ลุ้นสายผลิตใหม่หนุนกำไรปี 64 โตแรง
โบรกเกอร์ แนะนำ”ซื้อ”หุ้น บมจ.จีเอฟพีที (GFPT) ขานรับเข้าสู่ช่วงการฟื้นตัวหลังผลงานผ่านพ้นจุดต่ำสุดไปแล้วในไตรมาส 2/63 ก่อนส่งซิกเริ่มฟื้นตัวไตรมาส 3/63 ตามราคาไก่ในประเทศและปริมาณขายที่เด้งตัวขึ้น หลังสถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้นทำให้มีการผ่อนคลายล็อกดาวน์
ด้านแนวโน้มยอดส่งออกไก่ไทยกลับมาดีขึ้นเป็นลำดับขานรับค่าเงินบาทอ่อนค่าและดีมานด์โซนเอเชียและยุโรปที่ต้องการความมั่นคงทางด้านอาหารมากขึ้น ท่ามกลางความเสี่ยงการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 จับตาแนวโน้มกำไรปี 64 พลิกโตโดดเด่นตอบรับกำลังการผลิตใหม่ทยอยเข้าตั้งแต่ไตรมาส 2/64 ช่วยหนุนอัพไซด์ปรับประมาณเพิ่มรอบใหม่
พักเที่ยงราคาหุ้น GFPT อยู่ที่ 12.80 บาท ราคาไม่เปลี่ยนแปลง ขณะที่ดัชนีหุ้นไทย ปรับขึ้น 0.30%
โบรกเกอร์ | คำแนะนำ | ราคาเป้าหมาย (บาท/หุ้น) |
บัวหลวง | ซื้อ | 15.50 |
หยวนต้า (ประเทศไทย) | ซื้อ | 15.60 |
ทิสโก้ | ซื้อ | 14.60 |
ดีบีเอส วิคเคอร์สฯ | ซื้อ | 14.40 |
เคทีบี (ประเทศไทย) | ซื้อ | 14.00 |
ยูโอบี เคย์เฮียนฯ | ซื้อ | 19.30 |
นักวิเคราะห์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ยังคงมีมุมมองเป็นบวกกับหุ้น GFPT เพราะเชื่อว่าผลประกอบการได้ผ่านพ้นจุดต่ำสุดไปแล้วในไตรมาส 2/63 ก่อนจะเริ่มพลิกกลับมาฟื้นตัวในไตรมาส 3/63 ตามการฟื้นตัวของราคาไก่ในประเทศเพิ่มขึ้น 15% เทียบกับไตรมาสก่อน และ 2.4% จากงวดปีก่อน มาอยู่ที่ประมาณ 34 บาทต่อกิโลกรัม และปริมาณขายที่เพิ่มขึ้นจากการคลายล็อกดาวน์ ขณะที่แนวโน้มปริมาณขายในประเทศมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเช่นกันจากการกลับมาเปิดให้บริการของร้านอาหารและโรงแรม แต่อาจจะยังลดลงเมื่อเทียบกับงวดปีก่อน ด้านต้นทุนการเลี้ยงยังอยู่ในระดับต่ำ ทำให้คาดว่ายังรักษาอัตรากำไรขั้นต้น (GPM) ในระดับ 14% ขึ้นไปได้ต่อเนื่อง
นอกจากนี้ แนวโน้มราคาโครงไก่ยังทรงตัวสูงป็นบวกต่อแนวโน้มผลประกอบการของบริษัทลูกอย่างบริษัท จีเอฟพีที นิชิเร (ประเทศไทย) จำกัด (GFN) คาดจะกลับมาฟื้นตัวแรงเมื่อเทียบไตรมาสก่อนหน้านี้ ขณะเดียวกันยังได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการอ่อนค่าของเงินบาท อย่างไรก็ตาม แม้ว่าราคาลูกไก่จะปรับตัวลดลงบ้างตามภาวะตลาดที่มีการเพาะเลี้ยงลูกไก่มากขึ้น แต่คิดเป็นสัดส่วนรายได้น้อยอยู่ที่ราว 3% ของรายได้รวมเท่านั้น ดังนั้น เบื้องต้นยังมองกำไรปกติไตรมาส 3/63 ของ GFPT จะอยู่ที่ 300–320 ล้านบาท เติบโต 26–35% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้านี้ แต่ยังลดลง 18–23% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
นักวิเคราะห์ กล่าวต่อว่า สำหรับแนวโน้มผลประกอบการ GFPT จะกลับเข้าสู่การเติบโตโดดเด่นอีกครั้งในไตรมาส 2/64 หลังจากที่กำลังการผลิตใหม่ที่เป็นเครื่องจักรสายการผลิตอาหารปรุงสุก (Further) จำนวน 2 สายการผลิตที่ถูกไฟไหม้ไปและสายการผลิตอีก 3 สายการผลิตที่เป็นการทดแทนเครื่องจักรเดิมที่ถูกใช้งานมานาน จะทยอยติดตั้งและทำการทดสอบแล้วเสร็จตั้งแต่ไตรมาส 1/64 เป็นต้นไป ทำให้กำลังการผลิตรวมเพิ่มขึ้นจาก 2,000 ตันต่อเดือนเป็น 3,000 ตันต่อเดือน ซึ่งจะสะท้อนผลเชิงบวกต่อรายได้และกำไรที่ดีขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 2/64 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ การเติบโตของ GFPT จะโดดเด่นอย่างมากในครึ่งหลังของปี 64 แต่ต้องอยู่ภายใต้สมมติฐานสถานการณ์ราคาไก่ในประเทศทรงตัวไม่ต่ำกว่า 34 บาทต่อกิโลกรัม และต้องไม่เกิดการระบาดระลอกใหม่ของเชื้อโควิด-19 อย่างไรก็ตาม ฝ่ายวิจัยฯยังมีมุมมองเชิงบวกต่อแนวโน้มการส่งออกไก่ของไทยที่จะเติบโตอย่างมากในปี 64 เพราะผลกระทบการแพร่ระบาดอย่างหนักของเชื้อโควิด-19 ในบราซิลทำให้ตลาดในโซนเอเชียและยุโรปมีความต้องการความมั่นคงทางด้านอาหารมากขึ้น
