AOT คาดงวดปี 63 ไม่ขาดทุนแต่งวดปี 64 คงไม่รอด-รับเจรจาคิงเพาเวอร์ปรับสัมปทาน

นายนิตินัย สมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) คาดว่า ผลประกอบการในงวดปี 63 (ต.ค.62-ก.ย.63) คงจะไม่ขาดทุน เนื่องจากผลประกอบการในช่วง 4 เดือนแรก (ต.ค.62 -ม.ค.63) ซึ่งเป็นช่วงไฮซีซั่นมีกำไรมากเพียงพอที่จะทำให้งวดปีนี้ไม่ขาดทุน แม้ว่าในช่วง 8 เดือนหลัง (ก.พ.-ก.ย.63) จะรับผลกระทบจากสถานการณ์ระบาดโควิด-19 ก็ตาม

ทั้งนี้ ในงวด 3 เดือนแรก (ต.ค.-ธ.ค.63) มีกำไรสุทธิ 7,334.7 ล้านบาท และในงวด 6 เดือนแรก (ต.ค.63-มี.ค.64) มีกำไรสุทธิ 10,982.4 ล้านบาท

แต่ในงวดปี 64 (ต.ค.63-ก.ย.64) อาจจะมีผลขาดทุน เนื่องจากในช่วง 4 เดือนแรก (ต.ค.63-ม.ค.64) ที่เป็นช่วงไฮซีซั่นของการท่องเที่ยว ไม่สามารถดำเนินการได้ โดยขณะนี้มีผู้เดินทางมาจากต่างประเทศและเข้ากักตัวในสถานที่ที่รัฐจัดให้ (State Quarantine) วันละ 500-600 คน เทียบกับในภาวะปกติที่จะมีผู้โดยสารเข้ามาใช้บริการทั้ง 6 ท่าอากาศยานของ AOT ราว 4 แสนคน/วัน ซึ่งเป็นผู้โดยสารต่างประเทศราว 2 แสนคน/วัน ทำให้มีรายได้จากค่าธรรมเนียมการใช้สนามบิน (PSC) รายละ 700 บาท โดยรายได้จากผู้โดยสารต่างประเทศสูงกว่าผู้โดยสารในประเทศถึง 6 เท่า

“ปีนี้คิดว่าไม่ขาดทุน หรือขาดทุนไม่มาก เพราะ 4 เดือนแรก ต.ค.63 เป็นช่วง Golden Week พ.ย.63 ช่วงเทศกาล Thank Giving ธ.ค. คริสต์มาสและปีใหม่ และ ม.ค.64 ช่วงตรุษจีน 4 เดือนนี้พอเลี้ยง 8 เดือนเลี้ยงทั้งปีได้เป็น Golden Forth Month

แต่ปี 64 ช่วง 4 เดือนแรก แย่สุดไม่มีวัคซีน ก.พ- มิ.ย.ก็คาดหวังเรื่องวัคซีน แต่เราคิดว่า ก.ค.64 น่าจะมีวัคซีน แต่ 4 เดือนแรก 64 จะเอาอะไรกิน แล้วทั้งปี 64 เป็นอย่างไรก็ไปคิดเอาเอง”นายนิตินัย กล่าวกับ”อินโฟเควสท์”

ทั้งนี้ บริษัทคาดว่าในเดือน ต.ค.65 การท่องเที่ยวไทยน่าจะกลับมา แต่ก็มีปัจจัยธุรกิจแบบ New Normal ทำให้ยังไม่มั่นใจในการประมาณการจำนวนผู้โดยสาร และคาดการณ์ผลการดำเนินงานได้ยาก รวมถึงจะต้องมีการจัดตารางการบิน (slot) ใหม่ และสายการบินจะมีจำนวนเท่าไรที่สามารถทำการบินได้ อย่างไรเชื่อมั่นว่าระบบสาธารณสุขของไทยดี เหล่านี้เป็นปัจจัยที่จะต้องมาประเมินกันใหม่

นอกจากนี้ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ AOT กล่าวว่า การลงทุนส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือของสนามบินสุวรรณภูมิ (North Expansion) มูลค่า 4.2 หมื่นล้านบาท ทางฝ่ายบริหารยังไม่มีการสั่งชะลอออกไป และขณะนี้เรื่องอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ซึ่งมีคำถามเกี่ยวกับการประมาณการจำนวนผู้โดยสาร ทั้งนี้ สนามบินสุวรรณภูมิ ก่อนเกิดการระบาดโควิด-19 มีจำนวนผู้โดยสาร 65 ล้านคน ขณะที่รองรับได้เพียง 45 ล้านคน หากมีการก่อสร้างซึ่งใช้เวลา 3 ปีก็จะแล้วเสร็จประมาณปี 67-68 สอดรับกับสถานการณ์โควิดน่าจะคลี่คลายแล้ว และจำนวนผู้โดยสารจะกลับมา

