ดัชนีเชื่อมั่นอุตสาหกรรม ส.ค. ขยับขึ้นต่อเนื่องแต่ยังต่ำ วอนรัฐกระตุ้นศก.เพิ่ม

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนส.ค.63 อยู่ที่ระดับ 84.0 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 82.5 ในเดือนก.ค.63 โดยดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 เนื่องจากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชนได้ร่วมมือกัน ทำให้สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-1 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรค ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศสามารถดำเนินการตามปกติ

ขณะที่ภาคการผลิตขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าตามความต้องการสินค้าที่เพิ่มขึ้น สำหรับอุตสาหกรรมที่ส่งผลต่อดีต่อค่าดัชนีฯ ได้แก่ รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องจักรกล อาหาร และสินค้าวัสดุก่อสร้าง เป็นต้น

อย่างไรก็ดี แม้ว่าดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่า 100 เนื่องจากผู้บริโภคมีความระมัดระวังในการใช้จ่าย และมีความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจที่ยังเปราะบาง ขณะที่ผู้ประกอบการ SMEs ประสบปัญหาสภาพคล่องและการเข้าถึงสินเชื่อ รวมทั้งบางส่วนได้รับสินเชื่อไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้หมุนเวียนในกิจการ

สำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 94.5 โดยเพิ่มขึ้นจาก 93.0 ในเดือนก.ค.63 ทั้งนี้ ผู้ประกอบการคาดว่าภาคการผลิตจะมีสัญญาณการปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ตาม แม้ว่าค่าดัชนีฯ จะปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่ยังอยู่ในภาวะความกังวลต่อการระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกที่ 2 ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ดังนั้น มาตรการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ รวมทั้งการเสริมสภาพคล่องให้กับผู้ประกอบการจึงเป็นปัจจัยสำคัญต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปี 2563

ประธาน ส.อ.ท. ยังมีข้อเสนอแนะถึงภาครัฐ ดังนี้

  1. ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม รวมทั้งการเสริมสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการ
  2. ขยายระยะเวลามาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 โดยเฉพาะ SMEs เช่น ยืดเวลาการชำระเงินกู้ไปอีก 2 ปี (2564-2565)
  3. ขอให้ผู้ประกอบการสามารถหักค่าใช้จ่ายภาษีนิติบุคคลได้ 2 เท่า สำหรับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการอบรม หรือกิจกรรม Outing ของบริษัท เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวภายในประเทศ

ส่วนข้อเสนออื่นๆ เช่น การยืดเวลาชำระหนี้ 2 ปีนั้นจะนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบศ.) รอบหน้า

สำหรับมาตรการกำหนดเกณฑ์มาตรฐานระยะเวลา Credit term เพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่องให้กับเอสเอ็มอี จากเดิม 30-45 วัน แต่ปัจจุบัน 60-120 วัน ตามที่ประชุมศบศ. เห็นชอบวานนี้นั้น นายสุพันธุ์ กล่าวว่า ในสัปดาห์หน้าจะมีการหารือผู้ประกอบการรายใหญ่ เช่น กลุ่มสหพัฒน์ กลุ่มเอสซีจี กลุ่ม ปตท. โตโยต้า เป็นต้น เพื่อปรับกรอบเวลาให้จ่ายเร็วขึ้น ซึ่งจะเป็นการช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้เอสเอ็มอี

สำหรับแนวทางแก้ปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลนั้นส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องที่เคยนำเสนอไปแล้ว เช่น โครงการ Special Tourist Visa (STV) ซึ่งหากได้ผลดีก็คงมีการขยายขอบเขตมากขึ้น เพราะหากเทียบจำนวนนักท่องเที่ยวแล้วยังน้อยกว่าภาพรวมมาก โครงการคนละครึ่งต้องดูแลให้กระจายลงไปถึงผู้ประกอบการอย่างทั่วถึง

ส่วนสถานการณ์ทางการเมืองนั้น หากการชุมนุมไม่เกิดปัญหารุนแรงและบานปลายก็จะไม่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่น

“ถ้าไม่มีเหตุบานปลายสร้างความเสียหายก็ไม่กังวล ถ้ามีการเจรจากันน่าจะลดความขัดแย้งได้”

นายสุพันธุ์ กล่าว

นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต รองประธานส.อ.ท. กล่าวว่า อยากให้รัฐบาลอัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจมากขึ้น เพราะกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประเมินว่า อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย (GDP)ปีนี้จะหดตัวถึง -7.7% ขณะที่เศรษฐกิจโลกจะหดตัว 4.9% เพราะถึงแม้รัฐบาลจะจัดเตรียมงบที่มีสัดส่วนถึง 8.2% ของ GDP เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจแล้วก็ตาม แต่เมื่อคิดเป็นเงินไม่มากนัก เพราะ GDP หดตัวลดลง

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 ก.ย. 63)

Tags: , , , , ,
Back to Top