JMT-SINGER เข้าคำนวณดัชนี FTSE มีผล 18 ก.ย.นี้

ธุรกิจ H2/63 มีแนวโน้มดีต่อเนื่อง

นายสุทธิรักษ์ ตรัยชิรอาภรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส (JMT) เปิดเผยว่า FTSE Global ประกาศผลการทบทวนรายชื่อหลักทรัพย์ชุดใหม่ที่จะใช้ในการคำนวณ FTSE Global Index มีผลวันที่ 18 กันยายน 2563 นี้เป็นต้นไป

JMT ถูกคัดเลือกเข้าร่วมคำนวณดัชนี FTSE SET Small Cap Index สะท้อนเป็นหุ้นที่มีคุณสมบัติโดดเด่นด้วยมาตรฐานการคำนวณดัชนีในระดับสากล โดย JMT เป็นผู้นำในธุรกิจบริหารหนี้ด้อยคุณภาพแบบไม่มีหลักประกันรายใหญ่ของประเทศ มีผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่ง ล่าสุดงวดไตรมาส 2/63 โชว์กำไรสุทธิทำสถิติกำไรรายไตรมาสสูงที่สุดของบริษัทฯ อย่างต่อเนื่องอีกครั้ง แม้ในปีนี้ทั่วโลกต้องเผชิญสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19

ชูจุดเด่น JMT เป็นธุรกิจที่แข็งแกร่งในทุกสภาวะเศรษฐกิจ เพราะเมื่อเศรษฐกิจไม่ดีเป็นโอกาสซื้อหนี้เข้ามาบริหารเพิ่ม ได้อานิสงส์ในแง่การเติบโตของพอร์ตหนี้ที่มีคุณภาพ และจะกลับมาสร้างกระแสเงินสดอย่างต่อเนื่องในอนาคตเมื่อเศรษฐกิจดี โดยปัจจุบัน มีพอร์ตหนี้ด้อยคุณภาพรวมประมาณ 189,156 ล้านบาท

มุมมองปีนี้แม้ได้รับปัจจัยภายนอกมากระทบ จากความไม่แน่นอนของภาพรวมเศรฐกิจ แต่ JMT ก็ยังคงความสามารถในการบริหารจัดการได้อย่างดีเยี่ยม ทั้งแนวโน้มการประมูลซื้อหนี้ที่เพิ่มขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง และยอดการจัดเก็บ (Cash Collection) เตรียมทำสถิติใหม่ๆ สร้างความสนใจให้นักลงทุนทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ

ด้านนายกิตติพงศ์ กนกวิไลรัตน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ซิงเกอร์ประเทศไทย (SINGER) เปิดเผยว่า บริษัทฯ ติดโผหลักทรัพย์เข้าใหม่ที่เข้าร่วมคำนวณดัชนี FTSE SET Micro Cap Index มองมีส่วนสำคัญในการให้น้ำหนักการลงทุนของนักลงทุนประเภทสถาบัน กองทุน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ สะท้อนความสำเร็จในการปรับโครงสร้างองค์กร ให้เข้าสู่ระบบที่มีมาตรฐาน และการอนุมัติสินเชื่อจากส่วนกลาง ทำให้ในปีนี้ SINGER ทำผลงานได้อย่างโดดเด่น ในไตรมาส 2/63 ทำสถิติสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์ในรอบ 23 ปี และแนวโน้มจะดีต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีหลัง

อีกทั้ง SINGER เป็นบริษัทที่มีอายุเก่าแก่กว่า 130 ปี แต่สามารถปรับโมเดลธุรกิจนำเทคโนโลยีเข้ามาสนับสนุน มีจุดเด่นในรูปแบบการขายตรงผ่านตัวแทนขายซิงเกอร์ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ ราว 2,000 ราย และมีสาขาแฟรนไชส์ราว 1,500 แห่ง ครอบคลุม 579 อำเภอ ทำให้ไม่กระทบสถานกาณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และสามารถสร้างการเติบโตได้อย่างน่าประทับใจ กระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจไทยลงไปถึงระดับรากหญ้า

ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 63 บริษัทฯ มีพอร์ตสินเชื่อรวมอยู่ที่ 4,657 ล้านบาท แบ่งเป็นพอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อ (Hire Purchase) ร้อยละ 53.6 และพอร์ตสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นประกัน ภายใต้ชื่อ รถทำเงิน (C4C) ร้อยละ 46.4 คาดครึ่งปีหลังภาพรวมการเติบโตจะยังดีต่อเนื่อง ตั้งเป้าพอร์ตสินเชื่อรวมปีนี้วางไว้แตะ 5,800 ล้านบาท รับปัจจัยบวกหลังจัดทัพองค์กรสำเร็จ ซึ่งจะสนับสนุนให้ SINGER พุ่งทะยานต่อ ด้วยเป้าหมายการเติบโตอย่างยั่งยืน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 ส.ค. 63)

Tags: , , , , , ,
Back to Top