PRAPAT เสริมฐานแกร่งเตรียมบุกหนักตลาด AEC โบรกฯให้เป้า 1.84-2.10 บ.

นายสืบพงศ์ เกตุนุติ รองประธานกรรมการบริษัท ในฐานะผู้ก่อตั้ง บมจ.พีรพัฒน์ เทคโนโลยี (PRAPAT) วางเป้าเข้าเป็นน้องใหม่ในตลาดหุ้นใน ต.ค.นี้ เพื่อเตรียมความพร้อมทั้งด้านฐานทุนและด้านการปฏิบัติการให้แข็งแกร่งเพียงพอรองรับการบุกขยายตลาดจาก CLMV ยกระดับสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ดันสัดส่วนยอดขายต่างประเทศพุ่งเป็น 30% ภายใน 5 ปี พร้อมขยายบริการลูกค้ากลุ่ม Food Industry และ Food Service มองโอกาสเติบโตสูงในยุค New Normal มั่นใจจะช่วยผลักดันผลงานปีหน้าฟื้นโตพุ่งหลังโควิดทำสะดุดไปในปีนี้

“วันนี้เราเป็นผู้นำด้าน Cleaning และ Hygiene อยู่แล้ว แต่ตอนนี้ยังไม่ชัดเท่าไหร่ เมื่อเราเข้าตลาดหุ้นนำเงินมามาปรับฐานทุน ระบบซอฟท์แวร์ คลังสินค้า โลจิสติกส์ เราก็จะพร้อมมากขึ้น เพราะช่องทางการจัดจำหน่ายเราสมบูรณ์อยู่แล้ว แต่จะทำให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น เพราะระยะหลังแข่งขันที่ระบบโลจิสติกส์ ฉะนั้นตรงนี้ทำให้ฐานดีขึ้น ต้นทุนเราลดลง คนก็จะลดลงด้วย เราก็พร้อมก้าวต่อไป เราไม่ได้มองแค่ประเทศไทย แต่มองการขยายใน CLMV ที่เป็นผู้นำอยู่ และจะก้าวต่อไปเป็นผู้นำในระดับ AEC ภายใน 5 ปี ต้องไปถึง”

นายสืบพงศ์ กล่าว

นายสืบพงศ์ เปิดเผยว่า บริษัทส่งออกสินค้าไปจำหน่ายในตลาด CLMV แบบค่อยเป็นค่อยไปมาแล้วกว่า 20 ปี จนถึงวันนี้มีระบบตัวแทนจำหน่ายที่เข้มแข็ง จากนี้ไปก็จะมีการเปลี่ยนระบบจัดจำหน่ายให้มั่นคงมากขึ้น อาจจะเปลี่ยนจากตัวแทนจำหน่ายเป็นการตั้งสาขาหรือร่วมทุนตั้งบริษัทจัดจำหน่าย ซึ่งตัวแทนที่มีอยู่ก็ยินดี เพราะจะทำให้บริษัทสามารถส่งพนักงานไปร่วมบริหาร ไปทำเทรนนิ่งต่างๆ เนื่องจากบริษัทจะมีการนำเสนอสินค้าและบริการใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับการเติบโตของตลาด CLMV ที่ยังมีโอกาสอีกมาก

“เขาไม่รู้ธุรกิจนี้มาก่อน นี่คือหัวใจ เราไป เราไปสอน ไป educate ไปทำ Trainning เพราะ growth ของเขามากกว่าเรา อย่างเวียดนาม การลงทุนโตมาก อีก 5 ปีด้านอุตสาหกรรมคงแซงประเทศไทย แม้ว่าท่องเที่ยวจะยังตามเราอยู่ การขยายงานจึงเป็นโอกาสที่ดี”

นายสืบพงศ์ กล่าว

PRAPAT เตรียมเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 100 ล้านหุ้น และจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) โดยมี บริษัท แอสเซท โปร แมเนจเม้นท์ จำกัด เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน วัตถุประสงค์เพื่อนำเงินไปลงทุนในระบบบัญชีและระบบควบคุมการผลิต 50 ล้านบาท, สร้างคลังสินค้า 72 ล้านบาท และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน

บริษัทและบริษัทย่อยประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำยาซักรีด น้ำยาทำความสะอาดและฆ่าเชื้อสำหรับภาคอุตสาหกรรม นำเข้าเพื่อจำหน่ายและให้เช่าเครื่องล้างภาชนะอัตโนมัติ นำเข้าและจำหน่ายสระว่ายน้ำสำเร็จรูป และอุปกรณ์ที่ใช้ในสระว่ายน้ำ รวมทั้งให้บริการแบบครบวงจรเกี่ยวกับน้ำยาทำความสะอาดและฆ่าเชื้อสำหรับภาคอุตสาหกรรม (Hygiene Cleaning Solution) ปัจจุบันบริษัทมีโรงงานผลิตน้ำยา ตั้งอยู่ที่ตำบลทับคาง อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี

