THG คาดรายได้ Q3 ฟื้นหลังผู้ป่วยกลับมาแต่รับทั้งปีหดจากโควิด

จับมือมศว.วิจัยกัญชา

นายแพทย์บุญ วนาสิน ประธานกรรมกรรมการ บมจ.ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป (THG) กล่าวว่า กำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ปัจจุบันเริ่มกลับมาทรงตัวแล้ว จากการกลับมาให้บริการการรักษาได้ตามปกติภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 คลี่คลายลง ทำให้ขณะนี้สภาพคล่องของกลุ่มโรงพยาบาลจึงไม่น่าเป็นห่วง

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบกับผลประกอบการโดยรวมอย่างมีนัยสำคัญ เห็นได้จากช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย.63 รายได้ลดลงไปมากถึง 30-40% แต่ปัจจุบันฟื้นตัวขึ้นมาแล้ว โดยรายได้จากผู้ป่วยลดลงเพียง 10-15%

แต่มองว่าการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 มีโอกาสจะกลับมาระบาดรอบ 2 ค่อนข้างสูง เนื่องจากยังมีคนไทยที่อยู่ในต่างประเทศต้องการเดินทางกลับมาในไทย, นักธุรกิจต่างชาติก็มีความจำเป็นต้องเข้ามา และคนไทยมีโอกาสแพร่เชื้อด้วยกันเอง เป็นต้น บริษัทจึงเตรียมความพร้อมโดยการลงทุน 200 ล้านบาทสร้างโรงพยาบาลสนามและเพิ่มเตียง ซึ่งหากมีการระบาดรอบ 2 เชื่อว่าทั้งรัฐบาลและโรงพยาบาลเอกชนจะสามารถรับมือได้ในกรณีที่มีผู้ป่วยติดเชื้อ 1,000-2,000 คน/วัน

ด้านนายธนาธิป ศุภประดิษฐ์ รองประธานกรรมการ THG เปิดเผยว่า บริษัทคาดว่าผลการดำเนินงานในไตรมาส 3/63 จะฟื้นตัวดีขึ้น เมื่อเทียบกับไตรมาส 2/63 หลังการคลายล็อกดาวน์ แต่อย่างไรก็ตาม ยังคาดว่าภาพรวมรายได้ทั้งปีนี้จะลดลงเมื่อเทียบกับปี 62 ที่มีรายได้ 8,699 ล้านบาท

สำหรับผลงานในช่วงครึ่งปีหลังคาดจะฟื้นตัวขึ้นจากการกลับมาเข้ารับการรักษาทั้งผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอก โดยเฉพาะในกลุ่มโรงพยาบาลหลักของบริษัท เช่น โรงพยาบาลธนบุรี 1 และ 2 ซึ่งขณะนี้อัตราการใช้บริการผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในปัจจุบันเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็นปกติแล้วที่ระดับ 70% หลังจากช่วงที่ได้รับผลกระทบจากโควิดในเดือน เม.ย.63 อยู่ในระดับเพียง 40%

บริษัทยังคงงบลงทุนปีนี้ไว้ที่ 1,410 ล้านบาท แบ่งเป็นใช้สร้างอาคารคนไข้ใน-คนไข้นอกของโรงพยาบาลธนบุรี 2 จำนวน 110 ล้านบาท , โรงพยาบาลธนบุรี บำรุงเมือง จำนวน 490 ล้านบาท, โรงพยาบาล Thonburi Health Village จำนวน 240 ล้านบาท , โรงพยาบาล ธนบุรี จำนวน 400 ล้านบาท และ Jin Wellbeing County จำนวน 170 ล้านบาท

นอกจากนี้ ในช่วงที่เหลือของปีนี้ บริษัทจะสามารถโอนโครงการห้องชุด Jin Wellbeing ได้ประมาณเดือนละ 4-5 ห้อง จากปัจจุบันที่มียอดโอนกรรมสิทธิ์แล้ว 122 ห้อง จากจำนวนทั้งหมด 494 ห้อง

ขณะที่บริษัทยืนยันว่าจะไม่ขายหุ้นโรงพยาบาล Aryu International ที่เมืองย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา ถึงแม้ว่าผลประกอบการของโรงพยาบาลดังกล่าวยังมีผลขาดทุนสุทธิ เพราะเบื้องต้นมองว่าโรงพยาบาลแห่งนี้จะเริ่มสร้างผลกำไรได้ภายในปี 63 หากไม่มีปัญหาการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ที่รุนแรงในเมียนมา