แม้ว่าฝ่ายวิจัยฯประเมินแนวโน้มกำไรปกติตลอดทั้งปี 63 จะอยู่ที่ 986 ล้านบาท ลดลง 21.5% เมื่อเทียบกับปีก่อน แต่ปี 64 ประเมินว่าจะเติบโต 24.2% เมื่อเทียบกับกำไรปกติปี 63 หรือเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1,224 ล้านบาท
“เราเชื่อว่าราคาหุ้น GFPT มีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้นได้หลังจากผลประกอบการได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว เพราะปัจจัยต่าง ๆ ก็เอื้อต่อการฟื้นตัวในครึ่งปีหลังทั้งด้านของราคาขายเพิ่มขึ้นตามแนวโน้มการบริโภคเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน แต่ที่น่าสนใจคือปี 64 จะเข้าสู่รอบการเติบโตโดดเด่นอีกครั้งภายใต้กำลังการผลิตใหม่ ซึ่งปัจจุบันฝ่ายวิจัยฯยังไม่ได้นับรวมเข้าไปไว้ในประมาณการ นับเป็นอัพไซด์ที่สำคัญของ GFPT ในอนาคตอันใกล้”
นักวิเคราะห์ กล่าว
บทวิจัยฯ บล.บัวหลวง ประเมินภาพรวมผลประกอบการ GFPT มีโอกาสกลับมาฟื้นตัวช่วงครึ่งหลังของปีนี้ หลังจากได้ผ่านพ้นจุดต่ำสุดไปแล้วในไตรมาส 2/63 เนื่องจากแนวโน้มการส่งออกไปประเทศจีนจะเริ่มฟื้นตัวในไตรมาส 3/63 คาดว่าจะเติบโตเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้านี้ แต่อาจจะลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพราะมีฐานที่สูง อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะเริ่มเห็นสัญญาณเป็นบวกเด่นชัดอีกครั้งในไตรมาส 2/64 หลังจากการกลับมาเดินเครื่องอย่างเต็มที่ของเครื่องจักรที่เสียหายจากเหตุไฟไหม้
ด้านมุมมอง บล.เคทีบี (ประเทศไทย) ระบุว่า แม้ว่าราคาหุ้น GFPT จะปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าภาพรวมตลาดในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมาเพราะผลประกอบการไตรมาสแรกที่ออกมาดี ขณะที่ตลาดได้ตอบสนองกับเหตุการณ์ไฟไหม้ตัวโรงงานบางส่วนไปแล้ว ทำให้หลังจากนี้ราคาหุ้น GFPT ยังมีโอกาสปรับตัวขึ้นได้ โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากสถานการณ์โควิด-19 ผ่านพ้นจุดเลวร้ายไปแล้วและภาคธุรกิจร้านอาหารและโรงแรมก็เริ่มฟื้นตัวในครึ่งปีหลัง ขณะที่ราคาหุ้น GFPT ปัจจุบันซื้อขายกันบน P/E ประมาณ 14 เท่ายังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยกลุ่มอาหารที่ซื้อขายกันบน P/E เฉลี่ยประมาณ 19 เท่า
ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัยฯปรับกำไรสุทธิปี 63 ลง 4% มาอยู่ที่ 1.13 พันล้านบาท ลดลง 5% เมื่อเทียบกับปีก่อนจากบันทึกค่าใช้จ่ายไฟไหม้ แต่ยังคงประมาณการกำไรปกติอยู่ที่ 1.18 พันล้านบาท ลดลง 1.1% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยคาดว่าจะบันทึกความเสียหายจากไฟไหม้จำนวน 55 ล้านบาทภายในปีนี้ ขณะที่ผลประกอบการ GFPT ผ่านพ้นจุดต่ำสุดไปแล้วในไตรมาส 2/63 หลังโดนผลกระทบเต็มที่โควิด-19 แต่แนวโน้มจะเริ่มดีขึ้นในครึ่งปีหลังก่อนจะเติบโตเด่นชัดช่วงปีถัดไป
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 ก.ย. 63)
Tags: GFPT, จีเอฟพีที, บัวหลวง, ผลประกอบการ, หยวนต้า, หุ้นไทย, เคทีบี