เดาทาง “Bitcoin” กับโอกาสพุ่งแตะ 1.5 ล้านบาท ยุคดอลลาร์เสื่อมถอย !!

ต้นตอสัญญาณเสื่อมถอยของค่าเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯมหาอำนาจทางการเงินเบอร์หนึ่งของโลกเกิดจากเศรษฐกิจสหรัฐฯกำลังเข้าสู่ภาวะหดตัวอย่างรุนแรงรับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 และการใช้มาตรการ QE (Quantitative Easing) ที่เป็นนโยบายทางการเงินในเชิงปริมาณแบบผ่อนคลาย หรือพิมพ์เงินแบบไม่จำกัดจำนวนมูลค่ามหาศาลเข้าสู่ระบบ ส่งผลให้ค่าเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯด้อยค่าตามหลักดีมานด์-ซัพพลายทันที

ด้วยความเชื่อที่ว่าค่าเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯกำลังถูกลดบทบาทต่อการเป็นสกุลเงินหลักของโลก เป็นผลให้เงินทั่วโลกกระจายความเสี่ยงไหลเข้าสู่สินทรัพย์ที่ไม่ได้ผูกติดกับความผันผวนทางเศรษฐกิจ ในหนึ่งทางเลือกยุคนี้ คือ สินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset) โดยเฉพาะเบอร์หนึ่ง Cryptocurrency อย่าง Bitcoin ได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับความเชื่อว่าเป็นหนึ่งในสินทรัพย์ปลอดภัยในยุดนี้ที่มีลักษณะคล้าย “ทองคำ” ไม่ได้ผูกติดกับความผันผวนกับเศรษฐกิจ แต่ขึ้นอยู่กับกลไกดีมานด์และซัพพลาย

เป็นที่น่าสนใจว่าแนวโน้มราคา Bitcoin หลังจากนี้จะมีโอกาสขึ้นไปทุบสถิติสูงสุดใหม่อีกครั้งหรือไม่…และลุ้นขึ้นไปแตะ 50,000 ดอลลาร์ต่อ 1 Bitcoin หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 1,500,000 บาทตามที่นักวิเคราะห์ “Cryptocurrency” หลายรายในต่างประเทศประเมินกันไว้….จะเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน ??

นายจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท บิทคับ แคปปิตอลกรุ๊ป โฮลดิ้งส์ เปิดเผยกับ “อินโฟเควสท์” ว่า สำหรับตัวแปรหลักที่มีโอกาสผลักดันราคา Bitcoin รอบใหม่คือปรากฏการณ์ “Bitcoin Halving” ครั้งที่ 3 ที่เกิดขึ้นเมื่อประมาณวันที่ 12 พ.ค.63 ซึ่งปรากฏการณ์ “Bitcoin Halving” คือเป็นกลไกระบบการเงินของ Bitcoin ที่เกิดขึ้นทุกๆ 4 ปี เป็นลักษณะของการจำกัดซัพพลาย Bitcoin ที่ผลิตเข้ามาใหม่ลดลงครึ่งหนึ่ง

  • ครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อปี 2555 Bitcoin ออกใหม่จาก 50 เหลือ 25 Bitcoin ต่อบล็อกต่อการผลิต Bitcoin ใหม่ทุกๆ 10 นาที
  • ครั้งที่สองเกิดขึ้นปี 2559 Bitcoin ออกใหม่จาก 25 เหลือ 12.5 Bitcoin ต่อบล็อกต่อการผลิต Bitcoin ใหม่ทุกๆ 10 นาที
  • และครั้งที่สามเป็นครั้งล่าสุดคือวันที่ 12 พ.ค.63 Bitcoin ออกใหม่จาก 12.5 เหลือ 6.25 Bitcoin ต่อบล็อกต่อการผลิต Bitcoin ใหม่ทุกๆ 10 นาที

อนึ่ง จำนวน Bitcoin ที่ออกมาก่อนหน้านี้ก็ยังหมุนเวียนในระบบตามปกติ ปัจจุบันมีจำนวนหมุนเวียนประมาณ 18.45 ล้านเหรียญ ตามหลักกลไก “Bitcoin Halving” จะผลิตครบทั้งหมด 21 ล้านเหรียญภายในปี ค.ศ.2140 (พ.ศ.2683) หรือนับจากนี้ไปอีก 120 ปี

นายจิรายุส ย้อนรอยสถิติการปรับตัวเพิ่มขึ้นของ Bitcoin ช่วงที่ผ่านมาว่าเมื่อเกิด “Bitcoin Halving” ครั้งแรกเมื่อเข้าสู่ปีที่ 5 ช่วงปลายปี ค.ศ.2012 พบว่าราคา Bitcoin จากที่เคยอยู่ที่ 11 ดอลลาร์ เมื่อเข้าสู่ปี ค.ศ.2013 ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้นมาถึง 1,150 ดอลลาร์สหรัฐฯก่อนจะปรับตัวเข้าสู่ขาลงมาแถว 650 ดอลลาร์สหรัฐฯอีกครั้ง

