ค่ายมือถือตบเท้ายื่นซองประมูล 5G กสทช.คาดได้เงินกว่า 7 หมื่นลบ.

TRUE-TOT-DTAC-ADVANC-CAT เข้ายื่นซองประมูล 5G, กสทช.คาดได้เงินประมูลกว่า 7 หมื่นลบ.พร้อมเปิดรายละเอียด 12 ก.พ. เชื่อเปิดให้บริการได้ก่อน ก.ค. 63

นายจักรกฤษณ์ อุไรรัตน์ รองผู้อำนวยการด้านรัฐกิจสัมพันธ์ บมจ.ทรู คอร์ปเรชั่น (TRUE) และนางสาวยุภา ลีวงศ์เจริญ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการเงิน TRUE เดินทางมายื่นคำขอรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล ย่าน 700 MHz 1800 MHz 2600 MHz และ 26 GHz ต่อทางคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เป็นรายแรกในเวลา 11.00 น.

จากนั้น เมื่อเวลา 11.09 น. นายพิพัฒน์ ขันทอง รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทีโอที (TOT) พร้อมคณะผู้บริหาร ได้เดินทางมายื่นคำขอรับใบอนุญาตฯ เป็นรายที่ 2 โดยได้จัดเตรียมเอกสารข้อมูลผู้รับใบอนุญาตและเอกสารหลักฐานประกอบคำขอรับใบอนุญาต/คำร้องของผู้ขอรับใบอนุญาต/รายงานการถือครองหุ้นและการมีอำนาจควบคุมผู้มีสิทธิถือครองและเข้าถึงข้อมูลของผู้ขอรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่/หนังสือยินยอมของผู้ขอรับใบอนุญต และหนังสือค้ำประกันจากธนาคารเพื่อเป็นหลักประกันการประมูล

ด้านบมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯเมื่อช่วงเที่ยงว่า บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท จะทำการยื่นเอกสารเพื่อเข้าร่วมประมูลและเพื่อขอรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล ต่อสำนักงาน กสทช. ในวันที่ 4 ก.พ.63 ซึ่งต่อมาในช่วงบ่ายนายนายชารัด เมห์โรทรา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ของ DTAC พร้อมด้วยทีมผู้บริหารเดินทางไปเพื่อยื่นเอกสารเข้าร่วมประมูลที่สำนักงาน กสทช.

สำหรับในช่วงบ่าย บมจ.กสท.โทรคมนาคม (CAT) และบริษัท แอดวานซ์ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด บริษัทในกลุ่มบมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) ได้เดินทางมายื่นเอกสารเพื่อเข้าร่วมประมูลและขอรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากลดังกล่าวแล้วเป็นรายที่ 4 และ 5 ตามลำดับ

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. คาดว่าจะสามารถได้รับเงินประมูลให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล ย่าน 700 MHz 1800 MHz 2600 MHz และ 26 GHz คิดเป็นมูลค่ากว่า 7 หมื่นล้านบาท จาก 30 ใบอนุญาต เพิ่มขึ้นจากเดิมคาดว่าจะได้รับเงินราว 5 หมื่นล้านบาท จาก 24-25 ใบอนุญาต

โดยคาดว่าการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 700 MHz และคลื่นความถี่ย่าน 2600 MHz จะออกประมูลได้หมด ส่วนคลื่นความถี่ 26 GHz คาดจะมีการประมูลมากกว่า 4-5 ใบอนุญาต

ส่วนคลื่นความถี่ 1800 MHz คาดว่าจะไม่มีรายใดเข้าประมูล เนื่องจากราคาเริ่มต้นสูง ซึ่งกสทช.ปรับลดราคาไม่ได้ ไม่เช่นนั้นจะเป็นการเอื้อเอกชน และกสทช.ก็จะถูกฟ้องร้องได้ ซึ่งหากไม่มีการประมูลคลื่นความถี่ดังกล่าวในรอบนี้ ก็จะนำมาประมูลรอบใหม่พร้อมกับคลื่น 3400 MHz โดยจะทบทวนราคาตลาดใหม่ ก่อนจะนำเข้าสู่การพิจารณาและรับฟังความคิดเห็นเพื่อหาราคาที่เหมาะสมต่อไป

