ศบค.จัดประชุมซักซ้อมแผนเตรียมรับมือหากโควิด-19 ระบาดระลอกใหม่

พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รองผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะรองหัวหน้าสำนักงานประสานงานกลางศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อเสริมสร้างแนวทางการปฏิบัติงานในการป้องกันควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

เพื่อซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับแนวปฏิบัติในการบริหารจัดการงานระดับส่วนกลาง และระดับจังหวัด ทั้งภาครัฐและเอกชนจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ต่อกิจการและกิจกรรมของทุกภาคส่วน และเตรียมแผนรับมือการระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต พร้อมทั้งรับฟังข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะในการดำเนินงานจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด บุคลากรสาธารณสุข และเครือข่ายการดำเนินงานในระดับพื้นที่ ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้มาตรการ แนวทาง และนวัตกรรมในการดำเนินงาน

พล.อ.ณัฐพล กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทยที่สามารถควบคุมได้ในวงจำกัด จึงได้มีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดของโรค เช่น การให้เปิดดำเนินการของสถานที่ กิจการหรือกิจกรรม ที่อาจมีความเสี่ยงสูงต่อการแพร่ระบาด รวมถึงมีการเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ในต่างประเทศยังพบการระบาดและมีจำนวนผู้ติดเชื้อในระดับสูง เพื่อเตรียมความพร้อมรับการระบาดของโรคระลอกใหม่ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตหรืออาจมีความรุนแรงขึ้น และสร้างความเสียหายให้แก่ระบบเศรษฐกิจ สังคมของประเทศ ตลอดจนเพื่อสร้างความมั่นคงปลอดภัย ทางด้านสาธารณสุขของประเทศ

“เป้าหมายหลักของการบริหารสถานการณ์ในการป้องกันโรคโควิด-19 ไม่ใช่การไม่มีรายงานผู้ป่วยติดเชื้อภายในประเทศ แต่เป้าหมาย คือ สามารถตรวจจับผู้ติดเชื้อโรคได้ ควบคุมการแพร่ระบาดโรคได้ และรักษาโรคได้ ปัจจุบันมีพี่น้องประชาชนส่วนหนึ่งที่ประสบความเดือดร้อนไม่สามารถประกอบอาชีพของตนได้เหมือนกับในช่วงเวลาก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด19 ดังนั้น หน่วยงานภาครัฐจะต้องเร่งรัดในการแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในกรอบความรับผิดชอบอย่างเต็มขีดความสามารถ”

พล.อ.ณัฐพล กล่าว

ด้าน นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรควิด-19 ทั่วโลกยังคงระบาดรุนแรงและต่อเนื่อง ขณะที่สถานการณ์ในประเทศไทยแม้อยู่ในระดับที่สามารถควบคุมได้ แต่ต้องมีการเตรียมการรับการระบาดในระลอกที่ 2 ทั้งขีดความสามารถของระบบสาธารณสุขไทยที่มีกลไกการขับเคลื่อนในระดับพื้นที่แบบบูรณาการ ซึ่งมีเจตนารมณ์ในการดำเนินงานเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยคำนึงถึงปัจจัยด้านสาธารณสุขเป็นสำคัญ ควบคู่กับปัจจัยด้านเศรษฐกิจและสังคมอย่างเหมาะสม ให้สอดคล้องกับสถานการณ์การแพร่ระบาดทั้งระดับโลก ระดับประเทศ และระดับพื้นที่

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 ก.ย. 63)

Tags: , , , , , , ,
Back to Top