ธปท.ติวเข้มแบงก์ดูแลลูกหนี้หลังสิ้นมาตรการช่วยเหลือ-สั่งทำ Stress Test ใหม่

นายธาริฑธิ์ ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายตรวจสอบและวิเคราะห์ความเสี่ยงสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มองแนวโน้มคุณภาพสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์หลังมาตรการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิดได้สิ้นสุดลงว่า ธปท.ได้หารือกับสถาบันการเงินอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เข้าไปดูแลลูกหนี้ที่มีปัญหาได้อย่างเป็นระบบ

และหากมีมาตรการใดที่ ธปท.จะเข้าไปช่วยเหลือได้ก็จะเข้าไปช่วยดูแล ซึ่งเชื่อว่าจะเห็นสถาบันการเงินยังคงให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ไปอย่างต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์โควิดจะคลี่คลาย ส่วนจะเป็นการช่วยเหลือในรูปแบบใดนั้นขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของลูกหนี้แต่ละประเภท โดยจะไม่ใช้มาตรการช่วยเหลือแบบเหมารวมดังเช่นที่ผ่านมา

“อย่างน้อยในช่วง 2-3 ไตรมาส ก่อนที่โควิดจะคลี่คลาย เราจะยังคงเห็นมาตรการการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ที่ยังมีอยู่ต่อไป แต่ระดับคุณภาพหนี้คงจะยังไม่เสื่อมลงมาก เพราะการปล่อยให้ลูกหนี้ที่ยังมีศักยภาพอยู่ต้องกลายเป็น NPL ในช่วงนี้มันเป็นสิ่งที่น่าเสียดาย” นายธาริตระบุ

ทั้งนี้ แม้ในปัจจุบันระดับเงินกองทุนและเงินสำรองของระบบธนาคารพาณิชย์ยังอยู่ในระดับสูง แต่ ธปท.ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจได้ขอให้สถาบันการเงินนำส่งข้อมูล Stress Test (แผนการทดสอบภาวะวิกฤติ) ที่อยู่ภายใต้สมมติฐานอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ปี 63 หดตัวในกรณีเลวร้ายสุด คือ -13% เข้ามาให้ ธปท.พิจารณาอีกรอบภายในเดือน ต.ค.63 ซึ่งจะเป็นแผนสำหรับการมองไปในอนาคตอย่างน้อย 3 ปีติดต่อกัน (63-65)

เบื้องต้น ธปท.ได้รับข้อมูลในส่วนของปี 63 เรียบร้อยแล้วและไม่มีประเด็นที่น่ากังวล ซึ่งยังเหลือข้อมูลของปี 64-65 และเมื่อได้ข้อมูลครบถ้วนแล้วจะนำมาพิจารณาว่าสถาบันการเงินใดมีความต้องการกันชนที่เพิ่มมากขึ้น ธปท.ก็จะเข้าไปดูแลให้สถาบันการเงินนั้นๆ มีเงินกองทุนและเงินทุนสำรองในระดับที่เหมาะสมต่อไป

ส่วนการจะพิจารณาให้แต่ละสถาบันการเงินสามารถจ่ายเงินปันผลได้หรือไม่นั้น นายธาริต กล่าวว่า หากสถาบันการเงินใดมีเงินกองทุนและสภาพคล่องในระดับที่เพียงพอในระดับปกติ ก็ไม่มีประเด็นน่าเป็นห่วง ดังนั้นอาจไม่จำเป็นต้องไปกำหนดหลักเกณฑ์ในการจ่ายเงินปันผลแล้ว

“ตัวเลขปี 63 ไม่มีประเด็นอะไร แต่เพื่อความชัวร์ เราจะขอดูปี 64, 65 ซึ่งเราจะได้ข้อมูลในเดือนต.ค.นี้ เราจะดูว่าภายใต้ Stress Test มีทุนเหลือเท่าไร ถ้าแบงก์มีเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS) ต่ำกว่า 12% ซึ่งเป็นจุดที่เขาต้องเริ่มช่วยเหลือตัวเอง แต่จะดูว่าเขาจะช่วยเหลือตัวเองอย่างไร เช่น ถ้าเหลือ 10% หรือ 11% แล้วตอบได้ว่าจะออกหุ้น หรือเพิ่มทุน เราก็จะต้องคุยเพิ่มเติม ถ้าไม่มีอะไรน่าห่วง ก็จ่ายเงินปันผลได้” นายธาริฑธิ์ ระบุ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 ส.ค. 63)

Tags: , , , ,
Back to Top