นายสืบพงศ์ กล่าวว่า แผนงานขยายตลาด AEC นั้น เป้าหมายหลัก คือ อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ซึ่งบริษัทได้มีการเจรจาและทำบันทึกข้อตกลง (MOU) กับตัวแทนในอินโดนีเซียตั้งแต่ปีที่แล้ว และเตรียมเซ็นสัญญาก่อนเริ่มส่งสินค้าไปจำหน่ายในเดือน ก.พ.63 แต่มาเจอกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เสียก่อน ดังนั้นเมื่อสถานการณ์คลี่คลายลงแล้วก็จะกลับมาเดินหน้าในเรื่องดังกล่าวอย่างเต็มที่ โดยมองว่าอินโดนีเซียเป็นตลาดขนาดใหญ่จำนวนประชากรมาก แต่จำนวนห้องของโรงแรมยังน้อยกกว่าไทย การท่องเที่ยวยังตามหลังเราอยู่

ปัจจุบันยอดขายจากต่างประเทศยังมีสัดส่วนเพียง 10% แต่จากนี้จะเติบโตได้ดีขึ้น หลังจากบริษัทมีฐานทุนที่ดีขึ้น ก็จะสามารถรองรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงอัตราแลกเปลี่ยนได้ดีขึ้นด้วย เนื่องจากที่ผ่านมาค่าเงินของประเทศเพื่อนบ้านรอบประเทศไทยอ่อนค่าลงปีละ 10% ขณะที่เงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง หากขยายการส่งออกมากก็อาจมีผลกระทบกับตัวเลขในบัญชี แต่เมื่อฐานทุนเข้มแข็งขึ้น เราก็พร้อมจะโหมทำตลาดให้หนักขึ้น โดยวางเป้าหมายจะขึ้นเป็นผู้นำในตลาด AEC และสัดส่วนยอดขายจะเพิ่มเป็น 30% ภายในไม่เกิน 5 ปีข้างหน้า

“ด้วยลักษณะของตลาด สัดส่วนยอดขายจากการส่งออกคงไม่เกิน 30% ภายในไม่เกิน 5 ปี ถ้าเราโหมจริง ๆ โกดัง ออฟฟิศ ตัวแทนที่มีลักษณะ 2 คูหายังไม่พร้อม เพราะต้นทุนโลจิสติกส์จะสูง เราอาจจะต้องไปร่วมทำโกดังใหญ่ขึ้นและกระจายทั่วประเทศ อย่าง เวียดนาม จากฮานอยถึงโฮจิมินห์ยาวมาก ต้องใช้โลจิสติกส์มโหฬาร เราต้องไปจัดการอะไรประเภทนี้ เราเห็นภาพสิ่งที่เรายังไม่ได้ทำ”

นายสืบพงศ์ กล่าว

ส่วนตลาดในประเทศ ขณะนี้เป็นการขายผ่านตัวแทนจำหน่ายเป็นหลัก โดยมีตัวแทนอยู่ราว 30 ราย ครอบคลุม 77 จังหวัดทั่วประเทศอยู่แล้ว แต่อาจจะเพิ่มตัวแทนขายสินค้าเฉพาะทาง (Specialized) เพื่อรองรับแผนงานที่บริษัทจะขยายสินค้าพ่วงบริการที่เป็นนวัตกรรมใหม่มากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มลูกค้าที่เป็น Food Service และ Hospitality Industry ซึ่งจะเน้นนำเสนอบริการที่ใช้เครื่องจักรทดแทนแรงงานคนที่ขาดแคลน

“สินค้าเราเป็น dynamic ตัว Cleaning ทั้งตัวน้ำยา เครื่องจักร วิธีการทำงาน ทุกปีต้องมีอะไรใหม่ เราอยู่ใน scope ของ tourist อยู่ใน scope ของ food industry แต่ในนั้นเปลี่ยนตลอด เราต้องควานหาอะไรใหม่ ๆ อย่างเช่นเครื่องจักรทำความสะอาด จากแต่ก่อนใช้คน แต่ตอนนี้รุ่นใหม่กวาดถูตัวเดียวกัน แต่มันก็ยังไม่ทัน คนนึงได้ทำได้วันละ 100 ตร.ม. แต่ตอนนี้เครื่องได้ชั่วโมงละ 3-4 พัน ตร.ม. แทนคนได้ 10 คน แรงงานคนเดิมจะไปทำอะไรเราต้องช่วยเขาคิด ส่วนเครื่องก็ต้องใช้คนดูแลมืออาชีพ เราก็ต้องเข้าไปช่วย”

