ธปท.ชี้เศรษฐกิจไทยยังเสี่ยงดิ่งต่ำสุดอีกครั้งถ้าโควิดรอบสองระบาดหนัก

นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในปี 63 ถือว่าปรับตัวลงไปค่อนข้างลึก รับผลกระทบจากโควิด-19 ที่ทำให้เกิดการล็อกดาวน์และการชัตดาวน์กิจกรรมเศรษฐกิจต่างๆ ชั่วคราวในช่วงเดือนที่ผ่านมา

จากประมาณการเศรษฐกิจของ ธปท.ที่คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 63 จะลดลง -8% นั้น มองว่ายังมีความเสี่ยงด้านต่ำที่เศรษฐกิจยังเผชิญแรงกดดันอยู่ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะความเสี่ยงของการกลับมาแพร่ระบาดโควิด-19 รอบสองในประเทศที่ยังมีความไม่แน่นอน ซึ่งจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยได้เพิ่มเติม หากโอกาสของการกลับมาแพร่ระบาดโควิด-19 รอบสองในประเทศไทยกลับมาระบาดครั้งใหญ่ ทำให้ต้องกลับไปล็อกดาวน์และชัตดาวน์กิจกรรมทางเศรษฐกิจอีกรอบ

อย่างไรก็ตาม หากมีการกลับมาแพร่ระบาดโควิด-19 ในรอบสอง มองว่าจะเป็นการแพร่ระบาดที่เล็กและในวงจำกัด เช่น การกลับมาแพร่ระบาดโควิด-19 รอบสองในประเทศจีน และญี่ปุ่น โดยคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เพราะหากมีผู้ติดเชื้อเฉลี่ย 20-30 คน/วัน มองว่าศักยภาพของการแพทย์ไทยยังคงรองรับได้ และสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ง่าย ทำให้เศรษฐกิจไทยยังสามารถเดินหน้าไปต่อได้โดยไม่จำเป็นต้องกลับมาล็อกดาวน์อีกครั้ง

“ธปท.มองว่าเศรษฐกิจไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในไตรมาส 2/63 และจะค่อยๆ ดีขึ้นในช่วง 2 ไตรมาสที่เหลือของปีนี้ แต่ก็ยังมีความเสี่ยงการแพร่ระบาดโควิด-19 เวฟ 2 เพราะยังไม่รู้ว่าถ้ามาอีกรอบจะมาเป็นเวฟเล็กหรือใหญ่ ถ้าเป็นเวฟเล็ก แบบจีน ญี่ปุ่นก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าเป็นเวฟใหญ่ แล้วต้องกลับไปล็อกดาวน์และชัตดาวน์กันอีกรอบ ไตรมาส 2/63 ก็อาจจะไม่ใช่ไตรมาสที่เป็นจุดต่ำสุดแล้ว อาจจะเป็นไตรมาส 3/63 หรือไตรมาส 4/63 ก็ได้ ทำให้เศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงด้านต่ำอยู่ แม้ว่าเศรษฐกิจจะไหลลงมาลึกมากแล้ว”

นายดอน กล่าว

ขณะเดียวกัน ธปท.ยังมั่นใจว่ามีเครื่องมือในการดำเนินนโยบายการเงิน เพื่อช่วยประคองเศรษฐกิจไทยเพียงพอ หากเศรษฐกิจไทยไหลลงลึกเพิ่มมากขึ้น และหากเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 รอบสอง โดยในส่วนของอัตราดอกเบี้ยนยโบายยังคงมีช่องว่างให้ลดลงได้อีก แม้ว่าในการประชุมครั้งที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 0.50% ต่อปี แม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะติดลบเพิ่มขึ้น แต่ กนง.มองว่าแนวโน้มการค่อยๆ ฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะกลับมาในครึ่งปีหลังนี้

นอกจากนี้ ภาครัฐยังมีช่องว่างในการกู้เงินได้เพิ่มถึงเพดานหนี้สาธารณะที่ 60% ของจีดีพี หากเกิดการแพร่ะบาดโควิด-19 รอบสองที่เป็นเวฟใหญ่ และทำให้วงเงินกู้ 1 ล้านล้านบาทที่นำมาใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบแรกไม่เพียงพอ ทำให้ภาครัฐยังสามารถกู้เงินเพิ่มได้ เพื่อมาช่วยกระตุ้นและประคองเศรษฐกิจไทย

