ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCBEIC) ปรับประมาณการและมุมมองต่อตลาดการเงิน โดยคาดว่าเงินบาท ณ สิ้นปี 63 มีแนวโน้มแข็งค่าจากระดับปัจจุบันมาอยู่ที่กรอบ 30.50-31.50 บาท/ดอลลาร์ จากเงินดอลลาร์สหรัฐที่มีแนวโน้มอ่อนค่าเพิ่มเติมได้ในช่วงที่เหลือของปีนี้ เงินทุนเคลื่อนย้ายมีแน้วโน้มไหลเข้าตลาดเกิดใหม่ (EM)
และ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีแนวโน้มที่จะเผชิญกับข้อจำกัดในการดูแลค่าเงินบาทมากขึ้นจากความเสี่ยงที่จะถูกทางการสหรัฐฯ จัดให้อยู่ในกลุ่ม monitoring list ของกลุ่มประเทศ currency manipulator อีกทั้งยังมีแรงกดดันจากการขายทองคำในช่วงที่ราคาปรับสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว
อย่างไรก็ดี เงินบาทจะไม่แข็งค่าขึ้นมาก เนื่องจากดุลบัญชีเดินสะพัดไทยมีแนวโน้มเกินดุลลดลงอย่างมีนัย
SCBEIC ระบุว่า ด้วยมาตรการสนับสนุนขนาดใหญ่จากภาครัฐและการผ่อนคลายมาตรการปิดเมือง ทำให้เศรษฐกิจโลกมีสัญญาณฟื้นตัวจากจุดต่ำสุด (bottoming out) และนักลงทุนเริ่มกลับมาถือสินทรัพย์เสี่ยงเพิ่มมากขึ้น โดยหลังจากตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 ชะลอลงในหลายประเทศ ประกอบกับภาครัฐได้มีมาตรการสนับสนุนขนาดใหญ่ออกมาและทยอยผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองลง ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทยอยฟื้นตัวจากจุดต่ำสุด เงินทุนเคลื่อนย้ายเริ่มไหลกลับเข้าสู่กลุ่ม EM โดยเฉพาะตลาดพันธบัตรรัฐบาลที่มีความเสี่ยงต่ำกว่าตลาดหุ้น
ส่วนดัชนีตลาดหลักทรัพย์ของหลาย ๆ ประเทศทยอยปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน โดยในบางตลาดได้ปรับสูงกว่าระดับก่อนที่มีโรคระบาดแล้ว เช่น ตลาดหลักทรัพย์สหรัฐฯ (NASDAQ) ตลาดหลักทรัพย์จีน (Shanghai) และตลาดหลักทรัพย์เกาหลีใต้ เป็นต้น
อย่างไรก็ดี ประเมิน 3 ปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและตลาดการเงินโลกในช่วงที่เหลือของปี 63 จากสถานการณ์จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่กลับมาสูงขึ้นในหลายประเทศหลังมีการทยอยเปิดเมือง ซึ่งอาจส่งผลให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกซึ่งแม้จะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว แต่การฟื้นตัวในระยะถัดไปอาจชะลอตัวลงได้ (stalling economic recovery)
ในรายงานฉบับนี้ได้ประเมินปัจจัยสำคัญที่จะมีผลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจและตลาดการเงินโลกในช่วงที่เหลือของปีไว้ดังนี้
1. มาตรการปิดเมืองในหลายประเทศที่อาจกลับมาเข้มงวดขึ้นอีกครั้งหลังการระบาดของโควิด-19 ทวีความรุนแรงขึ้น ซึ่งทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะถัดไปที่อาจชะลอลง
2. มาตรการสนับสนุนของภาครัฐบางมาตรการกำลังจะหมดอายุลง หรือผ่อนคลายในอัตราที่ชะลอลง ในขณะที่รายได้และการจ้างงานยังต่ำกว่าระดับปกติ
3. การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในเดือนพฤศจิกายน อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงนโยบายด้านภาษี ด้านการค้าระหว่างประเทศ และด้านเศรษฐกิจของสหรัฐฯ
SCBEIC ประเมินว่า จากแนวโน้มเศรษฐกิจและตลาดการเงินดังกล่าวข้างต้น ทำให้มีการปรับประมาณการและมุมมองต่อตลาดการเงิน ดังนี้
คาดเงินบาท ณ สิ้นปี 63 แข็งค่าจากปัจจุบันมาอยู่ที่กรอบ 30.50-31.50 บาท/ดอลลาร์ (จากเดิมคาดไว้ที่ 31.50-32.50 บาท/ดอลลาร์ ในรายงาน Outlook ไตรมาส 2/63) ค่าเงินบาทปรับอ่อนค่าลงจากสิ้นปีก่อน โดยเฉพาะในไตรมาส 3/63 ที่ปรับอ่อนค่าลงรวดเร็ว สวนทางกับค่าเงินสกุลอื่น ๆ ในภูมิภาคที่แข็งค่าขึ้นตามการอ่อนค่าของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งในวันที่ 3 ส.ค.63 เงินบาทอยู่ที่ 31.20 บาท/ดอลลาร์ อ่อนค่าจากต้นปี 4.9%
โดยเงินบาทที่อ่อนค่าลงค่อนข้างเร็วในเดือน ก.ค.ที่ผ่านมานี้ เป็นผลจากปัจจัยในประเทศเป็นสำคัญคือ 1) ปัจจัยจากเงินทุนเคลื่อนย้ายที่ไหลออกจากตลาดหลักทรัพย์ไทยในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่นักลงทุนกังวลกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในไทย และความไม่แน่นอนทางการเมือง และ 2) การที่ภาคธุรกิจไทยออกไปลงทุนในต่างประเทศในช่วงที่ธุรกรรมในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนค่อนข้างเบาบาง จึงทำให้เงินบาทอ่อนค่าเร็ว
อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์สหรัฐมีแนวโน้มอ่อนค่าลงได้ในช่วงที่เหลือของปีนี้ โดย SCBEIC มองว่าเงินดอลลาร์สหรัฐ มีแนวโน้มอ่อนค่าลงได้อีกเล็กน้อยจากปัจจัยดังต่อไปนี้ยังมีความเสี่ยง คือ 1.เศรษฐกิจโลกทยอยฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปี 2.แนวโน้มที่ Biden จะชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ 3.การดำเนินนโยบายการเงินที่จะมีแนวโน้มผ่อนคลายต่อเนื่อง
ขณะเดียวกัน EIC ประเมินว่าความเสี่ยงที่อาจทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐกลับมาแข็งค่าขึ้นได้ในระยะต่อไป คือ การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสระลอกสองในหลายประเทศ และความไม่แน่นอนของมาตรการภาครัฐที่กำลังจะหมดอายุลง
นอกจากปัจจัยด้านการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐแล้ว ยังมีปัจจัยของไทยที่ทำให้เงินบาทกลับมาแข็งค่าขึ้นได้ คือ
1. เงินทุนเคลื่อนย้ายมีแนวโน้มไหลเข้า EM รวมถึงตลาดการเงินไทยในระยะต่อไป จากความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจและตลาดการเงินโลกที่ปรับลดลง อย่างไรก็ดี มองว่าเงินทุนเคลื่อนย้ายจะไหลเข้าอย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากความผันผวนในตลาดการเงินโลกยังคงสูงกว่าค่าเฉลี่ยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา และผลตอบแทนจากการลงทุนในสินทรัพย์ไทยเทียบต่อความผันผวนของค่าเงินอยู่ยังในระดับต่ำ
โดยความผันผวนในตลาดการเงินโลกอาจมาจาก 1) โอกาสในการระบาดของโควิด-19 ที่อาจมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นบ้างตราบใดที่ยังไม่มีวัคซีนออกแจกจ่ายได้โดยทั่วไป 2) ความเสี่ยงที่ภาครัฐจะดำเนินมาตรการปิดเมืองอีกครั้ง หากไวรัสกลับมาแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว และ 3) ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์จากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน และความไม่แน่นอนของผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งจะทำให้ความผันผวนของตลาดเงินอาจยังไม่กลับเข้าสู่ระดับปกติดังช่วงก่อนมีโควิด-19
อีกทั้ง SCBEIC ยังมองว่าเงินทุนเคลื่อนย้ายเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ไทยน่าจะยังมีได้ไม่สูงนัก เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างช้า ๆ จึงทำให้นักลงทุนต่างชาติอาจยังไม่ย้ายสินทรัพย์เข้ามาหุ้นไทยมากนัก
นอกจากนี้ ผลตอบแทนจากการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลไทยระยะสั้นและจากการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินบาทเทียบต่อความผันผวนของค่าเงินบาท (Sharpe ratio) ยังอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค ยังเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้เงินทุนเคลื่อนย้ายมีแนวโน้มไหลเข้าตลาดการเงินไทยได้ไม่มากนัก
2. ธปท. มีแนวโน้มที่จะเผชิญกับข้อจำกัดในการดูแลค่าเงินบาทมากขึ้น หลังจากไทยมีความเสี่ยงที่จะถูกจัดอยู่ในกลุ่ม monitoring list ของกลุ่มประเทศที่มีการบิดเบือนอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อสร้างความได้เปรียบทางการค้า (currency manipulator) จากสหรัฐฯ
โดยในรายงาน “Macroeconomics and FX Policy of Major Trading Partners” ล่าสุดของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ในเดือน ม.ค.63 ไทยอยู่ในรายชื่อประเทศคู่ค้าสำคัญกับสหรัฐฯ (major trading partners) เนื่องจากมีมูลค้าการค้ากับสหรัฐฯ ตั้งแต่เดือน มิ.ย.-มิ.ย.62 เกิน 4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ไทยยังไม่ถูกจัดเป็นประเทศที่ต้องจับตามอง (monitoring list) ซึ่งต้องเข้าเงื่อนไข 2 เกณฑ์จากทั้งหมด 3 เกณฑ์ และหากเข้าทั้ง 3 เกณฑ์ จะถูกจัดเป็นประเทศที่มีการบิดเบือนอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อสร้างความได้เปรียบทางการค้า
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (04 ส.ค. 63)
Tags: SCB EIC, การเงิน, ตลาดเงิน, ธปท., เงินบาท, เศรษฐกิจ, ไทยพาณิชย์