็ง) ในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยกระตุ้นเตือนและให้ข้อมูลแก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งรณรงค์เรื่องการรับผิดชอบร่วมกันของประชาชนด้วย

นายชัยรัตน์ เชื่อว่าปีนี้ภาพรวมการท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นในแง่ของตัวเลข แต่ก็มีสัญญาณดีขึ้นถ้าเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา โดยคาดว่าการท่องเที่ยวจะฟื้นตัวปีหน้า

ก่อนหน้านี้ สทท.คาดว่าปีนี้ทั้งปีรายได้การท่องเที่ยวที่ตั้งไว้ 3 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นในประเทศ 1 ล้านล้านบาท จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 2 ล้านล้านบาท แต่ในส่วนของต่างชาติคาดว่าจะทำได้เพียง 4 แสนล้านบาท หายไป 1.6 ล้านล้านบาท

“ถ้าไม่เปิดประเทศ เศรษฐกิจแบบนี้ เราเห็นอนาคตเลยว่าลำบากครับ ถึงแม้จะปั้นยังไง จะกระตุ้นไทยเที่ยวไทยยังไงก็ไม่น่าได้เกิน 6 แสนล้านบาท”

สำหรับในไตรมาส 3/63 คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 4 แสนคน ลดลง 96% จากช่วงเดียวกันของปี 62 และคาดว่าจะมีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 20,622 ล้านบาท ลดลง 96% เช่นกัน ส่วนไตรมาส 4/63 คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 5.2 ล้านคน ลดลง 49.7% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และคาดว่ารายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ 253,768 ล้านบาท ลดลง 50%

สำหรับข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ อย่างแรกคือ ป้องกันการเลิกจ้างงานในทุกๆ กรณี, ยืดระยะเวลาการพักชำระหนี้ไปจนถึงสิ้นปี 63, การปล่อยกู้ซอฟท์โลนในสถานการณ์ที่เกิดวิกฤติเช่นนี้ควรมีเงื่อนไขพิเศษ เช่น ปล่อยกู้เพื่ออะไร กลุ่มธุรกิจประเภทใดควรจะได้ก่อน โดยเรียงลำดับประเภทธุรกิจตามระดับความเดือดร้อน นอกจากนี้ภาครัฐควรลดเงื่อนไขให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ซอฟท์โลนได้ง่ายขึ้นโดยปลดล็อก 2 เรื่องสำคัญคือให้ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวที่เป็นบุคคลธรรมดาและผู้ประกอบการที่ไม่มีใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรมสามารถกู้ซอฟท์โลนได้ เพื่อให้นำเงินไปใช้แก้ปัญหาได้ทันเวลา นอกจากนี้ ควรงดเว้นการจัดเก็บภาษีเงินได้ไปจนถึงสิ้นปี 64 เพื่อให้ผู้ประกอบการได้นำเงินไปใช้หมุนเวียนในธุรกิจ

นายชัยรัตน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในพรุ่งนี้ (1 ก.ค.) จะเข้าหารือกับ รมว.ท่องเที่ยว, ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เกี่ยวกับรายละเอียด Travel Bubble เบื้องต้นคือจับคู่ประเทศหรือเมืองที่เป็นสีเขียว โดยตั้งใจว่าจะให้ทันเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัปดาห์หน้า

“จับแน่ๆ คือจีนเมืองไหนสีเขียว..เอา ญี่ปุ่นเมืองไหนสีเขียว..เอา เวียดนาม เมืองไหนสีเขียว…เอา หลักการเบื้องต้นเค้าตั้งกฎเกณฑ์มา เราก็ตั้งของเราไป เช่น ไม่ต้องกักตัว 14 วันใน State Quarantine มีการตรวจคัดกรองต้นทางกับปลายทาง….พรุ่งนี้คุยกับรมว.ท่องเที่ยวเสร็จแล้ว ก็ไปคุยกับ ครม. ส่วนสาธารณสุขก็ให้ไปคุยกันเอง เพราะพรรคเดียวกันอยู่แล้ว”นายชัยรัตน์ กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 มิ.ย. 63)

Tags: , , , ,
Back to Top