นายสืบพงศ์ กล่าว

สินค้านวัตกรรมจะเข้ามาอีกมาก โดยเฉพาะที่เป็นระบบหุ่นยนต์ที่สามารถใช้ในโรงงาน ร้านอาหาร โรงพยาบาล ซึ่งในยุค New Normal สิ่งที่จะคงอยู่คือความรู้สึกในด้านจิตสำนึกที่จะให้ความสำคัญกับสุขอนามัยเพิ่มเติม เช่น ล้างจานต้องสะอาดขึ้น ขณะนี้โรงเรียน สถานศึกษา นี้ติดตั้งเครื่องล้างจานเพิ่มขึ้นมาก และบริษัทยังเตรียมนำสินค้าใหม่ ๆ เข้ามาขายพิ่มเติม ได้แก่ หุ่นยนต์ที่สามารถสแกนหน้าคนเพื่อวัดอุณหภูมิในรัศมี 10 เมตร และตรวจสอบว่าใครใส่หน้ากากหรือไม่ สุดท้ายจะฉีดน้ำยาฆ่าเชื้อให้กับแต่ละคน

“เซอร์วิสที่เราจะก้าวต่อไปต้องใช้เงินจำนวนมากแต่กำไรดี ต้องลงทุนเครื่องจักร เพราะลูกค้าไม่มั่นใจว่าซื้อแล้วจะใช้เป็นหรือไม่ จะซ่อมเป็นหรือไม่ มีโมเดลใหม่จะเปลี่ยนรุ่นอย่างไร ซึ่งเป็นโอกาสงานบริการของเรา”

นายสืบพงศ์ กล่าว

รองประธานกรรมการ PRAPAT กล่าวอีกว่า แผนงานดังกล่าวของบริษัทจะช่วยสนับสนุนการเติบโตในอนาคต หลังจากที่สถานการณ์โควิดส่งผลกระทบต่อลูกค้าหลักในกลุ่มโรงแรมและท่องเที่ยว แต่เมื่อบริษัทหันมาเน้นลูกค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารที่แทบไม่ได้รับผลกระทบ ทำให้ยอดขายตกลงไม่มากนัก จากที่ยอดขายตกลงมากไปในเดือน เม.ย. แต่พอเดือน พ.ค.-ก.ค.ฟื้นกลับขึ้นมาอย่างรวดเร็ว เดือน ส.ค. กลับมาที่ 80% ของช่วงก่อนโควิดแล้ว และคาดว่าเดือน ก.ย.จะเพิ่มมาที่ 90%

“ตอนนี้เรากระจายความเสี่ยงมาที่ Food Industry เกือบ 50% แล้ว ซึ่งไม่ได้รับผลกระทบจากโควิด และยังมีตัวใหม่คือ Food Service เป็นอีกแขนงหนึ่ง ตลาดตรงนี้โตเร็วมาก ฟาสต์ฟู้ด ร้านอาหารต่าง ๆ ร้านกาแฟ ร้านเบเกอรี่ โตเกือบเท่า Food Industry แล้ว เป็น segment ไปได้เร็วมาก โดยเฉพาะเครื่องล้างจาน

ในภาพรวมกระทบแต่ไม่ได้หายไปทั้งหมด ปีนี้คงตกไปบ้าง แต่ปีหน้าเราหวังอย่างยิ่งกว่าจะแซงปี 62 ขึ้นอยู่กับว่าวัคซีนจะมาไตรมาสไหน ถ้ามาไตรมาส 1 โอ้โหแฮปปี้เลย แต่ถ้ามาไตรมาส 2 หายไปครึ่งปี ตัวนี้ยังตอบไม่ได้ แต่เราก็ drive ทุกตัวเต็มที่”

นายสืบพงศ์ กล่าว

โบรกฯ ให้ราคาเป้าหมาย PRAPAT ในปี 64 ที่ 1.84-2.10 บาท

บริษัทหลักทรัพย์ที่คาดว่าจะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดจำหน่ายและผู้ร่วมจัดจำหน่ายหุ้น PRAPAT ได้ออกบทวิเคราะห์และให้ราคาเป้าหมายราคาหุ้นในปี 64 ดังนี้

โบรกเกอร์ราคาเป้าหมาย (ปี 64)
โนมูระ พัฒนสิน1.90
ยูโอบี เคย์เฮียน1.88
ทรีนีตี้2.10
ฟิลลิป2.02
เคทีบี2.00
โกลเบล็ก1.84
ฟินันเซียไซรัส1.85