นายนิตินัย ยังกล่าวว่า ส่วนการที่สายการบินไทยแอร์เอเชียได้ยื่นขอย้ายฐานปฏิบัติการการบินกลับไปที่สนามบินสุวรรณภูมิ จากปัจจุบันอยู่ที่สนามบินดอนเมือง จะมีการนำเสนอต่อคณะกรรมการบริษัทในวันที่ 29 ก.ค.นี้ เบื้องต้นประเมินว่าหากไทยแอร์เอเชียย้ายออกหมด อาจทำให้สนามบินดอนเมืองเผชิญกับผลขาดทุน เพราะเปัจจุบันสนามบินดอนเมืองใช้รองรับสายการบินที่บินในเส้นทางไม่ไกล ซึ่งน่าจะกลับมาได้ก่อน เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลี เพราะประเทศเหล่านี้ควบคุมการระบาดโควิด-19 ได้ดี

อย่างไรก็ตาม หากสายการบินไทยแอร์เอเชียแบ่งมาที่ดอนเมือง 50% ที่สุวรรณภูมิ 50% ก็น่าจะดีกับ AOT ก็จะรอดทั้ง 2 สนามบิน ซึ่งบริษัทต้องมาพิจารณาการใช้ทั้ง 2 สนามบินให้เหมาะ หรือ Rebalance ให้ได้ดีอย่างไร

สำหรับกระแสข่าวที่ระบุว่าได้มีการยืดเวลาการจ่ายค่าสัมปทานดิวตี้ฟรีให้กับกลุ่มคิงเพาเวอร์นั้น กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ AOT กล่าวว่า บริษัทยังไม่ได้มีข้อตกลงดังกล่าวแต่อย่างใด โดยเมื่อต้นเดือน ก.ค.63 ได้จัดตั้งคณะทำงานเจรจากับคิงเพาเวอร์เพื่อปรับผลตอบแทนให้สอดรับกับสถานการณ์โควิดที่กระทบกับสนามบิน โดย AOT ได้มีมาตรการบรรเทาผลกระทบให้กับร้านค้าไปบ้างแล้ว

โดยระยะแรก คือ ช่วงก่อนเดือน เม.ย.65 จะยกเว้นผลตอบแทนขั้นต่ำ (Minimum Guarantee) แต่ให้เก็บตามรายได้ (Revenue Sharing) หรือ ขายมากจ่ายมาก ขายน้อยจ่ายน้อย ส่วนช่วงที่ 2 เดือน เม.ย.-ต.ค.65 จะเก็บ Minimum Guarantee เท่ากับปี 62 เนื่องจากตามที่กำหนดไว้ Minimum Guarantee จะปรับเพิ่มขึ้นตามจำนวนผู้โดยสารและเงินเฟ้อทุกปี โดยสัญญาเก่าจะเพิ่มปีละ 10% จึงให้ใช้ตัวเลขของปี 62 มาเริ่มใหม่ และช่วงที่ 3 หากผู้โดยสารกลับมาตามที่บริษัทคาดในเดือน ต.ค.65 ก็จะเก็บทั้ง Minimum Guarantee และ Revenue Sharing ตามสัญญา

อย่างไรก็ตาม สัญญากับคิงเพาเวอร์เป็นสัญญาใหม่จึงยังไม่มี Minimum Guarantee อ้างอิง ดังนั้น จึงให้ใช้มูลค่าเงินที่เสนอผลตอบแทนขั้นต่ำ ซึ่งยังต้องเจรจากับทางกลุ่มคิงเพาเวอร์ก่อน

รวมถึงในส่วนการก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (Satellite 1 : SAT-1) ที่เดิมจะต้องสร้างเสร็จในเดือน เม.ย.63 แต่ขณะนี้เลื่อนออกไป เพราะอุปกรณ์หลายอย่างและผู้เชี่ยวชาญที่มาทดสอบระบบไม่สามารถเดินทางมาไทยได้ คาดว่าจะเปิดให้บินต่างประเทศในเดือน เม.ย.64 ดังนั้นอย่างเร็วน่าจะสร้างเสร็จในเดือน ต.ค.64 อย่างไรก็ดี กว่าผู้โดยสารจะกลับมาเป็นปกติคงจะเป็นเดือน ต.ค.65

แต่หากไม่มีผู้โดยสารอย่างที่คาด การเปิดดำเนินการก็ต้องพิจารณาทบทวนใหม่ เพราะมีค่าดำเนินการตกเดือนละกว่า 200 ล้านบาท จึงยังไม่แน่ใจว่าควรจะเปิดหรือไม่ ดังนั้น จะเจรจาคิงเพาเวอร์ด้วยว่าจะส่งมอบพื้นที่ในอาคาร SAT-1 ได้เมื่อไร รวมทั้งการนับอายุสัญญาสัปทาน 10 ปี และส่วน 6 เดือนที่เข้าไปปรับปรุงตกแต่งพื้นที่ คงต้องรอเจรจาว่าทางคิงเพาเวอร์มีการติดต่อผู้ค้าแบรนด์เนมมาตั้งร้านในดิวตี้ฟรีไว้อย่างไร และเลื่อนไปได้หรือไม่

สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 ก.ค. 63)

Tags: , , , , , ,
Back to Top