ครม.อนุมัติ Soft Loan Plus-ปรับมาตรการเดิม เพิ่มโอกาส SMEs เข้าถึงสินเชื่อมากขึ้น

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบโครงการค้ำประกันสินเชื่อ Portfolio Guarantee Scheme ระยะพิเศษ (Soft Loan Plus) โดยหลักการสำคัญของโครงการนี้ คือ เป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ให้สามารถเข้าถึง พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 (พ.ร.ก.ซอฟท์โลน) ได้มากขึ้น

โดยตั้งเป้าว่าจะต้องมี SMEs เข้าโครงการเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 34,700 ราย และเข้าถึงเงินกู้เฉลี่ยรายละ 1.6 ล้านบาท โดยบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) จะเป็นผู้ค้ำประกันสินเชื่อให้แก่ SMEs วงเงินของโครงการนี้อยู่ที่ 57,000 ล้านบาท ระยะเวลาสูงสุดไม่เกิน 8 ปี และเริ่มต้นค้ำประกันในปีที่ 3 นับจากวันที่ SMEs ได้รับสินเชื่อตาม พ.ร.ก.ซอฟท์โลน ซึ่ง บสย.จะคิดค่าธรรมเนียมการค้ำประกัน 1.75% ต่อปี และการจ่ายค่าประกันชดเชยตลอดโครงการไม่เกิน 30%

“โครงการดังกล่าว ต้องขอรับการชดเชยความเสียหายตามที่เกิดขึ้นจริง คาดว่าจะอยู่ที่ 9,120 ล้านบาท ซึ่งเป็นวงเงินที่ ครม.ได้ให้ความเห็นชอบในวันนี้” น.ส.รัชดาระบุ

ก่อนหน้านี้ ที่ประชุม ครม.เห็นชอบ พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2563 กรอบวงเงิน 5 แสนล้านบาท (พ.ร.ก.ซอฟท์โลน) ที่ให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ช่วยเหลือ SMEs ให้เข้าถึงเงินทุนและสภาพคล่องเพื่อดำเนินธุรกิจต่อไปได้ แต่เนื่องจากพบว่ามี SMEs บางส่วนที่ยังไม่สามารถเข้าถึงเงินกู้ในส่วนนี้ ดังนั้น วันนี้ ครม.จึงได้อนุมัติโครงการ Soft Loan Plus ซึ่งเป็นโครงการใหม่นี้ขึ้นมาเพิ่มเติม

นอกจากนี้ ที่ประชุม ครม.ได้เห็นชอบให้มีการปรับปรุงการดำเนินโครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้มีรายได้ประจำที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ซึ่งก่อนหน้านี้ ครม.ได้มีมติเมื่อวันที่ 24 มี.ค.63 เห็นชอบโครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้มีรายได้ประจำที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (โควิด-19) วงเงิน 20,000 ล้านบาท โดยธนาคารออมสินเป็นผู้ปล่อยสินเชื่อให้กับประชาชนที่มีรายได้ประจำแต่มีรายได้ลดลงหรือขาดรายได้ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากเชื้อไวรัสโควิด-19 วงเงินไม่เกิน 50,000 บาทต่อราย คิดอัตราดอกเบี้ยคงที่ไม่เกิน 0.35% ต่อเดือน ระยะเวลากู้เงินไม่เกิน 3 ปี โดยรับคำขอกู้ถึงวันที่ 30 ธ.ค.63

ทั้งนี้ ณ วันที่ 10 ส.ค.63 ธนาคารออมสินอนุมัติสินเชื่อไปแล้ว 1,012 ล้านบาท โดยยังมีวงเงินสินเชื่อคงเหลืออยู่อีกจำนวน 18,988 ล้านบาท

น.ส.รัชดา กล่าวว่า การปรับปรุงแนวทางการให้ความช่วยเหลือ เพื่อให้การช่วยเหลือประชาชนเป็นไปอย่างทั่วถึงและครอบคลุมประชาชนผู้ประกอบอาชีพทุกกลุ่ม จึงเห็นควรปรับปรุงการดำเนินโครงการ ดังนี้

1) จัดสรรวงเงินจำนวน 10,000 ล้านบาท จากโครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้มีรายได้ประจำที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ให้ธนาคารออมสินดำเนินโครงการสินเชื่อเสริมพลังฐานราก เพื่อปล่อยสินเชื่อให้ครอบคลุมถึงผู้ประกอบการรายย่อย ผู้ประกอบอาชีพอิสระ ผู้มีรายได้ประจำ รวมถึงบุคคลในครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ภัยทางเศรษฐกิจ และภัยทางธรรมชาติ