บทวิเคราะห์ของ บล.โนมูระพัฒนสิน ประเมินมูลค่าพื้นฐานของ PRAPAT ปี 2564F ที่ 1.90 บาท/หุ้น ด้วย PE 18 เท่า เทียบเท่าค่าเฉลี่ย PE ในอดีตของ 7 บริษัทที่อยู่ในธุรกิจเคมีภัณฑ์ในตลาด mai ได้แก่ COLOR, MGT, SALEE, SELIC, SWC, UBIS,UKEM โดย PRAPAT เป็นผู้นำด้านสารทำความสะอาดและน้ำยาฆ่าเชื้อที่ใช้ในอุตสาหกรรมการให้บริการและอุตสาหกรรมผลิตอาหารและเครื่องดื่มของไทย โดยตลาดในรูปแบบ B2B ซึ่งมีสินค้าครอบคลุมตั้งแต่ การทำความสะอาดไลน์การผลิต ซักรีด ล้างจาน ทำความสะอาดพื้น ทำความสะอาดสระว่ายน้ำ และเครื่องทำน้ำร้อนประหยัดพลังงาน

ทั้งนี้ PRAPAT มีความชำนาญในการดำเนินงานธุรกิจนานกว่า 32 ปี นอกจากนี้บริษัทยังมีฐานลูกค้าครอบคลุมหลากหลายธุรกิจ มองว่าจะช่วยลดผลกระทบของโควิด-19 ต่อผลประกอบการของบริษัท และมีรายได้ในปี 61-62 เฉลี่ยราว 12% เป็นรายได้ประจำ(Recurring revenue)จากบริการให้เช่าเครื่องล้างจาน มองว่าจะเป็นตัวช่วยลดความเสี่ยงจากการเหวี่ยงของรายได้

ขณะที่ บล.ฟินันเซีย ไซรัส คาดว่า กำไรสุทธิของ PRAPAT ในปี 63 อยู่ที่ 17 ล้านบาท ชะลอตัว 62% Y-Y ถูกกดดันจากรายได้รวมที่คาด -18% Y-Y อยู่ที่ 811 ล้านบาท โดยรายได้ปรับลงเกือบทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะกลุ่มผลิตภัณฑ์ซักรีดที่เกี่ยวข้องกับโรงแรมที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากโควิด-19 อย่างไรก็ดี ประเมินว่ามีเพียงรายได้การขายผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อ และครัวเรือนที่ขยายตัวได้ +6% Y-Y และ +10% Y-Y ตามลำดับ ขณะที่อัตรากำไรขั้นต้นคาดปรับขึ้นเป็น 45.3% จาก 44.7% ในปี 62 ตามสัดส่วนรายได้หลักมาจากกลุ่มผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อที่มีมาร์จิ้นสูง เนื่องจากใช้วัตถุดิบที่บริษัทผลิตเอง

ทั้งนี้ กำไร 6 เดือนแรกของปี 63 คิดเป็น 64.5% ของประมาณการทั้งปี ขณะที่ผลประกอบการครึ่งปีหลังคาดอ่อนลง H-H และ Y-Y จากสถานการณ์โควิดที่ยังยืดเยื้อ แต่ในปี 64 คาดว่ากำไรสุทธิจะฟื้นตัว 103% Y-Y ที่ 35 ล้านบาท จากรายได้รวมที่ขยายตัว 14% Y-Y เป็น 927 ล้านบาท หนุนจากยอดขายของกลุ่มผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อและครัวเรือนที่เร่งขึ้นต่อเนื่อง รวมถึงการฟื้นตัวของกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับโรงแรม และร้านอาหาร นอกจากนี้ อัตรากำไรขั้นต้นรวมคาดปรับขึ้นเป็น 46.1% จาก 45.3% ในปี 63 จากการเน้นขายผลิตภัณฑ์ที่บริษัทผลิตวัตถุดิบเอง รวมถึงไม่มีการยกเว้นค่าเช่าให้แก่ลูกค้าเหมือนในไตรมาส 2/63

อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงที่ต้องติดตาม และมีผลต่อประมาณการคือ การแพร่ระบาดรอบใหม่ของโควิด-19 ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อความต้องการผลิตภัณฑ์ของบริษัทที่มีหลายกลุ่มเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว โดยเฉพาะโรงแรม และร้านอาหาร

บทวิเคราะห์ บล.ทรีนีตี้ คาดว่าผลการดำเนินงาน PRAPAT จะเติบโตต่อเนื่อง ประมาณการรายได้เติบโตในปี 63 ถึง 65 เฉลี่ย 14.1% ต่อปี จากปีนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เป็นฐานต่ำ และคาดในปีหน้าสถานการณ์จะค่อยๆดีขึ้น ประกอบการการลงทุนในระบบ ERP ช่วยควบคุมต้นทุน คาดอัตรากำไรขั้นต้นจะอยู่ที่ราว 46% ต่อปี และประมาณการกำไรสุทธิปี 63-65 เติบโตสูง (CAGR) เฉลี่ย 91.6% ต่อปี

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 ก.ย. 63)

Tags: , , , , , , ,
Back to Top