นายดอน ยังกล่าวถึงอัตราเงินเฟ้อของไทยว่า แม้เงินเฟ้อจะติดลบต่อเนื่องกันมา 4 เดือน แต่มองว่าประเทศไทยยังไม่เข้าสู่ภาวะเงินฝืด เนื่องจากการเข้าสู่ภาวะเงินฝืดนั้น อัตราเงินเฟ้อจะต้องติดลบนานต่อเนื่องมากกว่า 1 ปี เช่นในปี 58-59 ที่อัตราเงินเฟ้อติดลบต่อเนื่อง 14 เดือน และแนวโน้มราคาสินค้าต่างๆ ยังไม่เห็นการปรับตัวลดลงที่กระจัดกระจายในหลากหลายกลุ่มสินค้า แต่จะมีแนวโน้มลดลงเพียงราคาน้ำมันที่เป็นไปตามทิศทางราคาน้ำมันดิบของโลก จึงทำให้มั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยยังไม่เข้าสู่ภาวะเงินฝืด

ส่วนความกังวลระดับหนี้เสีย (NPL) ของระบบธนาคารพาณิชย์ในประเทศเพิ่มขึ้น หลังจากที่สิ้นสุดมาตรการพักชำระหนี้ไปแล้วนั้น ธปท.มองว่าแนวโน้ม NPL คงจะปรับเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน จากปัจจัยโควิด-19 ที่ส่งผลกระมบเชิงลบต่อเศรษฐกิจอย่างกระทันหัน แต่ความสามารถในการรองรับหนี้เสียของระบบธนาคารพาณิชย์ยังคงมีความสามารถสูง และระบบธนาคารพาณิชย์ยังมีเสถียรภาพ เพราะมีเงินกองทุนรองรับในระดับที่สูงถึง 18-19% มากกว่าเกณฑ์ของ ธปท.ที่ 12% ทำให้การปรับเพิ่มขึ้นของ NPL จากระดับ 3% ในปัจจุบันที่ถือว่าต่ำมาก มาสู่ระดับ 4-5% ในระยะต่อไป จะยังสามารถรองรับได้อย่างมีศักยภาพ

นอกจากนี้ ธปท.ยังคงเร่งดำเนินการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในครั้งนี้อย่างต่อเนื่อง หลังจากที่วงเงินกู้ซอฟท์โลน 5 แสนล้านบาท มีการปล่อยกู้ให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้อย่างล่าช้า โดยปัจจุบันสามารถปล่อยได้เพียง 1 แสนล้านบาท เนื่องจากความกังวลและความไม่มั่นใจของธนาคารพาณิชย์ที่ยังกังวลต่อความไม่แน่นอนของปัจจัยต่างๆ และปัจจัยเศรษฐกิจที่จะทำให้เกิด NPL เพิ่มขึ้นได้อีก

ขณะเดียวกัน ยังไม่มั่นใจในหลักประกันของผู้ประกอบการที่นำมาค้ำประกัน ซึ่งยังไม่จูงใจในการให้สินเชื่อ รวมถึงการที่ไม่มีหน่วยงานรัฐมาช่วยค้ำประกันหลังจากสิ้นสุดระยะเวลาการกู้ 2 ปี ทำให้ธนาคารพาณิชย์ไม่เร่งรีบ และระมัดระวังการปล่อยวงเงินกู้ซอฟท์โลนในครั้งนี้

นายดอน กล่าวว่า ธปท.ได้เร่งเจรจากับภาครัฐและธนาคารพาณิชย์ ซึ่งจะใช้กลไกของภาครัฐเข้ามาเป็นเครื่องมือในการสร้างความมั่นใจในการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ให้กับผู้ประกอบการได้เร็วมากขึ้น ผ่านการค้ำประกันของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) หลังจากระยะเวลาการกู้ 2 ปีไปแล้ว เพื่อทำให้ธนาคารพาณิชย์มั่นใจในการปล่อยกู้ซอฟท์โลนเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้เร็วขึ้น

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 ก.ค. 63)

Tags: , , , , ,
Back to Top