ชี้หุ้นไทย Q3/63 โดนกลุ่มแบงก์ฉุดลงในกรอบจำกัด ก่อนดีดฟื้นใน Q4

นายสุวัฒน์ สินสาฎก CFA, FRM, ERP กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ที่ปรึกษาการลงทุน เอฟ เอส เอส อินเตอร์เนอร์เนชั่นแนล จำกัด (FSSIA) บริษัทย่อยของ บล.ฟินันเซีย ไซรัส (FSS) เปิดเผยว่า ทาง FSSIA ประเมินภาพรวมตลาดหุ้นไทยในช่วงไตรมาส 3/63 นี้ว่า หุ้นในกลุ่มธนาคารพาณิชย์จะเป็นตัวฉุด SET Index ทำให้เคลื่อนไหวไม่เกินระดับ 1,400-1,450 จุด เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 กระทบต่อเศรษฐกิจโดยภาพรวม ทำให้ธนาคารพาณิชย์จำเป็นต้องตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญ กดดันให้ผลประกอบการงวดไตรมาส 2/63 ปรับตัวลดลง

“หุ้นในกลุ่มธนาคารพาณิชย์นับว่ารับผลกระทบจากวิกฤตการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 มากที่สุด เพราะเข้าไปมีส่วนร่วมในทุกกลุ่มอุตสาหกรรมในฐานะผู้ปล่อยสินเชื่อ นับเป็นตัวแทนของความเสียหายจากวิกฤตการณ์รอบนี้ และมีหุ้นกลุ่มท่องเที่ยว สายการบิน ร่วมกดดันดัชนีด้วย ส่งผลให้ SET Indexในไตรมาส 3/63 ปรับตัวในกรอบจำกัดคาดว่าไม่เกิน 1,450 จุด แต่เชื่อว่ากรณีเลวร้ายที่สุดไม่น่าจะปรับตัวต่ำกว่าระดับ 1,200 จุด เนื่องจากมีหุ้นในกลุ่มพลังงาน โรงไฟฟ้า ปิโตรเคมี คอยประคองดัชนี” นายสุวัฒน์ กล่าว

ในวิกฤตหนี้เสียรอบนี้ประเมินว่ากลุ่มลูกค้าสินเชื่อเอสเอ็มอีและสินเชื่อรายบุคคลจะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด จากการล็อกดาวน์ประเทศส่งผลให้ร้านค้าต่างๆ ต้องหยุดดำเนินการ การค้าขายหยุดชะงัก และเป็นเหตุผลหลักทำให้หนี้เสียทั้งระบบจากปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 3% จะพุ่งขึ้นไปแตะระดับสูงสุด 7% ในช่วงปลายปี 64

แต่นับว่าไม่ได้เป็นสถานการณ์ที่น่ากังวล เมื่อเทียบกับวิกฤตต้มยำกุ้ง ซึ่งในขณะนั้นหนี้เสียทั้งระบบขึ้นไปสูงสุดถึง 45% และวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์อยู่ที่ระดับ 5.3% ขณะที่ค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ(Coverage Ratio) ในขณะนั้นอยู่ในระดับต่ำเพียง 26% และ 72% ตามลำดับ เทียบกับปัจจุบันสูงถึง 117% สะท้อนให้เห็นถึงความแข็งแกร่งฐานะทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ และมีแนวโน้มว่าธนาคารพาณิชย์จะทยอยเพิ่มการตั้งสำรองเพื่อให้มั่นใจว่าสามารถรับมือกับหนี้เสียที่จะเกิดขึ้นได้

กรรมการผู้จัดการ FSSIA กล่าวอีกว่า คาดการณ์ว่า SET Index จะกลับมาฟื้นตัวได้ในช่วงไตรมาส 4/63 มีโอกาสเห็นระดับ 1,550 จุด เนื่องจากประชาชนเริ่มคุ้นเคยกับสถานการณ์ ส่งผลให้การดำรงชีวิตใกล้กลับเข้าสู่ภาวะปกติ ก่อให้เกิดความต้องการบริโภค ส่งผลดีต่อหุ้นในกลุ่มพลังงาน โรงไฟฟ้า ซึ่งทั้ง 2 กลุ่มนี้มีสัดส่วนต่อมูลค่าตลาดรวม(มาร์เก็ตแคป)ในสัดส่วนที่สูง รวมแล้วเกือบ 20%

โดยหุ้นที่มีความน่าสนใจลงทุนอย่างโดดเด่น คือ หุ้นบมจ. เอสโซ่(ประเทศไทย) (ESSO) และหุ้นบมจ. พีทีจี เอ็นเนอยี (PTG) รวมไปถึงความน่าสนใจลงทุนในหุ้นธนาคารพาณิชย์จะกลับมา โดยเฉพาะธนาคารที่มีการตั้งสำรองในอัตราที่สูงจะกลับมาฟื้นตัวได้เร็ว อย่างเช่น ธนาคารกรุงเทพ (BBL) และธนาคารกสิกรไทย (KBANK)

ขณะเดียวกันประเด็นการลงทุนหุ้นคู่แม่และลูก จะกระตุ้นบรรยากาศการลงทุนในช่วงโค้งสุดท้ายของปี อาทิ แผนการเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นของบมจ. เอสซีจี แพคเกจจิ้ง (SCGP) บริษัทลูกของ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) และ บมจ. ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก (OR) บริษัทลูกของ บมจ. ปตท. (PTT) คาดว่าจะก่อให้เกิดความคาดหวังการลงทุนในหุ้นแม่

เช่นเดียวกับกรณีการเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นของบมจ. ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) (STGT) ประสบความสำเร็จอย่างมาก พบว่าทำให้หุ้นแม่ บมจ. ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี (STA) ได้รับความสนใจจากนักลงทุนเช่นกัน หรือแม้แต่การเข้าร่วมประมูลโรงไฟฟ้าของ บมจ.ทีพีซี เพาเวอร์โฮลดิ้ง คาดว่าจะกระตุ้นการลงทุนใน บมจ.ไทยโพลีคอน (TPOLY)

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (29 ก.ค. 63)

Tags: , , , ,
Back to Top