Citi มองเศรษฐกิจไทยปีนี้หด 6.8% ก่อนฟื้นโต 3.5% ปีหน้า

นายบุญนิเศรษฐ์ ธัญวรอนันต์ ที่ปรึกษาทางการลงทุน ธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทย (Citi) คาดว่า เศรษฐกิจไทยในปี 63 จะหดตัวราว 6.8% จากแรงกดดันของภาคการท่องเที่ยวไทยที่มองว่าจะยังไม่สามารถเปิดให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติกลับเข้ามาท่องเที่ยวได้เร็ว

เนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ในต่างประเทศยังไม่คลี่คลายดีนัก และผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์ทำให้เศรษฐกิจหยุดชะงักไปในช่วงกว่า 2 เดือน ทำให้งเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาส 2/63 ที่ผ่านมาถือว่าเป็นจุดต่ำสุดของปีนี้

เศรษฐกิจไทยยังเผชิญกับความท้าทายในช่วงครึ่งปีหลัง จากความไม่แน่นอนของสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ว่าจะกลับมาระบาดในรอบสองหรือไม่ ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในช่วงที่ผ่านมาส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อที่ยังไม่ฟื้นกลับมา และยังขึ้นกับการเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐบาลในช่วงช่วงครึ่งปีหลังจะทำได้มากน้อยเพียงใด และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปีจะมีออกมาหรือไม่อย่างไร ขณะที่เศรษฐกิจยังเผชิญแรงกดดันค่อนข้างมาก

อย่างไรก็ตาม มองว่าแนวโน้มของเศรษฐกิจไทยในปี 64 จะกลับมาขยายตัวได้ราว 3.5% และคาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50% ต่อเนื่องไปจนถึงต้นปี 65

ส่วนเศรษฐกิจทั่วโลก คาดว่าในปี 63 นี้เศรษฐกิจโลกจะติดลบ 3.5% ก่อนจะฟื้นตัวอย่างรวดเร็วในระดับ 5.5% ในปี 64 อัตราเงินเฟ้อของโลกอยู่ที่ 1.8% และเพิ่มขึ้นเป็น 2.4% ในปี 64 โดยมีปัจจัยสำคัญคือ ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 รวมถึงความไม่แน่นอนด้านภูมิศาสตร์การเมืองที่ยังคงตึงเครียด สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีน รวมถึงปัจจัยทางเศรษฐกิจที่ผันผวนตลอดปีที่ผ่านมา

ขณะที่เศรษฐกิจระดับภูมิภาค คาดว่าปีนี้เศรษฐกิจในกลุ่มตลาดเกิดใหม่จะชะลอตัวลงเล็กน้อย หรือติดลบราว 1.5% ก่อนจะกลับมาฟื้นตัวขึ้นได้ถึง 6.4% ในปี 64 ในทางกลับกันด้านเศรษฐกิจในตลาดประเทศพัฒนาแล้วมีแนวโน้มหดตัว 5% จากผลกระทบของโควิด-19 ตลอดจนความขัดแย้งทางการค้าระหว่างประเทศ ส่งผลให้การลงทุนมีความความท้าทายสูง ถึงแม้ว่าตลาดทุนทั่วโลกกลับตัวบวก 40.6% จากจุดต่ำสุดในเดือน มี.ค.63 แต่ก็ยังติดลบ 4% เมื่อเทียบกับช่วงต้นปี

นายบุญนิเศรษฐ์ กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในปีนี้ส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจทั่วโลกถดถอยอย่างหนัก แต่คาดว่าเศรษฐกิจจะเริ่มกลับมาคึกคักอีกครั้งหลังจากหลายประเทศคลายล็อกมาตรการต่าง ๆ และเริ่มควบคุมการแพร่ระบาดของโรคได้ โดยเฉพาะหากมีการพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 สำเร็จ

โดยเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาในปีนี้คาดว่าจะหดตัว 3.3% แต่เริ่มเห็นสัญญาณเชิงบวกของการฟื้นตัว จากอัตราการว่างงานลดลง รวมถึงยอดค้าปลีกที่เพิ่มขึ้นในช่วงเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา โดยธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ได้ออกมาตรการผ่อนคลายทางการเงินและคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายระดับ 0-0.25% รวมทั้งรัฐบาลสหรัฐมีแผนอัดฉีดเงินมูลค่ามากกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อกระตุ้นระบบเศรษฐกิจของประเทศ

