BTS คาดรายได้ปี 63/64 ลดลง 10% หลังโควิดกระทบยอดผู้โดยสารรถไฟฟ้า

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการบริหาร บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) คาดว่ารายได้รวมในงวดปี 63/64 (เม.ย.63-มี.ค.64) จะลดลง 10% จากรายได้รวมปี 62/63 (เม.ย.62-มี.ค.63) ที่อยู่ระดับ 42,203 ล้านบาท เนื่องจากรายได้หลักจากธุรกิจระบบขนส่งมวลชนได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้ผู้โดยสารในระบบรถไฟฟ้าลดลงอย่างมากในช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค.

อย่างไรก็ดีขณะนี้จำนวนผู้โดยสารได้ขยับขึ้นมากว่า 7 แสนเที่ยวคน/วัน หรือประมาณ 80% ของช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ที่ประมาณ 8 แสนเที่ยวคน/วัน โดยกลุ่มคนทำงานในกลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว รวมถึงนักท่องเที่ยวที่ยังไม่กลับเข้ามา

นอกจากนี้สถานการณ์การระบาดโควิด-19 ยังกระทบต่อธุรกิจสื่อโฆษณา ที่อยู่ภายใต้การบริหารงานของบมจ.วีจีไอ (VGI) รวมถึงกระทบต่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งอยู่ในกลุ่มของบริษัทด้วย

ขณะที่ในส่วนการเดินรถส่วนต่อขยายสายสีเขียวเหนือ ช่วงหมอชิต-วัดพระศรีมหาธาตุฯ มีจำนวนผู้โดยสารขึ้นมากว่า 1 แสนเที่ยวคน/วัน เทียบก่อนเกิดโควิดที่มีผู้โดยสาร 2 แสนเที่ยวคน/วัน และคาดว่าจะสามารถเดินรถส่วนต่อขยายสายสีเขียวเหนือทั้งเส้น หมอชิต-คูคตในกลางเดือน ธ.ค.63

ส่วนความคืบหน้าการขยายอายุสัปมทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ระยะทาง 66.4 กิโลเมตรอีก 30 ปี จากที่ BTS มีอายุสัมปทานเดิมที่มีระยะทาง 23.5 กิโลเมตรเหลือ 8 ปีครึ่ง จะสิ้นสุดสัญญาในปี 72 แลกกับการรับภาระหนี้ของกรุงเทพมหานคร (กทม.) กว่า 70,000 ล้านบาท และจะต้องคิดเพดานค่าโดยสารสูงสุดไม่เกิน 65 บาทนั้น นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนสุดท้ายที่รอความเห็นของรมว.คลัง ซึ่งที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)ได้รับทราบโครงการนี้แล้ว และเห็นว่าหากได้รับอนุมัติจากครม.และลงนามสัญญากันแล้วจะเร่งดำเนินการเดินรถภายในใต้สัญญาสัมปทานใหม่ อาจจะดำเนินการเริ่มเก็บค่าโดยสารใหม่สูงสุดไม่เกิน 65 บาท/เที่ยวได้เร็วกว่าในเดือนธ.ค.63นี้

ร้องคนร.ขอความเป็นธรรมประมูลสายสีส้ม
นายสุรพงษ์ กล่าวถึงกรณีคณะกรรมการคัดเลือกตามมาตรา 36 ได้มีมติปรับหลักเกณฑ์การพิจารณาข้อเสนอประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี ให้พิจารณาข้อเสนอทางด้านเทคนิค 30% ควบคู่กับด้านราคา 70% นั้น ทาง BTS ได้รับหนังสือชี้แจงจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) หลังจากที่บริษัทได้ยื่นร้องเรียนไป แต่เนื่องจากเห็นว่า การปรับหลักเกณฑ์เกิดหลังจากการขายซองประมูลซึ่งรู้แล้วว่ามีรายใดจะเข้าร่วมการประมูล ทำให้มองว่าไม่เป็นธรรม และการนำข้อเสนอด้านเทคนิคมาร่วมตัดสินที่ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของกรรมการ ซึ่งต่างจากปกติที่จะมีการพิจารณาเรื่องคุณสมบัติ หากผ่านก็พิจารณาด้านเทคนิคและเมื่อผ่านก็จะใช้ข้อเสนอราคาเป็นตัวตัดสินที่เห็นได้ชัดเจน

