นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้ติดตามสภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยา
พบว่า พายุโซนร้อนซินลากู บริเวณอ่าวตังเกี๋ย กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตก คาดว่าจะขึ้นฝั่งที่เมืองวินห์ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และจะอ่อนกำลังลงเป็นพายุดีเปรสชัน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย มีกำลังแรง และร่องมรสุมกำลังแรงพาดผ่านภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ ส่วนคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนมีกำลังแรงขึ้น คลื่นสูง 2 – 3 เมตร และบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร
กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จึงได้ประสาน 67 จังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ เตรียมพร้อมรับมือ น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และคลื่นลมแรง ในช่วงวันที่ 2 – 4 สิงหาคม 2563 แยกเป็น
สถานการณ์น้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก ดังนี้
ภาคเหนือ 17 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง พะเยา แพร่ น่าน พิจิตร สุโขทัย ตาก อุตรดิตถ์ พิษณุโลก กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ และอุทัยธานี
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 20 จังหวัด ได้แก่ เลย หนองบัวลำภู อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร นครพนม ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มุกดาหาร มหาสารคาม ชัยภูมิ ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี
ภาคกลาง 10 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี ชัยนาท ลพบุรี สระบุรี สมุทรสงคราม นครนายก เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์
ภาคตะวันออก 7 จังหวัด ได้แก่ ปราจีนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
ภาคใต้ 11 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ยะลา นราธิวาส ระนอง พังงา กระบี่ และภูเก็ต
สถานการณ์คลื่นลมแรง ดังนี้
ภาคตะวันออก 4 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
ภาคกลาง 2 จังหวัด ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ และเพชรบุรี
ภาคใต้ 8 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร สุราษฎร์ธานี ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล
รวมถึงสั่งการศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัยเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยในช่วงดังกล่าว โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศ ปริมาณฝน พร้อมวิเคราะห์ ปัจจัยเสี่ยงและแนวโน้มสถานการณ์ภัยต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง จัดชุดเผชิญสถานการณ์วิกฤต (ERT) รถปฏิบัติการ และเครื่องจักรกลสาธารณภัยให้พร้อมเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันที
อีกทั้งประสานหน่วยงานในพื้นที่ อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสร้างการรับรู้และแจ้งเตือนประชาชนติดตามพยากรณ์อากาศและประกาศเตือนภัยอย่างใกล้ชิด ตลอดจนประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้มงวดมาตรการความปลอดภัยทางทะเล
โดยเพิ่มการติดตั้งสัญญาณแจ้งเตือนภัยบริเวณชายฝั่งทะเล จัดเตรียมเครื่องมือประจำเรือและอุปกรณ์ช่วยชีวิตทางน้ำให้พร้อมใช้งาน อีกทั้งหลีกเลี่ยงการเดินเรือบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่ง สำหรับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัยสามารถติดต่อได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมงเพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป
ส่วนสถานการณ์น้ำไปหลากในพื้นที่ 10 จังหวัด รวม 23 อำเภอ 46 ตำบล 130 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 1,399 ครัวเรือน ได้แก่ น่าน ในพื้นที่ 6 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองน่าน อำเภอภูเวียง อำเภอนาน้อย อำเภอเวียงสา อำเภอปัว และอำเภอบ้านหลวง รวม 11 ตำบล 30 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 224 ครัวเรือน
อุตรดิตถ์ ในพื้นที่อำเภอฟากท่า รวม 1 ตำบล 1 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 22 ครัวเรือน, ลำปาง ในพื้นที่อำเภอวังเหนือ อำเภอแจ้ห่ม และอำเภอเมืองปาน รวม 8 ตำบล 14 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 30 ครัวเรือน, พะเยา ในพื้นที่อำเภอปง อำเภอเชียงม่วน และอำเภอเมืองพะเยา รวม 7 ตำบล 10 หมู่บ้าน
เชียงราย ในพื้นที่อำเภอเวียงป่าเป้า รวม 2 ตำบล 17 หมู่บ้าน, เชียงใหม่ ในพื้นที่อำเภอดอยสะเก็ด รวม 1 ตำบล 1 หมู่บ้าน
เลย ในพื้นที่อำเภอเมืองเลย อำเภอเชียงคาน และอำเภอปากชม รวม 6 ตำบล 28 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 680 ครัวเรือน, หนองบัวลำภู ในพื้นที่อำเภอนากลาง และอำเภอนาวัง รวม 5 ตำบล 15 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 250 ครัวเรือน
อุดรธานี ในพื้นที่อำเภอนายูง และอำเภอน้ำโสม รวม 4 ตำบล 12 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 190 ครัวเรือน และนครพนม ในพื้นที่อำเภอบ้านแพง รวม 1 ตำบล 2 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 3 ครัวเรือน ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้วทุกจังหวัด
ทั้งนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ร่วมกับจังหวัด หน่วยทหาร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่อย่างต่อเนื่อง รวมถึงแจกจ่ายถุงยังชีพและเครื่องอุปโภคบริโภคแก่ผู้ประสบภัย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้นแล้ว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 ส.ค. 63)
Tags: กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย, ชยพล ธิติศักดิ์, ซินลากู, น้ำท่วม, น้ำป่า, ปภ., พายุโซนร้อน, อุทกภัย