ศูนยข้อมูล ธอส. มองแนวโน้มตลาดอสังหาฯซึมยาวถึงปี 65 ก่อนเริ่มฟื้นในปี 66

นายวิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และรักษาการผู้อำนวยการ ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ กล่าวว่า ตลาดอสังหาริมทรัพย์ยังมีแนวโน้มซึมตัวต่อเนื่องไปจนถึงปี 65 และจะเริ่มเห็นการฟื้นตัวกลับมาเพิ่มขึ้นชัดเจนในปี 66 จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังไม่มีความแน่นอนว่าจะมีการใช้วัคซีนออกมารักษาได้เมื่อใด และกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวลง แม้ว่าจะเห็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจดีขึ้นบ้างหลังการคลายล็อกดาวน์ แต่เป็นทิศทางการฟื้นตัวที่ยังคงชะลอตัวอยู่ หรือไม่ได้ฟื้นตัวกลับมาอย่างรวดเร็ว ทำให้มองภาพการฟื้นตัวในปี 64 ยังไม่ดีเท่าที่ควร

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของการขายและโอนกรรมสิทธิ์ที่ยังขาดปัจจัยหนุนเข้ามาช่วยกระตุ้นตลาดในกลุ่มที่อยู่อาศัยระดับราคา 3-5 ล้านบาทที่ยังไม่มีมาตรการออกมาสนับสนุน ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความต้องการซื้อมาก แต่ยังชะลอการซื้ออยู่ เพราะยังไม่มีมาตรการออกมาจูงใจให้เร่งตัดสินใจ โดยที่อยู่อาศัยในระดับราคา 3-5 ล้านบาทถือว่ามีสัดส่วนในตลาดค่อนข้างสูงถึง 40% หรือมีมูลค่ารวมราว 8 หมื่นล้านบาท

หากมีการขยายเพดานของมาตรการปรับลดค่าธรรมเนียมการโอนและการจดจำนองขึ้นมาในกลุ่มระดับราคาสูงกว่า 3 ล้านบาท ก็เชื่อว่าจะทำให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยกลับมากระเตื้องขึ้นได้ และจะมีเม็ดเงินเพิ่มเข้ามาหมุนเวียนในระบบอีกมากกว่า 2.4 แสนล้านบาท ซึ่งจะช่วยเศรษฐกิจไทยได้

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมาตรการสนับสนุนภาคอสังหาริมทรัพย์ของภาครัฐในการลดค่าธรรมเนียมการโอนและการจดจำนองเหลือ 0.01% สำหรับบุคคลที่ซื้อที่อยู่อาศัยราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับประโยชน์ที่ยังมีค่อนข้างจำกัด เพราะเป็นกลุ่มที่มีปัญหาเรื่องภาระหนี้สินค่อนข้างมาก ทำให้เห็นอัตราการปฏิเสธสินเชื่อในระดับสูง ประกอบกับความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินที่เพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่อการโอนของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ และกระทบมาถึงภาพรวมของตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ยังไม่เห็นการกลับมาฟื้นตัวชัดเจนได้

นอกจากนี้ สิ่งที่ศูนย์ข้อมูลอสังหาฯ แนะนำเป็นเป็นแนวทางเพื่อให้กลุ่มคนที่มีรายได้น้อยที่เป็นกลุ่มที่มีภาระหนี้สินมาก สามารถเข้าถึงการมีบ้านเป็นของตัวเอง และสามารถเข้าถึงการกู้ยืมสินเชื่อได้ง่ายมากขึ้น รวมถึงช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายลง อยากเห็นการปรับโครงสร้างหนี้ใหม่จากหนี้ระยะสั้นที่มีอัตราดอกเบี้ยสูง ซึ่งเป็นหนี้สินที่คนมีรายได้น้อยมีอยู่ค่อนข้างมาก นำมารวมกันเป็นสินเชื่อระยะยาวที่มีอัตราดอกเบี้ยถูกลง

หรือนำมาเป็นสินเชื่อบ้าน และประเมินวงเงินกู้ที่เหลือเพื่อดูความสามารถในการกู้สินเชื่อบ้านที่เหลืออยู่ของคนนั้นๆ ซึ่งจะทำให้คนรายได้น้อยมีค่าใช้จ่ายรายเดือนลดลง แต่ผ่อนระยะยาวขึ้น สามารถมีบ้านเป็นของตัวเองได้ และช่วยกระตุ้นตลาดอสังหาริมทรัพย์ได้

ขณะเดียวกันสิ่งที่อยากเห็นอีกอย่างหนึ่ง คือ การทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมมากขึ้น หลังจากล่าสุดที่ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ได้ให้ข้อเสนอ 21 ข้อกับนายกรัฐมนตรีในการช่วยเหลือและกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ หรือในช่วงก่อนหน้าที่ผ่านมา แต่ก็ยังไม่เห็นผลของการรับข้อเสนอนำออกมาใช้ที่เป็นรูปธรรม และไม่สามารถช่วยตลาดอสังหาริมทรัพย์ได้อย่างชัดเจนเช่นกัน

ซึ่งมองว่าการทำงานของภาครัฐและเอกชนจะต้องมีการทำงานร่วมกันอย่างจริงจัง และมีไทม์ไลน์ออกมาอย่างชัดเจน พร้อมกับให้ความชัดเจนกับภาคเอกชนว่าข้อเสนอใดสามารถทำได้หรือทำไม่ได้ เพื่อให้ภาคเอกชนได้รับทราบ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 ก.ย. 63)

Tags: , ,
Back to Top