ศบศ.สั่งเร่งลงทุนโครงการใหญ่เคลียร์ EIA-ดัน PPP-ตั้ง รสก.ไฮสปีดเทรน

ที่ประชุมคณะกรรมการศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบศ.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นประธาน มีมติเห็นชอบให้คณะกรรมการขับเคลื่อนมาตรการบริหารเศรษฐกิจภายใต้ ศบศ.ดำเนินการผลักดันขับเคลื่อนและติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานของโครงการการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญให้สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ บรรลุเป้าหมายโครงการที่ตั้งไว้อย่างเป็นรูปธรรมตามข้อเสนอของคณะอนุกรรมการวิเคราะห์และเสนอแนะมาตรการบริหารเศรษฐกิจในระยะปานกลางและระยะยาว ใน 4 กลุ่มโครงการ

ทั้งนี้ ให้มีการเร่งรัดโครงการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่

  • โครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟ ที่ต้องการผลักดันในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณา EIA การทบทวนแบบรายละเอียดและเร่งการพิจารณาโครงการ
  • โครงการะบบขนส่งมวลชน ที่ต้องการการสนับสนุนเรื่องการเร่งจัดทำรายงาน PPP เร่งศึกษาทบทวนการออกแบบ จัดทำรายงาน EIA การใช้พื้นที่เพื่อก่อสร้างโครงการ แหล่งเงินทุนโครงการและสิทธิประโยชน์ทางภาษีของภาคเอกชน
  • โครงการทางพิเศษ ที่ต้องการเร่งรัดกระบวนการเตรียมความพร้อมโครงการ การอนุญาตใช้พื้นที่ป่าสงวน เร่งเจรจาการลงทุนโครงข่าย Missing Link รวมถึงการเร่งเตรียมความพร้อมโครงการให้สามารถลงทุนก่อสร้างได้ตามแผน
  • โครงการพัฒนาท่าเรือ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดกระบวนการเตรียมความพร้อมโครงการ และเร่งรัดกระบวนการเจรจาและประกาศผู้ชนะการประมูลโครงการร่วมลงทุน
  • การพัฒนาอุตสาหกรรมระบบรางและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกันจัดทำมาตรการเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมระบบรางในประเทศ อาทิ การเพิ่มเติมสิทธิประโยชน์ในการลงทุน และการกำหนดเงื่อนไขการใช้วัสดุที่ผลิตในประเทศ
  • โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน ให้หน่วยงานผู้รับผิดชอบดำเนินการศึกษาความเหมาะสม ออกแบบเบื้องต้น ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และวิเคราะห์รูปแบบโมเดลการพัฒนาการลงทุน โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน
  • โครงการศูนย์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นการดำเนินโครงการตามรูปแบบร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) โดยให้หน่วยงานเจ้าของโครงการเร่งรัดการเตรียมความพร้อมของโครงการ และเสนอต่คณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน

อีกทั้ง การปรับปรุงโครงสร้างหรือกฎระเบียบในการบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐาน ประกอบด้วย 4 มาตรการ ได้แก่

  1. การแต่งตั้งคณะกรรมการระดับชาติและสำนักงานเพื่อส่งเสริมการพัฒนาเมืองกับระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง
  2. การจัดตั้งบริษัทบริหารสินทรัพย์เพื่อบริหารที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยเพื่อการพาณิชย์
  3. การจัดตั้งรัฐวิสาหกิจเพื่อบริหารรถไฟความเร็วสูง
  4. การประกาศใช้ร่างพ.ร.บ.การขนส่งทางราง พ.ศ…. ซึ่งมีบัญญัติเกี่ยวกับการจัดทำใบอนุญาตพนักงานขับรถไฟ และการจัดทำระเบียบรถขนส่งทางราง

นอกจากนี้ การเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจ เพื่อเพิ่มการใช้จ่ายลงทุนและการจ้างงานของรัฐวิสาหกิจในช่วงปี 2563-2564 อาทิ การปรับปรุงบริหารเงินกองทุนของการทางพิเศษแห่งประเทศไทยที่ได้จากกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย การเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ การปรับปรุงแผนการจ้างงานของรัฐวิสาหกิจ

และการศึกษาความเป็นไปได้เบื้องต้น (Pre-feasibility Study) ของโครงการสะพานไทย

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 ก.ย. 63)

Tags: , , , , , , , , , ,
Back to Top