ผลวิจัยเผยวัคซีนโควิดของรัสเซียมีศักยภาพผลิตแอนติบอดี-ไม่มีผลข้างเคียง

กลุ่มนักวิทยาศาสตร์ของรัสเซียเปิดเผยว่า จากการทดลองเบื้องต้นสองครั้งสำหรับวัคซีนโควิด-19 ที่รัสเซียพัฒนาขึ้นนั้น พบว่ามีการผลิตแอนติบอดี ขณะที่ไม่พบผลข้างเคียงรุนแรงในผู้ที่เข้าร่วมการทดลอง

ผลการวิจัยดังกล่าวได้รับการเผยแพร่ในวารสารการแพทย์ชั้นนำ “The Lancet” ในวันนี้ อย่างไรก็ดี การทดลองเบื้องต้นสองครั้งดังกล่าวเป็นการทดลองขนาดเล็ก โดยในแต่ละการทดลองมีผู้เข้าร่วมการทดลองเพียง 38 คน ทั้งยังเป็นการทดลองแบบเปิดและไม่สุ่ม ซึ่งหมายความว่า ไม่มีการใช้ยาหลอก และผู้ที่เข้าร่วมการทดลองต่างรู้ว่าตนกำลังได้รับวัคซีน ซึ่งผู้เข้าร่วมการทดลองมีอายุระหว่าง 18-60 ปี และได้รับวัคซีนครั้งแรก ก่อนได้รับการฉีดกระตุ้นในอีก 21 วันต่อมา

รายงานระบุว่า ผลข้างเคียงที่พบมากที่สุดคือ ปวดตรงบริเวณที่ฉีดวัคซีน (58%) ไข้สูง (50%) ปวดหัว (42%) อ่อนแรง (28%) และปวดกล้ามเนื้อและข้อ (24%) โดยอาการเหล่านี้ไม่รุนแรง

นักวิจัยยอมรับว่า จำเป็นต้องมีการทดลองทางคลินิกเพิ่มอีก และระบุว่า ผู้ที่เข้าร่วมการทดลองสองครั้งดังกล่าวประกอบด้วยอาสาสมัครที่เป็นคนหนุ่มและมีสุขภาพแข็งแรง

สำหรับการทดลองเฟส 3 ซึ่งจะมีอาสาสมัครเข้าร่วม 40,000 คนจากช่วงวัยและกลุ่มความเสี่ยงที่หลากหลายนั้น กำลังอยู่ในระหว่างการวางแผน

โดยเมื่อวันที่ 20 ส.ค.ที่ผ่านมา นายคิริล ดมิทริฟ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของกองทุนความมั่งคั่ง RDIF ของรัสเซีย ซึ่งให้การสนับสนุนการผลิตวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 กล่าวว่า รัสเซียกำลังจะเริ่มการทดลองวัคซีนเฟสที่ 3 โดยจะมีอาสาสมัครในโครงการกว่า 40,000 ราย และการทดลองดังกล่าวจะมีการดำเนินการในศูนย์การแพทย์จำนวนมากกว่า 45 แห่งทั่วรัสเซีย

นายดมิทริฟกล่าวด้วยว่า รัสเซียจะเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีนดังกล่าวในวารสารทางการแพทย์ในเดือนนี้ เพื่อคลายความกังวลของหลายฝ่ายที่ยังไม่แน่ใจต่อประสิทธิภาพของวัคซีน

นายดมิทริฟยังเปิดเผยว่า รัสเซียได้รับคำสั่งซื้อวัคซีนดังกล่าวจากประเทศต่างๆทั่วโลกราว 1 พันล้านโดส ขณะที่รัสเซียมีความสามารถในการผลิตวัคซีน 500 ล้านโดสต่อปี โดยจะผลิตในรัสเซียและอีก 4 ประเทศ

ทั้งนี้ รัสเซียเป็นประเทศแรกของโลกที่ให้การอนุมัติการจดทะเบียนวัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 เมื่อเดือนส.ค.ที่ผ่านมา แม้ว่าวัคซีนดังกล่าวใช้เวลาทดลองทางคลินิกกับมนุษย์ไม่ถึง 2 เดือน และยังไม่มีการทดลองในเฟส 3 ขณะที่การทดลองทางคลินิกประสบความสำเร็จเพียง 10% ส่งผลให้บรรดาผู้เชี่ยวชาญต่างตั้งคำถามเกี่ยวกับประสิทธิภาพและความปลอดภัยของวัคซีนตัวนี้

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (05 ก.ย. 63)

Tags: , , , ,
Back to Top