กทท.แจงค่าภาระยกขนและเคลื่อนย้ายตู้สินค้าท่าเทียบเรือ A ทลฉ. เป็นธรรม

เรือโท กมลศักดิ์ พรหมประยูร ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเผยว่า กทท.ได้เปิดให้บริการท่าเทียบเรือชายฝั่ง (ท่าเทียบเรือ A) ที่ท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) อย่างเป็นทางการตั้งแต่เดือน ก.พ.63 เนื่องจากที่ผ่านมา ทลฉ.ยังไม่มีท่าเทียบเรือชายฝั่งเป็นการเฉพาะ ทำให้เรือชายฝั่งต้องไปเทียบท่าที่ท่าเทียบเรือระหว่างประเทศเป็นการชั่วคราว

ทำให้เกิดปัญหาการรอคอยเข้าเทียบท่าของเรือชายฝั่งที่ท่าเทียบเรือระหว่างประเทศ เพราะท่าเทียบเรือระหว่างประเทศมีเรือสินค้าระหว่างประเทศให้บริการอยู่ ทำให้เรือชายฝั่งไม่สามารถเข้าเทียบท่าบรรทุกตู้สินค้าขาเข้า เพื่อนำไปส่งยังท่าปลายทางได้ทันเวลากับความต้องการของผู้นำเข้าสินค้า ทำให้เกิดค่าภาระฝากเก็บตู้สินค้า (Container Storage) และเป็นปัญหาระหว่างผู้นำเข้าสินค้า สายการเดินเรือ และผู้ประกอบการท่าเรือระหว่างประเทศมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

โดย กทท.เรียกเก็บค่าภาระยกขนและเคลื่อนย้ายตู้สินค้าของท่าเทียบเรือ A ประกอบด้วย กิจกรรมการขนส่งตู้สินค้าระหว่างท่าเทียบเรือระหว่างประเทศถึงท่าเทียบเรือ A จากรถบรรทุกตู้สินค้าลงในลานตู้สินค้าของท่าเทียบเรือ A และการยกขนตู้สินค้าจากลานตู้สินค้าขึ้นรถบรรทุกตู้สินค้าไปยังหน้าท่าเทียบเรือ A และใช้ปั้นจั่นหน้าท่ายกขนตู้สินค้าบรรทุกลงเรือชายฝั่ง เพื่อให้เรือสินค้าชายฝั่งที่มารับตู้สินค้าขาเข้าที่ ทลฉ. ดำเนินการบรรทุกตู้สินค้าลงเรือ (Loading Container)

ซึ่ง กทท.ได้ประกาศกำหนดอัตราค่าภาระยกขนและเคลื่อนย้ายตู้สินค้าของท่าเทียบเรือ A ในอัตรา 1,545 บาท/ตู้ ทุกขนาด ทุกสถานภาพ ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา และต่อมา กทท.ได้มีประกาศปรับลดอัตราค่าภาระฯ จากเดิมลดลง 20% เป็นการจัดเก็บในอัตรา 1,236 บาท/ตู้ ทุกขนาด ทุกสถานภาพ โดยเป็นอัตราที่คำนวณและสะท้อนมาจากต้นทุนการดำเนินการ และได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2558 ซึ่งเป็นอัตราขั้นต่ำในระยะเริ่มแรกของการเปิดดำเนินการ

ดังนั้นการเปิดดำเนินการท่าเทียบเรือ A ให้บริการขนส่งตู้สินค้าระหว่างท่าเทียบเรือระหว่างประเทศถึงท่าเทียบเรือ A เพื่อแก้ปัญหาและลดระยะเวลารอคอยเทียบท่าของเรือสินค้าชายฝั่ง มีส่วนสำคัญในการสนองตอบนโยบายรัฐบาลในการเร่งพัฒนาการขนส่งทางน้ำ พร้อมทั้งส่งเสริมให้การพัฒนาเส้นทางการเชื่อมโยงโครงข่ายการขนส่งกับ ทลฉ.เป็นรูปธรรมมากขึ้น เพื่อให้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบขนส่ง (Shift Mode) จากทางถนนเป็นทางรางและทางลำน้ำ ซึ่งเป็นการพัฒนาและลดต้นทุนโลจิสติกส์ของประเทศโดยรวม

ทั้งนี้ กทท.มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของท่าเรือให้มีความทันสมัย เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการขนส่งสินค้าที่ท่าเรือแหลมฉบัง สนับสนุนการขนส่งสินค้าออกไปยังต่างประเทศ และลดระยะเวลาการรอคอยของเรือสินค้าชายฝั่งที่ต้องใช้ท่าเรือระหว่างประเทศร่วมกับเรือสินค้าระหว่างประเทศ รวมทั้งลดระยะเวลาการส่งมอบสินค้า (Transit Time) ให้แก่ผู้นำเข้าสินค้าจากในปัจจุบัน ทำให้ประหยัดต้นทุนค่าใช้จ่ายโดยรวม รวมถึงลดการใช้พลังงาน ลดปัญหาการจราจร ยกระดับการเป็นท่าเรือหลักในการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ และเป็นประตูการค้าหลักของระดับภูมิภาค

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 ก.ค. 63)

Tags: , , , ,
Back to Top