ดัชนีเชื่อมั่นราคาทองคำก.ย. ลดลงจากส.ค. จับตาคืบหน้าพัฒนาวัคซีนโควิด-19

นายพิบูลย์ฤทธิ์ วิริยะผล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทองคำ เผยดัชนีความเชื่อมั่นราคาทองคำประจำเดือน ก.ย.63 อยู่ที่ระดับ 62.53 จุด ลดลง 13.01 จุดหรือคิดเป็น 17.22% จากเดือน ส.ค.63 ที่ระดับ 75.54 จุด โดยปัจจัยที่ทำให้ดัชนีฯ ปรับลดลงมาจากการพัฒนาและคิดค้นยารักษาเชื้อไวรัสโควิด-19 และแรงขายทำกำไรทองคำ ส่วนปัจจัยบวกต่อราคาทองคำนั้น นักลงทุนกังวลต่อสถานการณ์ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก

ทั้งนี้คาดการณ์ความต้องการซื้อทองคำในช่วงเดือน ก.ย.63 จากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 323 ตัวอย่าง พบว่า 35.91% ระบุไม่แน่ใจว่าจะซื้อทองคำหรือไม่ ขณะที่ 33.13% คาดว่าจะซื้อทองคำในช่วงเดือนนี้ และ 30.96% ระบุยังไม่ซื้อทองคำในเดือน ก.ย.63

ส่วนกลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้ประกอบกิจการค้าทองคำรายใหญ่และผู้ประกอบกิจการนายหน้าซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่อ้างอิงกับราคาทองคำจำนวน 12 ตัวอย่าง โดยส่วนใหญ่ 6 ราย เชื่อว่าราคาทองคำในเดือน ก.ย.63 จะใกล้เคียงกับราคาทองคำในเดือน ส.ค.63 ส่วนอีก 4 รายคาดว่าจะลดลง และอีก 2 รายคาดว่าราคาทองคำจะเพิ่มขึ้น

สำหรับการคาดการณ์ราคาทองคำในเดือน ก.ย.63 ของผู้ประกอบกิจการค้าทองคำรายใหญ่มอง Gold Spot ให้กรอบเฉลี่ยบริเวณ 1,878-2,027 ดอลลาร์/ออนซ์ ด้านราคาทองคำแท่งในประเทศความบริสุทธิ์ 96.5% ให้กรอบเฉลี่ยบริเวณ 28,000-29,900 บาทต่อน้ำหนัก 1 บาททองคำ ส่วนค่าเงินบาทให้กรอบเฉลี่ยบริเวณ 30.77-31.73 บาท/ดอลลาร์

คำแนะนำการลงทุนทองคำในเดือน ก.ย.63 ผู้ค้าทองคำรายใหญ่ให้ความเห็นว่า หลังจากราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้นจนสร้างระดับสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์ที่ระดับ 2,075 ดอลลาร์/ต่อออนซ์ โดยคาดการณ์ว่าราคาทองคำในเดือนนี้อาจเกิดความผันผวน ทั้งนี้ ราคาทองคำพยายามแกว่งตัวเพื่อรักษาระดับ และสร้างฐานราคา โดยหากราคาทองคำไม่สามารถผ่านแนวต้านที่สำคัญบริเวณ 2,000 ดอลลาร์/ออนซ์ ได้ อาจเกิดแรงเทขายกดดันราคาทองปรับตัวลดลงมาอีกครั้ง

สำหรับปัจจัยราคาทองคำที่ต้องติดตาม ได้แก่

  1. ความคืบหน้าเกี่ยวกับการพัฒนาวัคซีนโควิด-19 เพราะหากมีความคืบหน้าในประเด็นความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพของวัคซีน จะส่งผลให้เกิดการสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่จะฟื้นตัวต่อเนื่องในระยะถัดไป และเป็นจิตวิทยาเชิงบวกต่อการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง ซึ่งจะกดดันราคาทองคำเพิ่มเติม
  2. มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ หลังจากพรรคเดโมแครตเสนอให้มีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ วงเงินมากกว่า 3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่พรรครีพับลิกันต้องการให้มีวงเงินเพียง 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
  3. ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯและจีน แม้ว่าเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ระบุว่า ข้อตกลงการค้า ระยะที่ 1 จะไม่ถุกยกเลิก แต่สหรัฐฯ ยังคงมีความคิดเห็นไม่ตรงกันกับจีนในหลายประเด็น

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 ก.ย. 63)

Tags: , , , ,
Back to Top