บมจ.ราชกรุ๊ป (RATCH) เปิดเผยว่า ตามแผนการลงทุนของบริษัทคาดว่าปีนี้จะใช้เงินลงทุนโครงการใหม่และโครงการที่ได้ร่วมลงทุนแล้วประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งในครึ่งปีแรกบริษัทใช้เงินลงทุนไปแล้ว 3.7 พันล้านบาท ส่วนที่เหลือ 1.13 หมื่นล้านบาทจะใช้ลงทุนในช่วงครึ่งปีหลัง โดยบริษัทยังมีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง สามารถรองรับการลงทุนเพิ่มขุ้นในอนาคต เพื่อสร้างมูลค่ากิจการให้เติบโตถึงเป้าหมายที่ 200,00 ล้านบาทในปี 66 ได้อย่างเต็มที่
บริษัทจะเดินหน้าเจรจาร่วมลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงหลักและพลังงานทดแทนต่างประเทศที่มีอยู่ในมือขณะนี้ โดยเฉพาะอินโดนีเซียและเวียดนาม ซึ่งจะสามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้อีก 400 เมกะวัตต์ และบรรลุเป้าหมายปีนี้ 537 เมกะวัตต์ได้ตามแผน
นายกิจจา ศรีพัฑฒางกุระ กรรมการผู้จัดการใหญ่ RATCH กล่าวว่า แผนการดำเนินงานในครึ้งปีหลังนี้ บริษัทฯ วางงบลงทุนไว้ราว 11,300 ล้านบาท เพื่อใช้ในการเข้าซื้อกิจการ (M&A) และร่วมลงทุน (JV) โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างเจรจาในโครงการโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงหลักและพลังงานทดแทนในประเทศอินโดนีเซีย และเวียดนาม คาดว่าจะสามารถปิดดีลได้ จำนวน 2-3 โครงการในครึ่งปีหลังนี้ และน่าจะสามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้อีก 400 เมกะวัตต์ ซึ่งจะส่งผลให้กำลังการผลิตไฟฟ้าปีนี้เพิ่มเป็น 780 เมกะวัตต์ ได้ตามเป้าหมาย จากปัจจุบันอยู่ที่ 243 เมกะวัตต์
นอกจากนี้ก็ยังอยู่ระหว่างศึกษาโอกาสการลงทุนโรงไฟฟ้าชุมชนทั่วไป 600 เมกะวัตต์, ขยายฐานลูกค้าอุตสาหกรรม ส่วนขยายของโรงผลิตไฟฟ้านวนคร เพื่อสร้างรายได้เพิ่ม, ร่วมทุนในธุรกิจจัดหาเชื้อเพลิงชีวมวล (Wood Pallet), ดำเนินการส่วนขยายโรงไฟฟ้าราชโคเจนเนอเรชั่นและเจรจาลูกค้าอุตสาหกรรม คาดว่าจะเสร็จได้ในปี 65 รวมถึงโครงการจัดหาเชื้อเพลิง LNG ซึ่งอยู่ระหว่างรอนโยบายจากรองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงานคนใหม่ว่าจะมีทิศทางเป็นอย่างไร
“เราได้ปรับลดงบลงทุนปีนี้ลงมาเหลือ 15,000 ล้านบาท จากเดิมที่ตั้งเป้าไว้ 20,000 ล้านบาท เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ที่เข้ามา ทำให้การลงทุนจะเน้นในโครงการที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยครึ่งปีแรกใช้เงินไปแล้ว 3,700 ล้านบาท และครึ่งปีหลังจะใช้อีก 11,300 ล้านบาท แบ่งเป็น ในไตรมาส 3 ประมาณ 6,000 ล้านบาท และในไตรมาส 4 อีก 5,300 ล้านบาท” นายกิจจา กล่าว
นายกิจจา กล่าวว่า บริษัทยังตั้งเป้าในปี 66 จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมทั้งสิ้น 10,000 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันอยู่ที่ 8,177.68 เมกะวัตต์ และจะเน้นการเพิ่มสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศเพิ่มมากขึ้นเป็น 50% จากปัจจุบันอยู่ที่ 30% จากการเข้าซื้อกิจการและการร่วมลงทุน โดยคาดใช้งบลงทุนใน 3 ปี (64-66) ราว 15,000 ล้านบาท
