ครม.ให้ใช้ 1.91 พันลบ.ประกันรายได้ผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบโครงการประกันรายได้ผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 63/64 วงเงินรวม 1,913 ล้านบาท และมาตรการคู่ขนานเพื่อสร้างเสถียรภาพราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยเป็นการดำเนินโครงการเหมือนกับโครงการประกันรายได้ในปี 62/63

โดยประกันรายได้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ณ ความชื้น 14.5% ราคากิโลกรัมละ 8.50 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 30 ไร่ในพื้นที่เพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทั่วประเทศและไม่ซ้ำแปลง กำหนดช่วงเวลาเพาะปลูกระหว่างวันที่ 1 มิ.ย.63-31 พ.ค.64 แต่หากเป็นการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่แจ้งการขึ้นทะเบียนเป็นเมล็ดพันธุ์ ก็จะไม่สามารถเข้าร่วมโครงการประกันรายได้นี้

การจ่ายเงินงวดแรก 20 พ.ย.63 และจะจ่ายทุกวันที่ 20 ของเดือน จนถึงวันสิ้นสุดการจ่ายเงินงวดสุดท้ายในเดือนต.ค.64 ใช้แหล่งเงินทุนจาก ธ.ก.ส. และรัฐบาลจะชำระคืนตามที่จ่ายจริงภายใน 1 ปี ทั้งนี้ ระยะเวลาโครงการเริ่มตั้งแต่ 1 พ.ย.63-30 เม.ย.65

สำหรับผลการดำเนินโครงการประกันรายได้ปี 62/63 ข้อมูล ณ วันที่ 3 ก.ค.63 ธ.ก.ส. ได้จ่ายเงินชดเชยส่วนต่างให้เกษตรกรแล้ว 7 ครั้ง จำนวน 207,796 ครัวเรือน คิดเป็น 45.97% ของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทั้งหมด 452,000 ราย รวมเป็นเงิน 606.30 ล้านบาท คิดเป็น 39.05% ของวงเงินจ่ายขาดทั้งหมด (จำนวน 1,552.78 ล้านบาท) คงเหลืองบประมาณจ่ายขาด 946.48 ล้านบาท

สำหรับมาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปี 63/64 รวม 5 มาตรการ คือ

(1) โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปี 63/64 วงเงิน 45 ล้านบาท เป็นการสนับสนุนสินเชื่อแก่สหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร และกลุ่มวิสาหกิจชุมชน เพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนในการรวบรวมรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากเกษตรกร ซึ่งจะช่วยดูดซับปริมาณผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในช่วงที่ผลผลิตออกมามาก วงเงินสินเชื่อ 1,500 ล้านบาท โดยใช้แหล่งเงินทุนจาก ธ.ก.ส. คิดอัตราดอกเบี้ย 4% ต่อปี คิดดอกเบี้ยจากผู้กู้ 1% ต่อปี และรัฐบาลจะเป็นผู้ชดเชยดอกเบี้ยให้ 3% ต่อปี เป็นเวลาไม่เกิน 12 เดือน คิดเป็นงบประมาณชดเชยดอกเบี้ยรวม 45 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินโครงการตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.63 – 30 มิ.ย.65

(2) โครงการชดเชยดอกเบี้ยในการเก็บสต๊อกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปีการผลิต 2563/64 ซึ่งเป็นการดำเนินโครงการในลักษณะเดียวกันกับปีที่ผ่าน วงเงินสินเชื่อ 1,500 ล้านบาท รัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยอัตรา 3% ต่อปี ตามระยะเวลาที่เก็บสต็อกไว้ 60 – 120 วัน คิดเป็นงบประมาณชดเชยดอกเบี้ยรวม 15 ล้านบาท โดยใช้งบประมาณจาก คณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.)

(3) การบริหารจัดการการนำเข้า โดยกำหนดช่วงเวลาการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สำหรับผู้นำเข้าทั่วไป การควบคุมการขนย้ายในพื้นที่ติดชายแดนเพื่อนบ้าน การกำหนดสัดส่วนการนำเข้าข้าวสาลีต่อการรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 1 : 3 และการตรวจสอบการรับรอบนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากประเทศเพื่อนบ้าน

(4) การดูแลความเป็นธรรมในการซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยกำหนดให้ผู้รับซื้อแสดงราคา ณ จุดรับซื้อที่ความชื้น 14.5% และ 30% พร้อมแสดงตารางการเพิ่ม-ลด ราคาตามร้อยละความชื้น และกำหนดให้ใช้เครื่องชั่งน้ำหนัก เครื่องวัดความชื้น ที่มีมาตรฐาน

(5) การดูแลความสมดุล โดยแจ้งปริมาณการครอบครอง การนำเข้า สถานที่เก็บและการตรวจสอบสต๊อก

น.ส.รัชดา กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อให้การดำเนินโครงการเกิดประสิทธิภาพและผู้เข้าร่วมโครงการได้รับประโยชน์สูงสุด ที่ประชุม ครม. ได้มอบหมายให้ กระทรวงพาณิชย์ ดำเนินการเพิ่มเติม คือ 1) กำหนดให้เกษตรกรผู้มีสิทธิได้รับเงินชดเชยตามโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปี 63/64 จะต้องเป็นเกษตรกรที่มีเอกสารสิทธิในที่ดิน หรือหนังสืออนุญาตให้ทำประโยชน์ในที่ดิน หรือมีหนังสือสัญญาเช่าที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ และ 2) กำหนดหลักเกณฑ์การให้สินเชื่อของโครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ปี 63/64 ให้สหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนรับซื้อหรือรวบรวมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เฉพาะรายที่มีเอกสารสิทธิในที่ดิน หรือหนังสืออนุญาตให้ทำประโยชน์ในที่ดิน หรือหนังสือสัญญาเช่าที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 ส.ค. 63)

Tags: , , , ,
Back to Top