บอร์ดกองทุนอนุรักษ์ฯ อนุมัติงบฯกว่า 2 พันลบ. ให้ 1,035 โครงการ เน้นโครงการพลังงานเพื่อเศรษฐกิจฐานราก

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน เพื่อพิจารณาอนุมัติโครงการที่ขอรับการสนับสนุนเงินจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ประจำปีงบประมาณ 2563 และได้มีมติอนุมัติโครงการ จำนวน 1,035 โครงการ วงเงินที่ให้การสนับสนุน 2,066,735,701 บาท โดยแบ่งเป็น 2 แผนงาน ดังนี้

1.แผนเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน อนุมัติทั้งหมด 16 โครงการ กรอบวงเงินสนับสนุน 535,799,514 บาท ประกอบด้วย (1) กลุ่มงานตามกฎหมาย จำนวน 4 โครงการ (2) กลุ่มงานศึกษา ค้นคว้าวิจัย เพื่อการพัฒนาและส่งเสริม จำนวน 1 โครงการ (3) กลุ่มงานสื่อสาร และข้อมูล ข่าวสาร จำนวน 5 โครงการ (4) กลุ่มงานพัฒนาบุคลากร จำนวน 2 โครงการ และ (5) กลุ่มงานสนับสนุนลดต้นทุน ยกระดับคุณภาพชีวิต เพิ่มเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งแบ่งเป็นโครงการพลังงานเพื่อเศรษฐกิจฐานราก นโยบายพลังงานเพื่อทุกคน (Energy for all) จำนวน 2 โครงการ ซึ่งสนับสนุนในรูปแบบเงินก้อน (Block grant) และโครงการทั่วไป จำนวน 2 โครงการ

2.แผนพลังงานทดแทน อนุมัติทั้งหมด จำนวน 1,019 โครงการ กรอบวงเงินสนับสนุน 1,530,936,187 บาท ประกอบด้วย (1) กลุ่มงานศึกษา ค้นคว้าวิจัย เพื่อการพัฒนาและส่งเสริม จำนวน 1 โครงการ (2) กลุ่มงานสื่อสาร และข้อมูล ข่าวสาร จำนวน 4 โครงการ และ (3) กลุ่มงานสนับสนุนลดต้นทุน ยกระดับคุณภาพชีวิต เพิ่มเศรษฐกิจฐานรากและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ซึ่งแบ่งเป็นโครงการ Energy for all จำนวน 41 โครงการ

โดยสนับสนุนในรูปแบบ Block grant และโครงการทั่วไป ซึ่งมี 3 ประเภท คือ โครงการติดตั้งระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อการเกษตร จำนวน 968 โครงการ, โครงการระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ จำนวน 1 โครงการ, โครงการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์สำหรับโรงเรียนในชนบทประเภทไม่มีไฟฟ้า จำนวน 2 โครงการ และโครงการพระราชดำริ จำนวน 2 โครงการ

โดยให้หน่วยงานมาลงนามในหนังสือยืนยันกับ สำนักงานบริหารกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน (ส.กทอ.) ภายในวันที่ 28 กันยายน 2563 หากหน่วยงานไม่สามารถมาลงนามได้ทันภายในระยะเวลาที่กำหนดดังกล่าว ให้ถือว่าโครงการนั้นเป็นอันยุติการได้รับการสนับสนุน สำหรับวันเริ่มต้นโครงการให้ถือเป็นวันที่ 29 กันยายน 2563

รวมถึงที่ประชุมได้มอบหมายให้หน่วยงานผู้ได้รับการสนับสนุนโครงการภายใต้กลุ่มงานสนับสนุน ลดต้นทุนฯ ของแผนเพิ่มประสิทธิภาพฯ และแผนพลังงานทดแทน ดำเนินการ ดังนี้

1.จัดส่งเอกสารตามเงื่อนไขการจัดทำข้อเสนอโครงการ ข้อที่ 2 ข้อมูลด้านผลประหยัด หรือระยะเวลาคืนทุน หรือข้อมูลความคุ้มค่าของการดำเนินโครงการ (B/C Ratio) ข้อที่ 6 แผนการสร้างมูลค่า เพิ่มผลผลิตทางเศรษฐกิจ และข้อที่ 7 แผนการบำรุงรักษา ให้ ส.กทอ. ก่อนลงนามในหนังสือยืนยัน

2.โครงการผลิตไฟฟ้าเพื่อชุมชนพึ่งพาตนเอง (Off Gird) ทุกโครงการ ให้ผู้ได้รับการสนับสนุนดำเนินการขออนุญาตใช้พื้นที่ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้แล้วเสร็จ พร้อมจัดส่งหนังสือใบอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในโครงการที่ได้รับการจัดสรรจากหน่วยงานเจ้าของพื้นที่ ให้ส.กทอ. ภายในวันที่ 15 กันยายน 2563 หรือในวันที่มาลงนามในหนังสือยืนยันกับ ส.กทอ.

3.ให้ผู้ได้รับการสนับสนุน (จังหวัด) โครงการพลังงานเพื่อเศรษฐกิจฐานรากฯ แจงมติให้กับผู้เข้าร่วมโครงการ และดำเนินการลงนามในหนังสือยืนยันพร้อมก่อหนี้ผูกพันให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 135 วัน นับจากวันที่ 28 กันยายน 2563 หากไม่สามารถก่อหนี้ผูกพันได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด ให้ถือว่าโครงการเป็นอันยกเลิก

4.โครงการติดตั้งระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อการเกษตร จะต้องได้รับการตรวจสอบพื้นที่ภัยแล้งย้อนหลัง 5 ปี ยืนยันเรื่องความซ้ำซ้อนของผู้ใช้ประโยชน์ พื้นที่ที่ได้รับประโยชน์จากสำนักงานพลังงานจังหวัดและต้องได้รับการยืนยันความถูกต้องของเอกสารใบอนุญาตให้ใช้น้ำบาดาล (นบ.5) จากสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด ก่อนลงนามในหนังสือยืนยันกับ ส.กทอ.

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 ส.ค. 63)

Tags: , , ,
Back to Top