PTT คาดดีมานด์ก๊าซฯปีนี้หดแรงก่อนเข้าสู่ปกติกลางปี 64

ไม่นำเข้า LNG spot เพิ่มปีนี้

นายวุฒิกร สติฐิต รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บมจ.ปตท. (PTT) เปิดเผยว่า แนวโน้มความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติในปีนี้จะอยู่ที่ราว 4,500-4,600 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ลดลง 9-10% จากระดับเกือบ 5,000 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วันในปีที่แล้ว หลังการใช้ก๊าซฯในภาคการผลิตไฟฟ้า ซึ่งเป็นพอร์ตใหญ่ที่สุด ลดลง 8-9% ตามภาวะเศรษฐกิจไทยหดตัวลงหลังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

อย่างไรก็ตาม แม้ขณะนี้สถานการณ์โควิด-19 ในประเทศมีแนวโน้มคลี่คลาย แต่กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังกลับมาดำเนินการได้ไม่เต็มที่นัก ทำให้ความต้องการใช้ก๊าซฯไม่ได้ฟื้นตัวขึ้นมาก อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าเมื่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและภาคการผลิตเร่งตัวขึ้น ก็จะส่งผลให้ความต้องการใช้ก๊าซฯกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้ตั้งแต่ช่วงกลางปีถึงปลายปี 64

“ปีที่แล้ววอลุ่มเฉลี่ยอยู่ที่เกือบ 5 พัน ถ้าถามว่าดีมานด์ลดลงไปเท่าไหร่ก็น่าจะ 9-10% ไฟฟ้าเป็น portion ใหญ่สุด ไฟฟ้าลดลงไป 8-9% จนถึงประมาณครึ่งปี สภาพตลาดก๊าซฯน่าจะกลับมาตามสภาพเศรษฐกิจก็ประมาณกลางปีหน้า ปลายปีหน้า พวกนี้ก็คิดว่าวอลุ่ม LNG ก็น่าจะปริมาณมากขึ้นด้วยในช่วงนั้น เมื่อก่อนช่วงต้มยำกุ้ง ซับไพร์ม ก็ลดลงตามสภาพตลาด วันนี้ก็เป็นการปรับฐาน แต่พวกนี้ถ้ากลับมาก็เร็ว เพราะพวกโรงงานที่ลดกำลังการผลิตตอนนี้ยังไม่เห็นกลับมา 100% แต่ก็ดีกว่าตอนล็อกดาวน์ แต่ยังไม่ได้กลับมาปกติ คาดว่าจะเห็นปกติคือกลางปีหน้าปลายปีหน้า”

นายวุฒิกร กล่าว

ทั้งนี้ หน่วยงานด้านเศรษฐกิจของไทยต่างคาดการณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ในปีนี้จะหดตัวแรงจากสถานการณ์โควิด-19 โดยสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดการณ์ว่า GGP ปีนี้จะหดตัว -7.5% ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดการณ์ GDP จะหดตัว -8.1% ในปีนี้ และกลับมาเติบโต +5% ในปี 64

ความต้องการใช้ก๊าซฯที่ลดลง ประกอบกับสถานการณ์ราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ในตลาดจร (spot) ที่ลดต่ำลงมาก ทำให้ ปตท.ในฐานะที่เป็นผู้ซื้อก๊าซฯหลักของประเทศ จำเป็นต้องเกลี่ยการเรียกรับซื้อก๊าซฯจากแหล่งในอ่าวไทย เพื่อนำเข้า LNG spot เข้ามาทดแทน เพื่อเกลี่ยต้นทุนผลิตไฟฟ้าให้ลดต่ำลง

แต่การเรียกรับซื้อก๊าซฯจากในประเทศนั้นยังเป็นไปตามเงื่อนไขสัญญาซื้อขายก๊าซฯระยะยาวที่มีการกำหนดปริมาณขั้นต่ำในการรับก๊าซฯไว้ล่วงหน้าตามสัญญา (DCQ) ซึ่งในช่วงครึ่งแรกปีนี้บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ดำเนินการแหล่งก๊าซฯหลักในอ่าวไทย ได้รับผลกระทบจากการถูกเรียกรับซื้อก๊าซฯในปริมาณที่ลดลง

