พาณิชย์ไฟเขียวยุทธศาสตร์ข้าวไทยปี 63-67 ชูวิสัยทัศน์”ตลาดนำการผลิต”ชงเข้า นบข.

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะอนุกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ข้าวไทย มีมติเห็นชอบยุทธศาสตร์ข้าวไทยปี 63-67 กำหนดวิสัยทัศน์ให้ไทยเป็นผู้นำการผลิต การตลาดข้าว และผลิตภัณฑ์ข้าวคุณภาพของโลก

โดยใช้ยุทธศาสตร์ “ตลาดนำการผลิต” จัดกลุ่มข้าวไทยเป็น 7 ชนิดตามความต้องการของตลาด คือ ตลาดพรีเมียม สำหรับทำตลาดข้าวหอมมะลิไทย ข้าวหอมไทย, ตลาดทั่วไป ข้าวขาวพื้นนุ่ม ข้าวขาวพื้นแข็ง ข้าวนึ่ง และ ตลาดเฉพาะ ข้าวเหนียว ข้าวคุณลักษณะพิเศษ เช่น ข้าวสีชนิดต่างๆ

สำหรับยุทธศาสตร์ดังกล่าวกำหนดพันธกิจ 4 ด้าน คือ ด้านการตลาดต่างประเทศ ด้านตลาดในประเทศ ด้านการผลิต และด้านผลิตภัณฑ์และนวัตกรรม ซึ่งแต่ละด้านจะมีแผนงานที่ชัดเจน โดยจากนี้จะเร่งสรุปแผนเพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) และนำเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในเร็วๆ นี้

นายจุรินทร์ กล่าวว่า แผนการทำงานด้านการตลาดต่างประเทศจะมุ่งพัฒนาข้าวพันธุ์ใหม่ๆ ที่สนองตอบต่อความต้องการที่หลากหลาย โดยเฉพาะข้าวพื้นนุ่มที่ตลาดต้องการมากในปัจจุบัน และจะเร่งเพิ่มประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์ เพื่อลดต้นทุนด้านการส่งออกให้สามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก ส่วนตลาดในประเทศจะสร้างความสมดุลระหว่างความต้องการบริโภคและการผลิต โดยใช้การตลาดนำการผลิต ซึ่งจะร่วมมือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และช่วยบริหารจัดการข้าว ทั้งการเชื่อมโยงการซื้อขายข้าว และการจำหน่าย

ขณะที่ด้านการผลิต จะลดต้นทุนการผลิตให้เหลือไม่เกิน 3,000 บาท/ไร่ ภายใน 5 ปี, เร่งเพิ่มพันธุ์ข้าวใหม่ไม่น้อยกว่า 12 พันธุ์ โดยมีข้าวพื้นนุ่ม 4 พันธุ์ ข้าวพื้นแข็ง 4 พันธุ์ ข้าวหอมไทย 2 พันธุ์ และข้าวโภชนาการสูง 2 พันธุ์ และเพิ่มผลผลิตต่อไร่จากปัจจุบันเฉลี่ย 450 กก./ไร่ เป็นเฉลี่ย 600 กก./ไร่ ภายใน 5 ปี และบางชนิดจะเพิ่มเป็น 1,000 กก./ไร่ได้ ด้านผลิตภัณฑ์และนวัตกรรม จะมุ่งเน้นการวิจัย คิดค้นนวัตกรรมข้าว เพื่อตอบสนองความต้องการและเพิ่มมูลค่าให้กับข้าวไทย เช่นปัจจุบันมีเครื่องสำอางจากข้าว

ด้านนายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ภายใต้ยุทธศาสตร์ข้าวที่ได้จัดทำขึ้นนี้ มีเป้าหมายเพื่อให้ข้าวไทยแข่งขันได้ และเป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ และช่วยให้เกษตรกรขายข้าวได้คุ้มกับต้นทุนการผลิต ส่วนจะส่งออกได้ปริมาณมากที่สุดในโลกหรือไม่นั้นไม่สำคัญ เพราะคู่แข่งของไทยทั้งจีน อินเดีย มีพื้นที่เพาะปลูกและมีผลผลิตข้าวมากกว่าไทย ส่วนไทยมีพื้นที่เพาะปลูกที่จำกัด หากจะอยู่ในลำดับที่ 2 หรือ 3 ก็ไม่เสียหาย ขอให้ข้าวไทยเป็นที่ต้องการ และราคาข้าวในประเทศไม่ตกต่ำดีกว่า

นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า ในการสร้างสมดุลผลผลิตกับความต้องการบริโภคในประเทศนั้น จะร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์กำหนดปริมาณการเพาะปลูก โดยใช้การตลาดเป็นตัวนำ ให้มีตัวเลขเผื่อเหลือเผื่อขาดประมาณ 10% ซึ่งปัจจุบันความต้องการบริโภคข้าวในประเทศอยู่ที่ประมาณ 28 ล้านตันข้าวปลือก แต่ปริมาณผลผลิตอยู่ที่ประมาณ 30 ล้านตันข้าวเปลือก โดยปริมาณผลผลิตส่วนเกินจะมีมาตรการจูงใจให้เกษตรกรเก็บข้าวไว้ในยุ้งฉาง หรือสหกรณ์ซื้อเก็บไว้เพื่อรอการขาย รวมถึงผลักดันการส่งออกด้วย ซึ่งจะช่วยให้ราคาข้าวมีสเถียรภาพมากขึ้น

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 ส.ค. 63)

Tags: , , , , , ,
Back to Top