ทั้งนี้ สำหรับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขอื่น ๆ รวมถึงกรอบวงเงินงบประมาณที่รัฐบาลชดเชย ยังคงเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 มี.ค.63 โดยเพิ่มเติมระยะเวลาปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 6 เดือน (6 งวดแรก) เพื่อบรรเทาภาระให้ลูกค้า

2) จัดสรรวงเงินจำนวน 5,000 ล้านบาท จากโครงการดังกล่าว ให้ธนาคารออมสินดำเนินโครงการ Soft Loan ออมสินฟื้นฟูท่องเที่ยวไทย เพื่อปล่อยสินเชื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs รายย่อยที่เป็นบุคคลธรรมดาในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว และ Supply Chain เช่น ร้านอาหาร ธุรกิจสปา นวดแผนไทย รถรับจ้างนำเที่ยว เกสต์เฮ้าส์ โฮสเทล เป็นต้น วงเงินต่อรายไม่เกิน 500,000 บาท คิดอัตราดอกเบี้ย 3.99% ต่อปี ระยะเวลากู้ 5 ปี ปลอดชำระเงินต้น 1 ปี ทั้งนี้ กรอบวงเงินงบประมาณที่รัฐบาลชดเชยยังคงเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 มี.ค.63

นอกจากนี้ ครม.ยังเห็นชอบการปรับปรุงแนวทางการให้ความช่วยเหลือด้านการเงินแก่ผู้ประกอบการ SMEs อย่างทั่วถึง ซึ่งเดิม คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 7 เม.ย.63 เห็นชอบให้จัดสรรวงเงิน 80,000 ล้านบาท จากมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม จากการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ให้กับธนาคารออมสินเพื่อปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบธุรกิจการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (Non-Bank) โดยตรง ทั้งนี้ ณ วันที่ 10 สิงหาคม 2563 อนุมัติสินเชื่อไปแล้ว 59,857 ล้านบาท

ซึ่งต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 26 พ.ค.63 เห็นชอบการให้ความช่วยเหลือด้านการเงินแก่ผู้ประกอบการ SMEs อย่างทั่วถึง โดยจัดสรรวงเงินจำนวน 10,000 ล้านบาท จากวงเงิน 80,000 ล้านบาท โดยให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อให้กับกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ที่ไม่เคยขอสินเชื่อกับสถาบันการเงินหรือไม่มีสินเชื่อคงค้างกับสถาบันการเงิน ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 ซึ่งเป็นผู้ประกอบการ SMEs ที่มีคุณสมบัติไม่เข้าข่ายตาม พ.ร.ก. Soft Loan ทั้งนี้ ณ วันที่ 10 สิงหาคม 2563 อนุมัติสินเชื่อไปแล้ว 613 ล้านบาท

นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 26 พ.ค.63 จัดสรรวงเงินค้ำประกันสินเชื่อจำนวน 10,000 ล้านบาท จากโครงการ บสย. SMEs สร้างไทย เพื่อให้ บสย. ดำเนินโครงการค้ำประกันสินเชื่อ Portfolio Guarantee Scheme ระยะที่ 8 (PGS 8) เพื่อค้ำประกันสินเชื่อให้แก่กลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ที่ไม่เคยขอสินเชื่อกับสถาบันการเงินหรือไม่มีสินเชื่อคงค้างกับสถาบันการเงิน ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 โดยปัจจุบันยังไม่มีการใช้วงเงินค้ำประกันดังกล่าว

สำหรับการปรับปรุงแนวทางการให้ความช่วยเหลือ เพื่อเพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการ SMEs ทั่วไป สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบสถาบันการเงินได้มากขึ้น จึงเห็นควรปรับปรุงแนวทางการให้ความช่วยเหลือด้านการเงินแก่ผู้ประกอบการ SMEs อย่างทั่วถึง ดังนี้

1.จัดสรรวงเงินจำนวน 10,000 ล้านบาท ให้สำหรับกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ธุรกิจท่องเที่ยวและที่เกี่ยวเนื่อง เนื่องจากเป็นกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของภาครัฐ โดยใช้เงื่อนไขของมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) เดิม ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 มี.ค.63

2.ขยายขอบเขตคุณสมบัติของผู้ประกอบการ SMEs ให้ครอบคลุมถึงผู้ประกอบการ SMEs ทั่วไป ทั้งนี้ เพื่อให้ธนาคารออมสินให้ความช่วยเหลือโดยตรงให้กับผู้ประกอบการ SMEs ทั่วไปได้ จึงเห็นควรแบ่งวงเงินจำนวน 3,000 ล้านบาทให้กับธนาคารออมสินเพื่อปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการ SMEs โดยตรง