ด้านธุรกิจสาธารณูปโภคพื้นฐาน คาดว่าในปี 66 จะมีสัดส่วนรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 20% จากปัจจุบันอยู่ที่ 5-10% เท่านั้น โดยจะมีโครงการที่อยู่ในแผน เช่น โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลือง ที่มีกำหนดแล้วเสร็จในปี 65, โครงการผลิตน้ำปะปา 24,000 ลูกบาศก์เมตร/วัน จำหน่ายให้กับน้ำประปานครหลวง เพื่อจำหน่ายให้กับประชาชนในนครหลวงเวียงจันทน์, โครงการบำรุงรักษา (O&M) ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสาย บางปะอิน-นครราชสีมา และสายบางใหญ่-กาญจนบุรี ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างจัดตั้งบริษัทร่าวมทุน เพื่อดำเนินโครงการ
รวมถึงโครงการโครงข่ายสายใยแก้วนำแสง ร่วมทุนกับบริษัท สมาร์ท อินฟราเนท จำกัด ปัจจุบันอยู่ระหว่างศึกษาและออกแบบองค์ประกอบของเมืองอัจฉริยะ 7 ด้าน ได้แก่ Smart Environment, Smart Governance, Smart Mobility, Smart Energy, Smart Economy, Smart People, Smart Living เป็น ทำให้มั่นใจว่ามูลค่ากิจการของบริษัทเติบโตได้ตามเป้าหมายที่ 200,000 ล้านบาทในปี 66 จากปัจจุบันอยู่ที่ 60,000-80,000 ล้านบาท
นายกิจจา เปิดเผยอีกว่า บริษัทคาดว่ากำไรครึ่งปีหลังนี้จะปรับตัวดีขึ้นจากครึ่งปีแรก ที่มีกำไร (ไม่นับรวมผลกระทบจาก FX) อยู่ที่ 2,516.29 ล้านบาท เนื่องจากโรงไฟฟ้าพลังความร้อนหงสา และโรงไฟฟ้าราชบุรีโคเจนเนอเรชั่น กลับมาเดินเครื่องได้ตามปกติแล้ว หลังมีการหยุดเดินเครื่อง เพื่อบำรุงรักษาตามแผน รวม 50-100 วัน ซึ่งคิดเป็นกำลังการผลิตรวม 652 เมกะวัตต์
สำหรับการรับรู้รายได้ในครึ่งปีหลังนี้จะจาก 3 โครงการ ประกอบด้วย 1.โครงการส่วนขยายของโรงไฟฟ้านวนคร กำลังการผลิต 60 เมกะวัตต์ และกำลังผลิตไอน้ำ 10 ตันต่อชั่วโมง ซึ่งจะจำหน่ายไฟฟ้าให้กับลูกค้าในเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมนวนคร กำหนดเดินเครื่องในเดือนก.ย.นี้ 2.โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมยานดิน กำลังการผลิต 214.2 เมกะวัตต์ ในออสเตรเลีย ซึ่งมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับบริษัท Alinta Sales Pty Ltd. เป็นระยะเวลา 15 ปี กำหนดเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ในช่วงพ.ย.นี้ และ 3.โรงไฟฟ้าพลังความร้อน Thang Long ในเวียดนาม หลังจากที่บริษัทลงทุนในกองทุน An Binh Energy and Infrastructure Fund (ABEIF)
บริษัทยังมีแผนออกหุ้นกู้วงเงินประมาณ 5,000-8,000 ล้านบาท ซึ่งจะใช้สำหรับการชำระหนี้เงินกู้ระยะสั้นที่อยู่ในรูปเงินบาท จำนวน 1,250 ล้านบาท และในรูปดอลลาร์อีก 50 ล้านดอลลาร์ ส่วนที่เหลือจะใช้รองรับการลงทุนในโครงการต่างๆ
ขณะที่ผลการดำเนินรอบ 6 เดือนแรกปี 23 บริษัทฯ มีรายได้รวม จำนวน 20,767.79 ล้านบาท ประกอบด้วย รายได้จากการขายและบริการและรายได้ตามสัญญาเช่าการเงินของโรงไฟฟ้าที่บริษัทฯ ควบคุมจำนวน 18,321.55 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 88.22% ส่วนแบ่งกำไรของกิจการร่วมทุนและเงินปันผล 2,194.56 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 10.57% และรายได้จากดอกเบี้ยและอื่นๆ 251.68 ล้านบาท
ฐานะการเงินของบริษัทฯ ณ วันที่ 30 มิ.ย.63 มีสินทรัพย์รวมจำนวน 105,446.18 ล้านบาท หนี้สินจำนวน 46,332.34 ล้านบาท และส่วนของผู้ถือหุ้นจำนวน 59,113.84 ล้านบาท ทั้งนี้ บริษัทฯ ยังมีศักยภาพทางการเงินที่แข็งแกร่ง ซึ่งสะท้อนจากอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อทุน 0.46 เท่า อัตราส่วนความสามารถในการชำระหนี้ (DSCR) 5.77 เท่า และอัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้น 7.97%
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 ส.ค. 63)
Tags: RATCH, กิจจา ศรีพัฑฒางกุระ, ราช กรุ๊ป, หุ้นไทย, โรงไฟฟ้า