ดังนั้น ทางบริษัทจึงได้ส่งเรื่องร้องเรียนต่อคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เพื่อขอความเป็นธรรมในเรื่องดังกล่าว ให้ขอดูรายละเอียดที่รฟม.ปรับเปลี่ยนเงื่อนไขการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม เพราะเห็นว่าการนำคะแนนด้านเทคนิคมารวมข้อเสนอราคาอาจจะเกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ อย่างไรก็ตาม บริษัทกำลังพิจารณาที่จะยื่นต่อศาลปกครอง ทั้งนี้ทุกอย่างจะดำเนินการไปตามขั้นตอน

แต่ไม่ว่าจะอย่างไร BTS ก็จะร่วมเข้ายื่นการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนท์-มีนบุรี อย่างแน่นอน เพราะเส้นทางนี้นับว่าเป็นเส้นทางที่สำคัญเช่นกัน

สำหรับผู้ซื้อเอกสารข้อเสนอร่วมลงทุน 10 บริษัท ได้แก่
1.บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM)
2.บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC)
3.บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS)
4.บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STEC)
5.บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD)
6.บมจ.ราช กรุ๊ป (RATCH)
7.บมจ. ช.การช่าง (CK)
8.บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF)
9.ซิโนไฮโดร คอร์ปอเรชั่น ลิมิเต็ด
10.บริษัท วรนิทัศน์ ดีเวลอปเมนท์ จำกัด

ทั้งนี้ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม จะมีทั้งงานก่อสร้าง สายสีส้มตะวันตก (งานโยธา) ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์ ระยะทาง 13.4 กิโลเมตร รวมงานติดตั้งระบบรถไฟฟ้า ช่วงมีนบุรี-บางขุนนนท์ ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร

สำหรับความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี และรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง คาดว่าจะเปิดให้บริการปลายปี 64 โดยอาจจะไม่ได้เดินรถทั้งเส้นทาง โดยเฉพาะรถไฟฟ้าสายสีชมพู งานก่อสร้างล่าช้าตอนนี้อยู่ที่ 60% เพราะรฟม.ส่งมอบพื้นที่ไม่ได้ครบ ขณะที่ขบวนรถไฟฟ้าขบวนแรกทั้งสายสีชมพูและสายสีเหลืองจะมาถึงไทยในปลายก.ย.-ต้นต.ค.นี้ และทยอยเข้ามาจนครบในกลางปีหน้า โดยสายสีชมพูจะมี 42 ขบวนๆละ 4 ตู้ และ สายสีเหลืองจะมี 30 ขบวนๆละ 4 ตู้ รวมทั้งหมด 288 ตู้

ขณะที่ส่วนต่อขยายสายสีชมพู เข้าโครงการเมืองทองธานีอีก 2 สถานี ระยะทาง 2.8 กม.นั้น ขณะนี้ได้ผ่านกระบวนการการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIA)แล้ว และรอเข้าที่ประชุมครม.เพื่อพิจารณาอนุมัติโครงการ คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างปลายปี 63 ใช้เวลาก่อสร้าง 1 ปีครึ่ง คาดแล้วเสร็จในปี 65

แต่สำหรับส่วนต่อขยายสายสีเหลือง จากรัชดาภิเษก-ลาดพร้าว-แยกรัชโยธิน ระยะทาง 2.6 กม. ที่รฟม.ยังไม่อนุมัติให้ดำเนินการส่วนต่อขยายนั้น บริษัทยืนยันไม่รับเงื่อนไขที่ยอมรับในสัญญาเปิดให้เจรจากับบมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ผู้เดินรถไฟฟ้า MRT หากต้องมีการชดเชยรายได้ระหว่างกัน และล่าสุดบริษัททำหนังสือยืนยันต่อรฟม.แล้ว และหากรฟม.ไม่อนุมัติให้สร้างส่วนต่อขยาย บริษัทจะดำเนินการเส้นทางหลักอย่างเดียว

ส่วนการเดินรถไฟฟ้าสายสีทอง ช่วงสถานีกรุงธน-สำนักงานเขตคลองสาน มี 3 สถานี คาดว่าเลื่อนการเดินรถจากเดิมกำหนดไว้ในเดือนต.ค.63 แต่จะเดินรถเมื่อใดยังต้องพิจารณาอยู่ซึ่งจะพยายามเดินรถให้ทันก่อนสิ้นปีนี้ โดยขณะนี้ยังไม่ได้เริ่มทดสอบการเดินรถ ที่จะต้องใช้เวลาทดสอบการเดินรถประมาณ 1-2 เดือน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 ก.ย. 63)

Tags: , , , , , , , , , ,
Back to Top