ส่วนเศรษฐกิจยุโรปคาดว่าปีนี้จะหดตัว 6.7% เนื่องจากมาตรการข้อจำกัดต่างๆที่ออกมา โดยแนวโน้มการฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังอาจจะต้องใช้ระยะเวลาประมาณ 2 ปีกว่าที่เศรษฐกิจจะกลับไปสู่ระดับเดิมเท่าช่วงไตรมาส 4/62 ทำให้ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ออกมาตรการผ่อนคลายทางการเงินและมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับต่ำกว่า 0% ต่อเนื่อง และล่าสุดเปิดโครงการซื้อพันธบัตรฉุกเฉินเป็นวงเงินสูงถึง 7.5 แสนล้านยูโร ตลอดจนคณะกรรมาธิการยุโรปเตรียมเสนองบประมาณการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ซึ่งมีวงเงินสูงถึง 1.1 ล้านล้านยูโรสำหรับช่วง 7 ปีข้างหน้า เพื่อช่วยเหลือและปกป้องเศรษฐกิจของยุโรปที่เกิดจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

ด้านเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชียในปีนี้จะเติบโตราว 0.5% โดยเฉพาะจีนอาจจะเติบโตราว 2.4% แม้ว่าจะจีนจะเป็นประเทศแรกที่เผชิญกับวิกฤติไวรัสโควิด แต่เริ่มเห็นการกลับมาทำกิจกรรมในประเทศเพิ่มขึ้นตามลำดับ หลังจากไตรมาส 1/63 เป็นจุดต่ำสุดของเศรษฐกิจจีน

ขณะที่เศรษฐกิจของประเทศอื่นๆ พบว่าช่วงไตรมาส 2/63 ส่วนใหญ่ยังคงเห็นการถดถอยก่อนจะค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้น อย่างไรก็ตามมองว่าเมื่อเศรษฐกิจโลกเริ่มกลับมามีการฟื้นตัว จะเห็นแนวโน้มว่าเป็นการฟื้นตัวแบบไม่เท่ากันในแต่ละภูมิภาค

ทิศทางราคาน้ำมันยังคงเป็นที่น่าจับตา โดยน้ำมันดิบยังมีอุปสงค์สวนทางกับอุปทาน คาดว่าราคาน้ำมันดิบเบรนท์และน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) เฉลี่ยจะอยู่ที่ 42 และ 38 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บารร์เรล ตามลำดับ ส่วนทองคำยังเป็นที่ต้องการของตลาด โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 1,600-1,800 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ออนซ์ และมีแนวโน้มว่ามูลค่าเฉลี่ยจะขยับขึ้นในระดับประมาณ 2,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ออนซ์ในปี 64

และค่าเงินสกุลต่างๆ ของโลกยังต้องจับตาเป็นพิเศษ เพราะคงมีความผันผวนสูง โดยเฉพาะค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ปีนี้มีแนวโน้มอ่อนค่าลงในระยะกลางถึงระยะยาว จากปัจจัยการขยายงบดุลของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เพื่อตอบสนองสภาพคล่องต่อสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้นค่อนข้างหนักกับสหรัฐ ส่วนกรอบความเคลื่อนไหวของเงินบาทไทยคาดว่าจะอยู่ระหว่าง 31-31.3 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ

นายบุญนิเศรษฐ์ กล่าวว่า Citi ยังคงมีมุมมองบวกต่อหุ้นวัฎจักรที่คาดว่าจะมีการเติบโตต่อเนื่อง พร้อมแนะนักลงทุนให้น้ำหนักในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ภูมิภาคเอเชียและกระจายการลงทุนไปในสินทรัพย์ที่หลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยี สุขภาพ โทรคมนาคม และเทคโนโลยีดิจิทัลไลเซชั่น (Digitalization) ซึ่งเป็นหุ้นที่ไม่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา และเป็นหุ้นที่นักลงทุนสามารถกระจายการลงทุนเพื่อป้องกันความเสี่ยงได้ โดยเน้นลงทุนตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่จะได้รับประโยชน์จากการอัดฉีดเม็ดเงิน QE ของธนาคารกลางต่างๆ ทั่วโลกที่มีวงเงินรวมกว่า 6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งครึ่งหนึ่งมาจากเฟดจึงช่วยหนุนตลาดหุ้นสหรัฐฯได้อย่างดี

นอกจากนี้ ยังแนะนำลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ และสกุลเงินเยน ตลอดจนการลงทุนในทองคำ เนื่องจากเป็นสินทรัพย์ที่มีความมั่นคงปลอดภัยและมีความเสี่ยงต่ำ สามารถเสริมความมั่นคงให้กับพอร์ตโฟลิโอได้ พร้อมกันนี้แนะให้เกาะติดประเด็นสำคัญของสถานการณ์โลกที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษาผลประโยชน์ในระยะยาว และลดความเสี่ยงจากการลงทุนท่ามกลางสภาวะผันผวน

ส่วนการลงทุนในหุ้นกู้บริษัทเอกชนก็มองว่ามีความน่าสนใจ เนื่องจากให้อัตราผลตอบแทนสูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากที่ยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง แต่ให้เน้นลงทุนในหุ้นกู้บริษัทเอกชนขนาดใหญ่ และได้รับการจัดอันดับเครดิตเป็น Investment Grade

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 ก.ค. 63)

Tags: , , , , , ,
Back to Top