โพลชี้ประชาชนอยากให้รัฐบาลฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังวิกฤตโควิด-19 คลี่คลายมากสุด

สวนดุสิตโพล เผยประชาชนอยากให้รัฐบาลฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กลับสู่ภาวะปกติมากที่สุดหลังสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลายด้วยการสร้างงานสร้างอาชีพมากที่สุด ส่วนในระดับชุมชน/ท้องถิ่นให้ช่วยพยุงราคาสินค้าเกษตร และในระดับประเทศอยากให้ส่งเสริมภาคการเกษตร โดยแนวทางที่รัฐบาลควรทำเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจคือเน้นการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ ขณะที่หน่วยงานภาครัฐทุกภาคส่วนควรเข้ามาช่วยกันแก้ปัญหาเศรษฐกิจมากที่สุด

โดยวิธีแก้ปัญหาเศรษฐกิจระดับครัวเรือน 5 อันดับแรก ได้แก่

  • อันดับ 1 สร้างงาน/สร้างอาชีพ 85.75%
  • อันดับ 2 สร้างรายได้ 82.78%
  • อันดับ 3 เพิ่มสวัสดิการ/สิทธิประโยชน์ต่างๆ 64.38%
  • อันดับ 4 พักชำระหนี้ 55.09%
  • อันดับ 5 งดเว้นการชำระดอกเบี้ยเงินกู้ชั่วคราว 52.12%

ส่วนวิธีแก้ปัญหาเศรษฐกิจระดับชุมชน/ท้องถิ่น 5 อันดับแรก ได้แก่

  • อันดับ 1 พยุงราคาสินค้าเกษตร 72.14%
  • อันดับ 2 นำทรัพยากรที่มีมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด/เป็นมูลค่าเพิ่ม 71.51%
  • อันดับ 3 พัฒนาคนในชุมชนให้เข้มแข็ง/มีส่วนร่วม 69.97%
  • อันดับ 4 สร้างงานในพื้นที่ 69.16%
  • อันดับ 5 ควบคุมพ่อค้าคนกลาง 68.17%

ขณะที่วิธีแก้ปัญหาเศรษฐกิจระดับประเทศ 5 อันดับแรก ได้แก่

  • อันดับ 1 ส่งเสริมการเกษตร 76.19%
  • อันดับ 2 ส่งเสริมการส่งออก 75.38
  • อันดับ 3 ส่งเสริมการท่องเที่ยว 73.85%
  • อันดับ 4 สร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน 68.53%
  • อันดับ 5 ส่งเสริมภาคอุตสาหกรรม 62.04%

สิ่งที่ควรทำเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ 5 อันดับแรก ได้แก่

  • อันดับ 1 กระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ 75.20%
  • อันดับ 2 การพัฒนาทักษะ/แรงงานและสร้างอาชีพ 71.87%
  • อันดับ 3 การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว 66.82%
  • อันดับ 4 การพัฒนาด้านคมนาคม/ระบบขนส่ง 58.88%
  • อันดับ 5 การลงทุนด้านสาธารณสุข 55.73%

โดยหน่วยงาน/องค์กรที่ประชาชนอยากให้เข้ามาช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ หน่วยงานภาครัฐ 77.36%, รัฐบาล 70.83%, หน่วยงานภาคเอกชน 70.11%, สถาบันทางการเงินต่างๆ 63.41% และ ภาคประชาชน 63.22%

นายศิริ ชะระอ่ำ ผู้อำนวยการกองวิเทศสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต กล่าวว่า ผลสำรวจข้างต้นสอดคล้องกับผลการวิเคราะห์ของธนาคารโลกที่ระบุถึงมาตรการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจที่เหมาะสมกับประเทศไทย 3 ด้าน คือ

  1. การมุ่งเน้นการสร้างงานภายในประเทศ ด้วยการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เทคโนโลยี และนวัตกรรมเพื่อยกระดับความสามารถทางการแข่งขันของภาคธุรกิจ
  2. การเยียวยาและประคองเศรษฐกิจระดับฐานราก โดยการพัฒนาทักษะของกำลังแรงงาน พัฒนาผลิตภาพทางการผลิตของภาคเกษตร และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนกลุ่มล่าง
  3. การสร้างความยั่งยืนทางธรรมชาติและทรัพยากร ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของภาคการเกษตรและการท่องเที่ยว การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจะเกิดขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป มิใช่ก้าวกระโดด เพราะยังมีปัจจัยภายนอกอื่นๆ ที่ส่งผลต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศไทยเช่นกัน

ทั้งนี้ สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนเรื่อง “ระดมสมองแก้ปัญหาเศรษฐกิจ” จากประชาชนกลุ่มตัวอย่าง 1,109 คน ระหว่างวันที่ 10-14 สิงหาคมที่ผ่านมา

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 ส.ค. 63)

Tags: , , ,
Back to Top