นายวุฒิกร กล่าวว่า ตั้งแต่ต้นปีนี้จนถึงปัจจุบัน ปตท. นำเข้า LNG spot เข้ามาแล้ว 7 ลำเรือ คิดเป็นปริมาณ 4-5 แสนตัน โดยมีราคานำเข้าเฉลี่ยราว 2.50 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู จากเป้าหมายที่จะนำเข้า 11 ลำเรือในปีนี้ หรือกว่า 7 แสนตัน แต่คาดว่าหลังจากนี้จนถึงสิ้นปี ความจำเป็นในการนำเข้า LNG ลดลงไป เนื่องจากราคา LNG spot ปรับตัวขึ้นแรงมาที่กว่า 4 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียูในขณะนี้ จากโครงการผลิต LNG บางแห่งในออสเตรเลียหยุดดำเนินการ แต่อย่างไรก็ตาม ยังต้องดูสภาพตลาดและนโยบายภาครัฐประกอบกันด้วย ซึ่งหาก ปตท.ไม่นำเข้า LNG spot เข้ามาเพิ่มเติมก็จะทำให้ไม่มีความจำเป็นต้องลดการเรียกรับก๊าซฯจากอ่าวไทยเพิ่มเติมด้วยเช่นกัน

“ยังตอบไม่ได้ว่าจะนำเข้าหรือไม่นำเข้า อาจจะอยู่ที่นโยบายด้วย และดีมานด์ ถ้ากลับมาหรือราคาลงไปอีก แต่ถ้าสถานการณ์ปกติ เราก็มอนิเตอร์ตลอด ถ้าถามวันนี้ ราคาแบบนี้ เราก็ว่าไม่น่าสนใจ ราคาก๊าซฯอ่าวไทยประมาณ 6 เหรียญ/ล้านบีทียู ใกล้เคียงกับ LNG ตามสัญญาระยะยาว ราคาใกล้กันเคียงกันทั้งก๊าซฯพม่า อ่าวไทย…สภาพจริงๆที่เราลดก๊าซฯจากอ่าวไทย เราไม่ได้ลดช่วงปลายปี เดิมที่เคยดูนำเข้า 11 ลำก็ประมาณแค่กันยา เพราะปลายปี พฤติกรรมราคา LNG ช่วงไตรมาสสุดท้าย เป็นหน้าหนาว ราคาสูง โดยธรรมชาติเราก็เลยคาดว่าจะทำแค่เดือนกันยา”

นายวุฒิกร กล่าว

นายวุฒิกร กล่าวว่า สำหรับการจัดหาก๊าซฯของ ปตท.มาจาก 3 ส่วน ได้แก่ ก๊าซฯในอ่าวไทย ราว 70% ,ก๊าซฯจากเมียนมา ราว 12-15% ส่วนที่เหลือเป็นการนำเข้า LNG ในส่วนสัญญาระยะยาว ยังคงเป็นไปตามแผนนำเข้า 5.2 ล้านตัน/ปี ซึ่งในปีนี้ก็นำเข้ามาเกือบทั้งหมดแล้ว หรือคิดเป็นปริมาณราว 700 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน และนำเข้า LNG spot ราว 4-5 แสนตัน หรือราว 56-70 ล้านลูบาศก์ฟุต/วัน นับเป็นปริมาณที่ไม่มากนัก

ขณะที่ปัจจุบัน ปตท.ยังอยู่ระหว่างการก่อสร้างสถานีรับ-จ่าย LNG ที่หนองแฟบ ในจ.ระยอง เพื่อรองรับการนำเข้า LNG ในปริมาณ 7.5 ล้านตัน/ปี ซึ่งจะแล้วเสร็จในปี 65 เมื่อรวมกับสถานีรับ-จ่าย LNG แห่งแรกที่มาบตาพุด ก็จะทำให้ปตท.มีขีดความสามารถในการรับ-จ่าย LNG รวม 19 ล้านตัน/ปี หรือราว 2,660 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วันในปี 65 เพียงพอรองรับความต้องการใช้ก๊าซฯในช่วงเวลาดังกล่าว แม้หากเกิดกรณีที่การเปลี่ยนผ่านผู้ดำเนินการของแหล่งก๊าซฯเอราวัณที่จะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในช่วงปี 65-66 มีปัญหาจนทำให้การผลิตก๊าซฯอาจไม่ต่อเนื่องและล่าช้าก็ตาม

สำหรับแผนการลงทุนอื่น ๆ ของกลุ่มธุรกิจก๊าซฯ ปตท. ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน อย่างระบบท่อส่งก๊าซฯนั้น ยังคงเป็นไปตามแผนไม่ได้มีการชะลอลงทุนแต่อย่างใด เพราะเชื่อว่าการลงทุนดังกล่าวจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ โดยล่าสุดยังมีโครงการที่อยู่ระหว่างรอการเสนอต่อคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) และคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เช่น โครงการท่อส่งก๊าซฯไปจ.ขอนแก่น และท่อส่งก๊าซฯระหว่างโรงไฟฟ้าบางปะกงไปยังโรงไฟฟ้าพระนครใต้ เพื่อรองรับการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเพื่อความมั่นคงอย่างโรงไฟฟ้าน้ำพอง ในจ.ขอนแก่น

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 ส.ค. 63)

Tags: , , , , , ,
Back to Top