CENTEL ลด CAPEX 5 ปีเหลือ 1.73 หมื่นลบ. คาด RevPar ปีนี้หดตัว 60%

นายรณชิต มหัทธนะพฤทธิ์ รองประธานอาวุโส ฝ่ายการเงินและบริหาร บมจ.โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา (CENTEL) กล่าวว่า เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 บริษัทเน้นการรักษาสภาพคล่อง จึงมีการทบทวนแผนการใช้เงินลงทุนในสินทรัพย์ถาวร หรือ CAPEX ใน 5 ปี (ปี 62-66) เหลือเป็นจำนวน 1.73 หมื่นล้านบาท จากเดิม 1.8 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น ลงทุนธุรกิจอาหาร 4.1 พันล้านบาท และลงทุนธุรกิจโรงแรม 1.32 หมื่นล้านบาท

โดยธุรกิจโรงแรมยังคงค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงครั้งใหญ่ตามแผนในโรงแรมเซ็นทารา แอท เซ็นทรัลเวิลด์ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ สมุย และโรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ หัวหิน ขณะที่โรงแรมใหม่ที่ลงทุนตามแผนที่เมืองโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น, 2 แห่งในมัลดีฟส์ , โรงแรมเซ็นทารา ดูไบ และ โรงแรม โคซี่ เชียงใหม่

ขณะเดียวกันบริษัทก็ยังรักษาวินัยการเงินทำให้มีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) อยู่ที่ 1.7 เท่า ณ สิ้นมิ.ย.63 และหากไม่นับรวมหนี้สินตามสัญญาเช่า อยู่ระดับต่ำที่ 0.8 เท่า และบริษัทมีต้นทุนการเงินเพียง 2.4% ของหนี้สินรวม 2.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นหนี้สินตามสัญญาเช่า จำนวน 1.05 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 37%

นายรณชิต กล่าวว่า ภาพรวมของบริษัทในปี 63 หากไม่มีการระบาดโควิด-19 รอบที่สอง คาดว่าสถานการณ์จะค่อย ๆ ดีขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งธุรกิจโรงแรมเริ่มคลายล็อกในเฟสที่ 5 ตั้งแต่เดือน พ.ค.คาดว่า ในปีนี้อัตราการเข้าพักเฉลี่ย ประมาณ 30-35%ไม่รวมโรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ บีชรีสอร์ท สมุยและโรงแรม โคซี่ พัทยา วงศ์อมาตย์บีช เพิ่งเปิดปลายปี 62 และรายได้ต่อห้องพักเฉลี่ย (RevPar)จะลดลงประมาณ 60%

ส่วนธุรกิจอาหารค่อนข้างได้รับการตอบรับดีซึ่งธุรกิจกลับมาเกือบ 90%แล้ว บริษัทคาดว่าในปี 63 ยอดขายสาขาเดิม (SSS) จะหดตัวประมาณ 16-18% จากปีก่อน และยอดขายรวมทุกสาขา (TSS) ลดลง 12% เมื่อเทียบกับปีก่อน ส่วนการเติบโตของจำนวนสาขา บริษัทคาดว่าจะมีจำนวนสาขาเพิ่มขึ้น 50-70 สาขาจากปีที่แล้ว

นายรถณชิต คาดว่าการจับคู่ประเทศเที่ยว (Travel Bubble) น่าจะเห็นในปีหน้า เพราะต้องรอให้สาธารณสุขแต่ละประเทศมั่นใจว่าจะควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ได้ รวมทั้งรอการผลิตวัคซีน

ส่วนจำนวนโรงแรมจากนี้ไปคาดว่าจะไม่มีเพิ่มขึ้น และในช่วงที่เกิดวิกฤติ หลายโรงแรมก็เลิกกิจการไปมาก ประกอบกับพฤติกรรมนักท่องเที่ยวในประเทศที่พอใจกับการเดินทางไปท่องเที่ยวที่สามารถขับรถไปได้เอง ยังไม่ค่อยเดินทางโดยเครื่องบิน ก็ทำให้สถานที่ท่องเที่ยวที่ขับรถไปถึงได้รับความนิยม ทั้งนี้ บริษัทคาดว่าจะกลับมาเทิร์นอะราวด์ได้ในระยะกลางและระยะยาว

นายกันย์ ศรีสมพงษ์ ผู้ช่วยรองประธานฝ่ายการเงินและบริหารสินทรัพย์ CENTEL กล่าวว่า พอร์ตโรงแรมในสิ้นไตรมาส 2/63 มีจำนวนห้องพักโรงแรมทั้งสิ้น 16,984 ห้อง แม้จะมีสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 แต่บริษัทก็ยังพยายามหาดีลใหม่ๆ เพื่อเพิ่มเติมจำนวนโรงแรมในพอร์ต

ปัจจุบัน โรงแรมที่เปิดบริการภายใต้แบรนด์”เซ็นทารา”มี 41 แห่ง จำนวน 7,647 ห้อง เป็น 18 แห่งที่เป็นเจ้าของเอง มีจำนวนห้อง 4,457 ห้อง และเข้าบริหารโรงแรม 23 แห่ง จำนวนห้อง 3,190 ห้อง ส่วนโรงแรมที่อยู่ระหว่างพัฒนามี 39 แห่ง รวมจำนวน 9,337 ห้อง ซึ่งเข้าบริหารโรงแรมมากกว่า หากเปิดดำเนินการได้จะทำให้มีจำนวนห้องเพิ่มเป็น 16,984 ห้องซึ่งสัดส่วนโรงแรมที่ลงทุนเองลดลงจาก 58% เหลือ 36% และจะกระจายไปต่างประเทศมากขึ้น จากที่กระจุกตัวในไทย 86% เหลือ 51%

ทั้งนี้ โรงแรมที่อยู่ระหว่างพัฒนากระจายไปกลุ่มประเทศ AEC แถบตะวันออกกลาง และมหาสมุทรอินเดีย โดยโรงแรมที่ลงทุนในดูไบ (607 ห้อง) เลื่อนเปิดดำเนินการเป็นไตรมาส 4/64 โรงแรมโคซี่ในไทย (147 ห้อง) เปิดดำเนินการในปี 65 โรงแรมในโอซาก้า (515 ห้อง) และในมัลดีฟส์ (310 ห้อง) คาดยังคงแผนเปิดในปี 66

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 ส.ค. 63)

Tags: , , ,
Back to Top