3.ขยายขอบเขตคุณสมบัติของผู้ประกอบการ SMEs ให้ครอบคลุมถึงผู้ประกอบการ SMEs ทั่วไป และปรับวงเงินค้ำประกันต่อราย จากเดิมไม่เกิน 100 ล้านบาทต่อราย รวมทุกสถาบันการเงิน เป็นไม่เกิน 20 ล้านบาทต่อรายรวมทุกสถาบันการเงิน เพื่อให้รองรับลูกค้าได้มากขึ้น

4.ขยายกลุ่มเป้าหมายโครงการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโคโรนา (โควิด-19) วงเงิน 10,000 ล้านบาท ของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) โดยขยายกลุ่มเป้าหมายให้ครอบคลุมถึงธุรกิจอื่นที่ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยเน้นการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจขนาดย่อมทั้งบุคลธรรมดาและนิติบุคคล ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สำหรับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขอื่น ๆ ของโครงการ รวมถึงกรอบวงเงินงบประมาณที่รัฐบาลชดเชยยังคงเป็นไปตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 24 มี.ค.63

จากก่อนหน้านี้ ที่มีกลุ่มเป้าหมายเฉพาะแค่ผู้ประกอบการอาชีพอิสระรายย่อยที่เป็นนิติบุคคล ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้แก่ ธุรกิจทัวร์ ธุรกิจสปา ธุรกิจขนส่งที่เกี่ยวเนื่อง (รถทัวร์ รถบัส รถตู้ รถแท็กซี่ เรือนำเที่ยว รถเช่า) บริษัทนำเที่ยว โรงแรม ห้องพัก และร้านอาหารที่มีรายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาทต่อปี

โดยข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 10 ส.ค.63 ธพว. อนุมัติสินเชื่อไปแล้วจำนวน 417 ล้านบาท จึงยังมีวงเงินคงเหลือภายใต้โครงการดังกล่าวอีกจำนวน 9,583 ล้านบาท

นอกจากนี้ ที่ประชุมครม.ยังเห็นชอบให้มีขยายเวลาการดำเนินโครงการค้ำประกันสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการ Micro Entrepreneurs ระยะที่ 3 วงเงิน 15,000 ล้านบาท โดย บสย.ค้ำประกันสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการรายย่อย วงเงินค้ำประกันไม่เกิน 200,000 บาทต่อรายรวมทุกสถาบันการเงิน ซึ่งได้สิ้นสุดการรับคำขอค้ำประกันไปเมื่อวันที่ 23 ก.ค.63

อย่างไรก็ดี เมื่อสิ้นสุดการรับคำขอแล้ว ยังมีวงเงินค้ำประกันโครงการคงเหลืออยู่อีก 2,513 ล้านบาท ดังนั้น เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยให้สามารถได้รับสินเชื่อในระบบสถาบันการเงินได้อย่างทั่วถึงและเพียงพอ จึงเห็นควรขยายระยะเวลารับคำขอค้ำประกันออกไปจนถึงวันที่ 30 ธ.ค.63

คลังอุ้มเอสเอ็มอีเพิ่มเติม

ด้านนายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า แม้ว่ารัฐบาลได้มีมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากเชื้อไวรัสโควิด-19 ออกมาเพื่อบรรเทาผลกระทบอย่างต่อเนื่อง แต่ยังมีผู้ประกอบการ SMEs และประชาชนอีกจำนวนหนึ่งที่ยังเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน

ล่าสุด คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบ เรื่อง การทบทวนมติคณะรัฐมนตรีและเสนอมาตรการช่วยเหลือ SMEs เพิ่มเติม ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ เพื่อแก้ไขปัญหาข้อติดขัดในการดำเนินโครงการเพื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs มีสภาพคล่อง สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างทั่วถึงและเพียงพอ ใน 3 กลุ่ม ได้แก่ 1) กลุ่ม SMEs ทั่วไป 2) กลุ่ม SMEs ท่องเที่ยว และ 3) กลุ่ม SMEs รายย่อยและประชาชน วงเงินสินเชื่อและวงเงินค้ำประกันสินเชื่อรวม 114,100 ล้านบาท

นายลวรณ กล่าวว่า กระทรวงการคลังมั่นใจว่ามาตรการดูแล SMEs เพิ่มเติม จะทำให้การช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs และประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเชื้อไวรัสโควิด-19 เป็นไปอย่างทั่วถึงและเพียงพอ และจะเป็นหนึ่งในกลไกที่สำคัญในการช่วยเหลือและเยียวยาภาคธุรกิจและภาคประชาชนให้ผ่านช่วงวิกฤตนี้ไปได้

โดยกระทรวงการคลังจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และพร้อมที่จะออกมาตรการที่เหมาะสมมาดูแลเศรษฐกิจไทยอย่างทันท่วงที ทั้งนี้ ผู้ประกอบการและประชาชนที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่สถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 ส.ค. 63)

Tags: , , , , , ,
Back to Top