กฟผ.จัดเวทีประชุมรับฟังความคิดเห็นโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ (ส่วนเพิ่ม) ระยะที่ 1

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดย บริษัท ซีคอท จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาได้จัดเวทีประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 ต่อการจัดทำร่างรายงานและมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม ในรายงาน EIA (Environmental Impact Assessment) โครงการโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ (ส่วนเพิ่ม) ระยะที่ 1

โดยมีประชาชนในพื้นที่ศึกษาโครงการฯ ส่วนราชการ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา องค์กรพัฒนาเอกชน ผู้นำศาสนา สื่อมวลชน และประชาชนที่สนใจเข้าร่วมรับฟังความคิดเห็น จำนวน 635 คน มีผู้แสดงความคิดเห็นด้วยวาจา จำนวน 12 คน

น.ส.ทิพย์อาภา ยลธรรม์ธรรม ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดนนทบุรี กล่าวว่า พลังงานไฟฟ้านับเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาของประเทศ ซึ่งภาคอุตสาหกรรม ภาคการผลิต ภาคการบริการ รวมทั้งการดำเนินชีวิตของคนในยุคปัจจุบันล้วนพึ่งพาพลังงานไฟฟ้าทั้งสิ้น การพัฒนาโครงการใด ๆ ควรปฏิบัติตามมาตรการในรายงาน EIA และดูแลเศรษฐกิจในภาพรวม คุณภาพชีวิต สังคม สิ่งแวดล้อม เพื่อคนรุ่นหลังต่อไป

น.ส.ทิพย์อาภา ยลธรรม์ธรรม ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดนนทบุรี

สำหรับการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 ของโครงการโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ (ส่วนเพิ่ม) ระยะที่ 1 ในครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อให้ประชาชนได้ร่วมตรวจสอบความถูกต้องและความครบถ้วนสมบูรณ์ของร่างรายงานฯ รวมถึงได้รับทราบข้อมูล ข้อเท็จจริง เปิดโอกาสรับฟังข้อคิดเห็น อันแสดงถึงการมีส่วนร่วมในการพัฒนาโครงการร่วมกับ กฟผ.ต่อไป

นายขรรชัย เกรียงไกรอุดม ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม บริษัท ซีคอท จำกัด กล่าวว่า การจัดรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ บริษัทฯ ได้นำเสนอรายละเอียดโครงการ ผลการศึกษาการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและมาตรการติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมในทุกมิติ พร้อมเปิดโอกาสให้ประชาชนในพื้นที่ศึกษาโครงการฯ

นายขรรชัย เกรียงไกรอุดม ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม บริษัท ซีคอท จำกัด

รวมถึงผู้มีส่วนได้เสียและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมตรวจสอบความถูกต้องและความครบถ้วนสมบูรณ์ของร่างรายงานฯ รวมถึงแสดงข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะเพิ่มเติมจากการจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2563 และได้ดำเนินการสำรวจและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ในขั้นตอนการประเมินและจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม เมื่อเดือนมีนาคม ถึงเดือนกรกฎาคม 2563

สำหรับการจัดรับฟังความคิดเห็นในครั้งที่ 2 สิ่งที่ประชาชนยังมีความกังวล ได้แก่ การดูแลผลกระทบสิ่งแวดล้อม ด้านคุณภาพอากาศ ฝุ่น เสียงจากการก่อสร้าง การจัดการน้ำที่ระบายออกจากโรงไฟฟ้า การดูแลมลภาวะที่เกิดจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้า การเปิดโอกาสให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารกองทุนพัฒนาโรงไฟฟ้า ฯลฯ ซึ่งทุกข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะของประชาชนจะเป็นประโยชน์ในการนำไปปรับปรุงรายงานการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ (ส่วนเพิ่ม) ระยะที่ 1 ให้มีความครบถ้วนสมบูรณ์ เพื่อนำเสนอสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) พิจารณาต่อไป

ด้านนางศรีวรรณ บูรณโชคไพศาล ผู้ช่วยผู้ว่าการแผนงานโรงไฟฟ้า กฟผ. กล่าวว่า กฟผ. และบริษัทที่ปรึกษาจะรวบรวมความเห็น จะจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้มีความสมบูรณ์และครอบคลุมเหมาะสมกับประชาชนในพื้นที่ให้มากที่สุด

สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ (ส่วนเพิ่ม) ระยะที่ 1 เป็นโครงการที่ถูกบรรจุไว้ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 – 2580 หรือ PDP2018 เพื่อเป็นการเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้าในระยะยาวของเขตนครหลวงและปริมณฑล ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของประเทศ ประกอบกับโรงไฟฟ้าเดิมที่มีอยู่จะหมดอายุ และทยอยถูกปลดออกจากระบบ จึงจำเป็นต้องมีกำลังผลิตไฟฟ้าในพื้นที่ให้เพียงพอต่อความต้องการเพราะหากเกิดเหตุสุดวิสัยอาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของระบบไฟฟ้าได้

ดังนั้น กฟผ. จึงได้พัฒนาโครงการฯ เพื่อเสริมความมั่นคงและตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น โดยโครงการโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ (ส่วนเพิ่ม) ระยะที่ 1 มีกำลังผลิตติดตั้งสูงสุด 830 เมกะวัตต์ ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง มีกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (Commercial Operation Date: COD) ในปี พ.ศ. 2571 โดยจะก่อสร้างบริเวณพื้นที่โรงไฟฟ้าพระนครเหนือปัจจุบัน ณ สำนักงานกลาง กฟผ. อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี เนื่องจากมีความพร้อมในด้านพื้นที่และระบบส่งไฟฟ้าที่มีอยู่เดิม ทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้ามีราคาถูกลง จึงไม่เป็นภาระค่าไฟฟ้าของประชาชน

ทั้งนี้ ประชาชนทุกภาคส่วนสามารถแสดงความคิดเห็นต่อเนื่องได้จนถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2563

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 ส.ค. 63)

Tags: , , , ,
Back to Top