เงินบาทเปิด 31.07 ต่อดอลล์ แข็งค่าจากสัปดาห์ก่อน จับตาตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ

นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้ที่ระดับ 31.07 บาท/ดอลลาร์ จากช่วงเย็นวันศุกร์ที่อยู่ที่ระดับ 31.16 บาท/ดอลลาร์

“เงินบาทแข็งจากท้ายตลาดเย็นวันศุกร์…ดอลลาร์อ่อนค่าเมื่อเทียบกับทุกสกุล ยังเป็นผลจากการที่เฟดประกาศปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินครั้งสำคัญในการประชุมที่เมืองแจ็กสัน โฮล ซึ่งสะท้อนว่าเฟดจะตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำ” นักบริหารเงินกล่าว

นักบริหารเงิน คาดว่า เงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 31.00 – 31.15 บาท/ดอลลาร์ โดยปัจจัยที่ต้องติดตามสัปดาห์นี้นอกจากจะมีตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ หลายตัวแล้ว ยังต้องติดตามกรณีนายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา

THAI BAHT FIX 3M (28 ส.ค.) อยู่ที่ระดับ 0.37297% ส่วน THAI BAHT FIX 6M อยู่ที่ระดับ 0.41947%

ปัจจัยสำคัญ

  • เงินเยนอยู่ที่ระดับ 105.53 เยน/ดอลลาร์ จากเย็นวันศุกร์ที่อยู่ที่ระดับ 105.88 เยน/ดอลลาร์
  • เงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.1901 ดอลลาร์/ยูโร จากเย็นวันศุกร์ที่อยู่ที่ระดับ 1.1907 ดอลลาร์/ยูโร
  • อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท/ดอลลาร์ ถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักระหว่างธนาคารของธปท.อยู่ที่ระดับ 31.2260 บาท/ดอลลาร์
  • ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทสำหรับสัปดาห์นี้ (31 ส.ค.-4 ก.ย.) ที่ 31.10-31.50 บาท/ดอลลาร์ฯ โดยปัจจัยในประเทศที่สำคัญ ได้แก่ รายงานเศรษฐกิจการเงินเดือนก.ค. ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสถานการณ์ทางการเมือง
  • ออมสินเคาะ 15,000 ล้านบาท จัดซอฟต์โลน ช่วยธุรกิจท่องเที่ยวจากผลกระทบโควิด-19 รวม 2 โครงการ ได้แก่ กลุ่มผู้ประกอบการไม่เกิน 20 ล้านบาท คิดดอกเบี้ย 2% และกลุ่มเอสเอ็มอีไม่เกิน 5 แสนบาท ดอกเบี้ย 3.99% เริ่มเปิดยื่นกู้ ก.ย.นี้
  • ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) วิเคราะห์สถานการณ์ล่าสุดของภาคการท่องเที่ยวไทย พบว่า การท่องเที่ยวในประเทศเริ่มฟื้นตัวได้บ้างโดยเฉพาะจังหวัดท่องเที่ยวที่ใกล้กรุงเทพฯแต่ใน ภาพรวมยังคงต่ำกว่าระดับช่วงก่อนการ lockdown อยู่มาก และยังมีแนวโน้มอ่อนไหวต่อความเสี่ยงของ การระบาดระลอกที่ 2 ของโควิด-19
  • ญี่ปุ่นวางแผนที่จะจัดการประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ ในวันที่ 17 ก.ย.นี้ เพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ แทนนายชินโซ อาเบะ ซึ่งได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งเนื่องจากเหตุผลด้านสุขภาพ
  • กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเรายงานว่า การใช้จ่ายส่วนบุคคลของผู้บริโภคสหรัฐเพิ่มขึ้น 1.9% ในเดือนก.ค. สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 1.5% หลังจากพุ่งขึ้น 6.2% ในเดือนมิ.ย. ขณะที่รายได้ส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น 0.4% ในเดือนก.ค. หลังจากลดลง 1.1% ในเดือนมิ.ย.
  • กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) เพิ่มขึ้น 0.3% ในเดือนก.ค. เมื่อเทียบรายเดือน หลังจากดีดตัวขึ้น 0.5% ในเดือนมิ.ย. และเมื่อเทียบรายปี ดัชนี PCE เพิ่มขึ้น 1.0% ในเดือนก.ค.
  • ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาคลีฟแลนด์ กล่าวว่า เฟดมีความจำเป็นที่จะต้องกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป เนื่องจากการฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะเป็นการฟื้นตัวที่เชื่องช้า
  • ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาฟิลาเดลเฟีย กล่าวว่า การที่จะให้ตัวเลขคนว่างงานกลับสู่ระดับต่ำเป็นประวัติการณ์เหมือนในช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นั้น ยังคงต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง
  • ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้แก่ ดัชนี ISM และ PMI ภาคการผลิต/ภาคบริการ ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร และข้อมูลการจ้างงานภาคเอกชนจาก ADP เดือนส.ค. ยอดสั่งซื้อภาคโรงงาน รายจ่ายด้านการก่อสร้างเดือนก.ค. และรายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจ (Beige Book) ของเฟด นอกจากนี้ ตลาดอาจรอติดตามดัชนี PMI ภาคการผลิต/ภาคบริการเดือนส.ค. ของจีน ยูโรโซนและญี่ปุ่นด้วยเช่นกัน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (31 ส.ค. 63)

Tags: , ,
Back to Top