ขณะที่ปรากฏการณ์ “Bitcoin Halving” ครั้งที่สองช่วงนั้นเมื่อปลายปี ค.ศ.2016 ราคา Bitcoin อยู่แถวๆ 650 ดอลลาร์ก็เริ่มเกิดสัญญาณปรับตัวขึ้นร้อนแรงไปทดสอบจุดสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์อยู่ที่ 20,089 ดอลลาร์ช่วงระหว่างซื้อขายของวันที่ 17 ธ.ค.60 คลื่นลูกที่สองที่ราคา Bitcoin กระชากขึ้นรอบนี้ทำให้คนไทยรู้จักสินทรัพย์ดิจิทัลอย่าง Bitcoin กันมากขึ้น

และครั้งที่สามเมื่อเดือน พ.ค.63 ก็เพิ่งเกิดปรากฎการณ์ “Bitcoin Halving” อีกครั้ง แม้จะผ่านมาแค่ 2 เดือนแต่พบว่าราคา Bitcoin ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอย่างร้อนแรงเช่นกัน ล่าสุดราคาเกิดสัญญาณซื้อเพิ่มขึ้นมาทะลุ 11,000 ดอลลาร์แล้ว

เมื่อวิเคราะห์แนวโน้มราคา Bitcoin ในอนาคต กรณีหากเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกับสถิติในอดีตช่วง “Halving” แต่ละครั้งจะพบว่าการเคลื่อนไหวของราคา Bitcoin จะพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว แม้ว่าราคาจะปรับตัวลดลงมาอย่างหนักทุกรอบ แต่ก็ไม่เคยลงมาทำจุดต่ำสุดใหม่เลย เป็นสิ่งสะท้อนว่าราคา Bitcoin สร้างฐานใหม่สูงกว่าเดิมทุกครั้ง นั่นเป็นหนึ่งในเหตุผลที่มีโอกาสผลักดันราคา Bitcoin ปรับตัวขึ้นทะลุ 20,000 ดอลลาร์ทุบสถิติสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์อีกครั้งตามการคาดการณ์

“แม้ว่านักวิเคราะห์ต่างชาติหลายรายมีการทำนายแนวโน้มราคา Bitcoin ว่ามีความเป็นไปได้จะเพิ่มขึ้นไปถึง 50,000 ดอลลาร์จากปรากฏการณ์ “Bitcoin Halving” รอบที่ 3 แต่ในมุมมองส่วนตัวหากการเคลื่อนไหวของราคา Bitcoin เป็นไปตามที่นักวิเคราะห์คาดการปรับตัวขึ้นของราคาจะไม่ได้ขึ้นทันทีแต่อาจต้องใช้เวลา เพราะวิเคราะห์สถิติในอดีตจะพบว่ากว่าราคา Bitcoin จะพุ่งขึ้นไปทำจุดสูงสุดแต่ละครั้งจำเป็นต้องใช้เวลาเป็นอย่างน้อย 6 เดือนไปจนถึง 1 ปี

อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวคิดว่าเป็นเรื่องที่นักวิเคราะห์คาดการณ์เท่านั้นยากจะคาดเดาว่าแนวโน้มราคา Bitcoin จะปรับตัวเพิ่มขึ้นตามแพทเทิร์นเดิมหรือไม่และไปได้ไกลแค่ไหนในอนาคต”นายจิรายุส กล่าว

นายจิรายุส กล่าวต่อว่า แม้ว่าปรากฏการณ์ “Bitcoin Halving” จะเป็นตัวกำหนดซัพพลายที่แน่ชัดว่าในอนาคต แต่ฝั่งของดีมานด์เป็นสิ่งที่ยากคาดเดา เพราะขึ้นอยู่กับหลายตัวแปรที่สอดคล้องกับปัจจัยแวดล้อมทางเศรษฐกิจ แต่หากประเมินในภาพใหญ่แนวโน้มฝั่งดีมานด์มีโอกาสเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนหลังจากพฤติกรรมของนักลงทุนจำนวนมากหันมาสนใจสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นหนึ่งทางเลือกกระจายความเสี่ยงจากสินทรัพย์หลักมากขึ้น

ตามข้อมูลย้อนหลัง 10 ปีที่ผ่านมามีจำนวนผู้เปิด “Bitcoin Wallet” เพิ่มเป็น 50 ล้าน Bitcoin Wallet และเชื่อว่าภายใน 10 ปีข้างหน้ามีโอกาสจะเพิ่มขึ้นเป็น 1,000 ล้าน Bitcoin Wallet เป็นอัตราการเติบโตแบบก้าวกระโดดอย่างมีนัยสำคัญ

“ผมคิดว่าตัวแปรในอนาคตที่จะสนับสนุนดีมานด์เพิ่มขึ้น อาทิ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) พิมพ์เงินดอลลาร์เพิ่มขึ้น ทำให้มูลค่าดอลลาร์อาจถดถอยในอนาคต แตกต่างกับในอดีตที่เคยมีมุมมองว่าการถือสินทรัพย์เป็นสกุลเงินดอลลาร์คือ “Safe Haven” แต่วันนี้กลับไม่ใช่แล้ว คนหันไปลงทุนสินทรัพย์อื่นแทนเพื่อต้องการกระจายความเสี่ยง หรือแม้แต่กรณีของประเทศเวเนซุเอลาหรืออาร์เจนตินาที่กำลังเผชิญกับปัญหาเงินเฟ้อสูงมากการหันมาเลือกลงทุนในทองคำหรือ Bitcoin แทนเป็นผลพวงด้านบวกฝั่งดีมานด์ที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน”

นายจิรายุส กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 ส.ค. 63)

Tags: , , , , , ,
Back to Top