ทั้งนี้ คลื่นความถี่ 700 MHz มีจำนวน 3 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 2×5 MHz ราคาเริ่มต้น 8,792 ล้านบาท เคาะราคาครั้งละ 440 ล้านบาท, คลื่น 1800 MHz จำนวน 7 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 2×5 MHz ราคาเริ่มต้น 12,486 ล้านบาท เคาะราคาครั้งละ 25 ล้านบาท, คลื่น 2600 MHz จำนวน 19 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 10 MHz ราคาเริ่มต้น 1,862 ล้านบาทเคาะราคาครั้งละ 93 ล้านบาท และคลื่น 26 GHz จำนวน 27 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 100 MHz ราคาเริ่มต้น 423 ล้านบาท เคาะราคาครั้งละ 22 ล้านบาท

นายฐากร กล่าวว่า หลังจากปิดการรับเอกสารเข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ดังกล่าว ในวันนี้ เวลา 16.30 น. ก็จะเป็นช่วง Silent Period ที่ไม่ให้โอเปอเรเตอร์ที่ยื่นเข้าร่วมประมูลให้ความเห็นหรือให้ข้อมูลใด ๆ เกี่ยวกับการประมูล 5G จนถึงวันที่ประกาศรับรอง

จากนั้น ในวันที่ 12 ก.พ.นี้ สำนักงาน กสทช.จะประกาศผู้เข้าร่วมประมูลจะประมูลคลี่นความถี่ใดบ้าง หลังจากคณะกรรมการ กสทช. พิจารณาผลการตรวจคุณสมบัติผู้เข้าร่วมประมูล และแจ้งความจำนงประมูลคลื่นใด ขณะที่ในวันที่ 16 ก.พ.นี้จะเคาะราคา โดยจะเคาะราคาทีละคลื่น เริ่มต้นที่คลื่น 700MHz ถัดมาคลื่น 1800 MHz , คลื่น 2600 MHz และคลื่น 26GHz

“ทุกโอเปอเรเตอร์ ต้องการคลื่น 2600 MHz เพื่อทำ 5G ซึ่งหากต้องการให้มีประสิทธิภาพจะใช้ 100 MHz แต่ที่นำออกมาประมูลมี 190 MHz อย่างน้อยก็จะต้องใช้ 60 MHz หากแบ่งกันก็จะได้ 3 โอเปอเรเตอร์ จึงคาดว่าอาจจะเห็นการแข่งขันในคลื่นนี้”นายฐากร กล่าว

นายฐากร กล่าวว่า ในวันที่ 19 ก.พ.นี้ คณะกรรมการ กสทช.จะพิจารณารับรองผลการประมูล และออกใบอนุญาตให้โดยเร็วหลังจากเอกชนชำระเงินงวดแรกแล้ว 3-4 วัน ซึ่งคาดว่าไทยจะสามารถเปิดให้บริการ 5G ได้ก่อนเดือน ก.ค.63 หรือก่อนการแข่งขันโอลิมปิก 2020

ทั้งนี้ เอกชนจะต้องลงทุนขยายโครงข่ายโดยต้องติดตั้งอุปกรณ์และสถานีฐาน (cell site) จำนวนมาก โดยปี 63 ซึ่งคาดเอกชนจะต้องลงทุนราว 1.3 แสนล้านบาท และปี 64 ลงทุน 2 แสนล้านบาท แม้ว่าปัจจุบันจะมีจำนวนสถานีฐานมากถึง 1.3 แสนสถานีฐานก็ตาม

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (04 ก.พ. 63)

Tags: , , , , ,
Back to Top