TPCH คาดสรุปดีลซื้อโรงไฟฟ้าชีวมวล 2-3 โรงในสิ้นปีนี้ พร้อมลุ้นโรงไฟฟ้าขยะ 2 โรงใน Q4/63

นางกนกทิพย์ จันทร์พลังศรี ประธานคณะกรรมการบริหาร บมจ.ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง (TPCH) คาดว่าจะได้ข้อสรุปการเข้าซื้อโรงไฟฟ้าชีวมวล 2-3 โครงการที่มีใบอนุญาตแล้ว ภายในสิ้นปีนี้หรือไตรมาส 4/63 โดยระหว่างกำลังเจรจาเรื่องเงินลงทุนอยู่

นอกจากนี้ในส่วนของโรงไฟฟ้าขยะ อยู่ระหว่างรอผลประมูล 2 โครงการในไตรมาส 4/63 และรอผลประมูลอีก 2 โครงการในปีหน้า จึงคาดว่าบริษัทจะใช้เงินลงทุนสูงขึ้นในปีหน้า ทำให้บริษัทอยู่ระหว่างการจัดหาแหล่งเงินลงทุน ทั้งการออกหุ้นกู้ หรือแนวทางอื่น โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างทบทวนอันดับเครดิตกับบริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ขณะที่แนวทางการเพิ่มทุนจะเป็นทางเลือกสุดท้ายของบริษัท

ทั้งนี้ บริษัทจะลงทุนเพิ่มเติมในโรงไฟฟ้าชีวมวลอยู่ที่ 90 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าขยะ 40 เมกะวัตต์ เพื่อให้ได้ตามเป้าหมายที่จะมีทั้งโรงไฟฟ้าชีวมวล ชีวภาพและโรงไฟฟ้าขยะให้ครบ 250 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น โรงไฟฟ้าชีวมวล ชีวภาพ 200 เมกะวัตต์ ปัจจุบันมีอยู่แล้ว 110 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าขยะที่ 50 เมกะวัตต์ จากที่มีอยู่ 10 เมกะวัตต์ โดยส่วนหนึ่งจะมาจากการเข้าร่วมประมูลโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก และโครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชน

แนวโน้มการดำเนินธุรกิจในไตรมาส 3/63 คาดว่าจะมีการเติบโตที่ดี เนื่องจากบริษัทสามารถรับรู้รายได้จากการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ของโรงไฟฟ้าชีวมวลเดิม จำนวน 7 แห่ง ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าชีวมวลช้างแรก ไบโอเพาเวอร์ (CRB) ,โรงไฟฟ้าชีวมวลแม่วงศ์ เอ็นเนอยี่ (MWE),โรงไฟฟ้าชีวมวลมหาชัย กรีน เพาเวอร์ (MGP) ,โรงไฟฟ้าชีวมวลทุ่งสัง กรีน (TSG ) โรงไฟฟ้าชีวมวล พัทลุง กรีน เพาเวอร์ (PGP) โรงไฟฟ้าชีวมวล สตูล กรีน เพาเวอร์ (SGP) และโรงไฟฟ้าชีวมวล ปัตตานี กรีน เพาเวอร์ (PTG) ซึ่งมีกำลังการผลิตรวม 83 เมกะวัตต์

นายเชิดศักดิ์ วัฒนะวิจิตรกุล กรรมการผู้จัดการ TPCH กล่าวว่า บริษัทยังตั้งเป้าหมายในไตรมาส 4/63 จะสามารถจ่ายไฟเชิงพาณิชย์ (COD) ของโรงไฟฟ้าชีวมวลทีพีซีเอช เพาเวอร์ 1 (TPCH 1) กำลังการผลิต 10 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าชีวมวล ทีพีซีเอช เพาเวอร์2 (TPCH 2) กำลังการผลิต 10 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าชีวมวล ทีพีซีเอช เพาเวอร์ 5 (TPCH 5) กำลังการผลิต 6 เมกะวัตต์ โดยงานก่อสร้างรวมมีความคืบหน้าไปกว่า 98-99% แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้วิศวกรต่างชาติไม่สามารถเดินทางมาตรวจงานได้ตามกำหนด แต่บริษัทไม่ได้นิ่งนอนใจ ก็มีประชุมหารือทดสอบระบบโดยระบบออนไลน์ ซึ่งก็ต้องดูรายละเอียดเพิ่มเติม