ล่าสุด บริษัทยังได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความเข้าใจ (Memorandum of Understanding: MOU) ร่วมกับมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร (มศว) ในการสนับสนุนงานวิจัยกัญชา ร่วมกับมหาวิทยาลัยชั้นนำ ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ทางการแพทย์เช่นเดียวกับที่มีการใช้อย่างแพร่หลายในต่างประเทศ

บริษัทพร้อมให้การสนับสนุน รวมทั้งให้คำปรึกษา เพื่อนำไปสู่การพัฒนากระบวนการผลิต สกัดและใช้พืชกัญชาและกัญชงที่มีคุณภาพมาตรฐาน เพื่อประโยชน์ในทางการแพทย์ และบำบัดโรค ภายใต้การควบคุมและดูแลจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขที่มุ่งขับเคลื่อนการใช้กัญชาทางการแพทย์ เพื่อนำมาใช้ส่งเสริมกับการรักษาด้วยแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์แผนไทย รวมถึงผลักดันกัญชาเป็นพืชเศรษฐกิจในอนาคต

“เราพร้อมให้การสนับสนุน เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ของการวิจัยครั้งนี้ เพื่อนำสารสกัดจากกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และร่วมพัฒนาวงการแพทย์ไทยมีความก้าวหน้า ซึ่งจำเป็นต้องมีการวิจัยโดยทีมผู้เชี่ยวชาญเพื่อพัฒนาสายพันธุ์กัญชา สกัดสารจากกัญชา และศึกษาปริมาณการใช้สารสกัดจากกัญชาในระดับที่เหมาะสมต่อการรักษาโรคแต่ละชนิด เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการดูแลรักษาคนไข้ต่อไป” นายแพทย์บุญ กล่าว

รศ.สมชาย สันติวัฒนกุล อธิการบดี มศว.กล่าวว่า การศึกษาวิจัยพืชกัญชาและกัญชงครั้งนี้ คาดหวังจะนำไปสู่การใช้เป็นสูตรตำรับยาและบำบัดรักษาโรคเพื่อช่วยยกระดับมาตรฐานทางการแพทย์ ส่งเสริมความมั่นคงด้านเวชภัณฑ์ยา และนำมาใช้เสริมประสิทธิภาพกับการรักษาโรคด้วยแพทย์แผนไทยและแพทย์แผนปัจจุบันเพื่อเป็นทางเลือกใหม่ในการรักษาอาการเจ็บป่วย

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากกัญชามีทั้งคุณประโยชน์และสามารถให้โทษต่อร่างกายได้ จึงมีความจำเป็นต้องศึกษาวิจัยเพื่อนำไปใช้อย่างถูกต้องภายใต้คำแนะนำของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ

นอกจาก ความร่วมมือในการวิจัยกัญชา มศว.มีความมุ่งมั่นพัฒนาศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ ชลประทาน ในสังกัด มศว. (ชื่อเดิมคือ รพ.ชลประทาน) ให้เป็นโรงพยาบาลที่ดีที่สุดแห่งหนึ่ง ล่าสุดจึงคัดเลือกให้บริษัท ศูนย์หัวใจ โรงพยาบาลธนบุรี จำกัด ในเครือ THG เข้าร่วมมือด้านการบริการวิชาการ เพื่อยกระดับการให้บริการและเป็นทางเลือกสำหรับการรักษาพยาบาลให้แก่คนไข้ ซึ่งยังมีความต้องการด้านการรักษาอีกเป็นจำนวนมาก

ทั้งนี้ ทาง THG ก็เตรียมเปิดให้บริการศูนย์หัวใจ ศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ ชลประทาน มศว เพิ่มเติมอีกได้ภายในไตรมาส 3/63 และเตรียมเปิดหอผู้ป่วยในเพื่อรองรับคนไข้โรคหัวใจและหลอดเลือดโดยเฉพาะ คาดว่าหลังเปิดให้บริการจะได้รับการตอบรับที่ดีจากประชาชน ซึ่งยังมีความต้องการเข้าถึงการรักษาโรคดังกล่าวอีกเป็นจำนวนมาก

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 ก.ค. 63)

Tags: , , , , ,
Back to Top