ส่วนโรงไฟฟ้าชีวมวล ปัตตานี กรีน เพาเวอร์ (PTG) ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 23 เมกะวัตต์ แม้จะมีการเดินเครื่องผลิตแล้ว แต่ก็ยังไม่เต็มที่ โดยคาดว่าใช้ระยะเวลา 6 เดือนในการเดินเครื่อง 100% หรือในไตรมาส 1/64 ทั้งนี้ เมื่อรวมกับ 4 โรงแล้วจะส่งผลให้บริษัทมีกำลังการผลิตรวมเพิ่มเป็น 109 เมกะวัตต์

นอกจากนี้ บริษัทมีความพร้อมในการเข้าร่วมประมูลโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก หากรัฐบาลเปิดให้ภาคเอกชนสามารถยื่นเสนอโครงการได้ ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชนอยู่ระหว่างการพัฒนาอีกประมาณ 3 โครงการ ซึ่งอยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2 โครงการ และในภาคใต้อีก 1 โครงการ นอกจากนี้ บริษัทได้มีการศึกษาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนที่น่าสนใจอีกหลายแห่ง

“เรามีความพร้อมในการยื่นเสนอโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนฯ เนื่องจาก บริษัทมีทีมงานที่มีความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ และการใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ ในการดำเนินธุรกิจโรงไฟฟ้า และบริษัทได้มีการลงพื้นที่เพื่อหารือกับวิสาหกิจชุมชนถึงแผนการดำเนินงานโรงไฟฟ้าชุมชนของ TPCH ส่วนโรงไฟฟ้าขยะชุมชนอยู่ระหว่างการพัฒนา 3 โครงการ ส่วนอีก 1 โครงการทางภาคเหนือ กำลังอยู่ในขั้นตอนศึกษาโครงการ โดยมั่นใจว่า ธุรกิจพลังงานทดแทนในประเทศไทย ยังมีโอกาสเติบโตอีกมาก”

นายเชิดศักดิ์กล่าว

ด้านนางสาวสมพิศ แสนเรือง รองกรรมการผู้จัดการฝ่ายบัญชีและการเงิน TPCH คาดว่า รายได้ปีนี้เติบโตแต่ไม่ได้ตามเป้าหมาย เนื่องจากโรงไฟฟ้าTPCH 1 โรงไฟฟ้า TPCH 2 และ โรงไฟฟ้า TPCH 5 อาจจะจ่ายไฟล่าช้าออกไปจากเป้าหมาย ขณะที่โรงไฟฟ้า PTG ยังไม่สามารถรับรู้รายได้เต็ม เพราะอยู่ช่วงเริ่มการจ่ายไฟ อย่างไรก็ตาม รายได้ในไตรมาส 4/63 คาดว่าจะมากกว่าไตรมาส 4/62 เพราะมีรายได้จากโรงไฟฟ้า PTG เข้ามา

“ถ้าไม่มีโควิดเราอาจโต double เพราะเรามีโรงไฟฟ้า 4 โรงประมาณ 50 เมกะวัตต์ คือ Growth แต่ Growth แบบยั่งยืน พอโควิด เข้ามาทำโรงไฟฟ้า Delay เกือบ 1 ปีเอาคนเข้ามาไม่ได้และติดขัด เรามองว่า Growth แต่ไม่ได้ Growth อย่างที่เราตั้งเป้าไว้เมื่อต้นปี”

รองกรรมการผู้จัดการฝ่ายบัญชีและการเงิน TPCH กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 ก.ย. 63)

Tags: , , , , , ,
Back to Top