ไทยพบผู้ติดเชื้อโควิดใหม่อีก 22 ราย เดินทางมาจากต่างประเทศ

  • ศบค.สรุปยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในไทย วันนี้ (11.30 น.)
  • ผู้ติดเชื้อสะสม 3,545 คน (+22)
    • เป็นผู้ติดเชื้อในประเทศ = 0 ราย
    • เป็นผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศอยู่ในสถานกักกันที่รัฐจัดให้ (State Quarantine) = 22 ราย
  • รักษาหายแล้ว 3,369 คน (+2)
  • ผู้ป่วยรักษาอยู่โรงพยาบาล 117 คน (+20)
  • เสียชีวิตสะสม 59 คน (+0)

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เปิดเผยสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ว่า พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อรายใหม่เพิ่มเติมอีก 22 ราย โดยเดินทางมาจากประเทศปากีสถาน ซูดานใต้ ฟิลิปปินส์ อินเดีย

โดย 16 ราย เดินทางกลับมาจากประเทศซูดานใต้ ทุกรายเป็นเพศชาย สัญชาติไทย อายุระหว่าง 27-54 ปี อาชีพรับราชการทหาร (ทหารช่างเฉพาะกิจ ไปปฎิบัติภารกิจทางทหาร) เดินทางถึงประเทศไทย โดยเครื่องบินเช่าเหมาลำ เมื่อวันที่ 22 ก.ย.เข้าพัก State Quarantine ในจ.ชลบุรี และตรวจหาเชื้อครั้งที่ 1 ในวันที่ 26 ก.ย. ผลตรวจพบเชื้อ ไม่มีอาการ เข้ารับการรักษาที่รพ.พระมงกุฎเกล้า กทม.

อีก 1 ราย เป็นนักเรียนชายไทย อายุ 13 ปี เดินทางมาจากปากีสถาน พร้อมครอบครัวถึงไทยวันที่ 13 ก.ย. (เที่ยวบินเดียวกับผู้ป่วยยืนยันก่อนหน้า 2 ราย เข้าพัก State Quarantine ในจ.ชลบุรี และตรวจหาเชื้อครั้งที่ 2 ในวันที่ 26 ก.ย. ผลตรวจพบเชื้อ ไม่มีอาการ เข้ารับการรักษาในรพ.แห่งหนึ่งในจ.ชลบุรี

อีกรายเป็นชายไทย อายุ 24 ปี อาชีพรับราชการทหาร (ไปศึกษาวิชาทหาร) เดินทางมาจากฟิลิปปินส์ เดินทางถึงไทยวันที่ 23 ก.ย.เข้าพัก State Quarantine ในจ.ชลบุรี และตรวจหาเชื้อครั้งที่ 1 ในวันที่ 26 ก.ย. ผลตรวจพบเชื้อ ไม่มีอาการ เข้ารับการรักษา รพ.แหลมฉบัง จ.ชลบุรี

และ อีก 4 รายเดินทางมาจากประเทศอินเดีย โดย 3 รายแรก เป็นมารดาและเด็กหญิง สัญชาติอินเดีย อายุ 35 ปี และ 7 ปี และเป็นชาย สัญชาติอินเดีย อายุ 38 ปี เป็นกรรมการบริษัท มีใบอนุญาตทำงาน เดินทางมาถึงไทยวันที่ 23 ก.ย. เข้าพัก Alternative State Quarantine ในกทม. และตรวจหาเชื้อครั้งที่ 1 ในวันที่ 26 ก.ย. ผลตรวจพบเชื้อ ไม่มีอาการ เข้ารับการรักษาในรพ.เอกชน แห่งหนึ่ง ในกทม., อีกราย เป็นชาย สัญชาติอินเดีย อาชีพพนักงานบริษัท เดินทางถึงไทยวันที่ 25 ก.ย. เข้าพัก Alternative State Quarantine ในกทม. และตรวจหาเชื้อครั้งที่ 1 ในวันที่ 25 ก.ย. ผลตรวจพบเชื้อ ไม่มีอาการ เข้ารับการรักษาในรพ.เอกชน แห่งหนึ่ง ในกทม.

สำหรับจำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมล่าสุดอยู่ที่ 3,545 ราย เป็นผู้ป่วยที่ติดเชื้อภายในประเทศ 2,445 ราย และผู้ป่วยที่ตรวจพบในสถานกักกันที่รัฐจัดให้ 607 ราย และวันนี้มีผู้ป่วยรักษาหายแล้วรวมเป็น 3,369 ราย ยังมีผู้ป่วยรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 117 ราย ขณะที่ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม โดยยอดผู้เสียชีวิตสะสมอยู่ที่ 59 ราย

ขณะที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลกวันนี้ ตัวเลขผู้เสียชีวิตแตะ 1 ล้านรายเป็นวันแรก โดยมียอดผู้เสียชีวิตสะสม 1,002,389 ราย จากจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อรวม 33,304,666 ราย สหรัฐอเมริกามีผู้ป่วยสะสมมากสุด 7,321,343 ราย เสียชีวิต 209,453 ราย รองลงมาคือ อินเดีย มีผู้ป่วยสะสม 6,073,348 ราย เสียชีวิต 95,574 ราย และบราซิลมีผู้ป่วยสะสม 4,732,309 ราย เสียชีวิต 141,776 ราย ส่วนประเทศไทยอยู่อันดับที่ 138

“สถานการณ์แพร่ระบาดทั่วโลกในช่วง 3-4 วันนี้จะประมาณ 1 ล้านราย สถานการณ์ยังไม่น่าไว้ว่างใจ”

นพ.ทวีศิลป์ กล่าว

โฆษก ศบค.กล่าวว่า สถานการณ์แพร่ระบาดของเมียนมาเมื่อเดือน ส.ค.ยังอยู่ในบริเวณชายแดนทางฝั่งอินเดีย พอมาต้นเดือน ก.ย.เริ่มกระจายเข้ามาถึงใจกลางประเทศแล้ว มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น และเริ่มระบาดเข้าใกล้ชายแดนติดกับไทยที่มีอยู่ 10 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย, เชียงใหม่, แม่ฮ่องสอน, ตาก, กาญจนบุรี, ราชบุรี, เพชรบุรี, ประจวบคีรีขันธ์, ชุมพร และระนอง ซึ่งขอให้ประชาชนในพื้นที่ชายแดนช่วยกันเป็นหูเป็นตาเฝ้าระวังด้วย

ส่วนการส่งทีมแพทย์เข้าไปให้ความช่วยเหลือกับประเทศเพื่อนบ้านนั้น ที่ผ่านมามีความร่วมมือกันด้วยดีโดยได้ประสานงานกันอย่างใกล้ชิด โดยเราพร้อมให้ความร่วมมือ และกำลังรอการตอบรับเท่านั้น

ทั้งนี้ สธ.ได้ดำเนินการตรวจหาเชื้ออย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันทั่วประเทศมีห้องปฏิบัติการ 229 แห่ง และสามารถดำเนินการตรวจหาเชื้อไปแล้ว 9.77 แสนราย โดยล่าสุดกำหนดกลุ่มเป้าหมายในการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ได้แก่ 1.การตรวจสำหรับการเฝ้าระวัง 2.การตรวจสำหรับการสอบสวนระบาดวิทยา และ 3.การตรวจเพื่อวัตถุประสงค์อื่น

โฆษก ศบค.กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่จะช่วยป้องกันได้ในช่วงที่ยังไม่มีวัคซีนคือหน้ากาก โดยปัจจุบันพบว่าการใช้หน้ากากลดลงจาก 94.8% ในเดือน พ.ค.มาอยู่ที่ 82.2% ซึ่งหากต้องการป้องกันการติดเชื้อต้องขอความร่วมมือจากประชาชนให้ใช้หน้ากากมีสัดส่วนสูงกว่า 90% ซึ่งสถานการณ์ขณะนี้เข้าสู่ระบบปกติแล้ว โดยกำหนดราคาขายปลีกไม่เกินชิ้นละ 2.50 บาท นอกจากนี้ขอให้คำนึงถึงเรื่องการเว้นระยะห่าง ขณะที่ภาครัฐเองมีความพร้อมในเรื่องเวชภัณฑ์ ทั้งหน้ากาก N95, ชุด PPE, ยาฟาวิพิราเวียร์ 590,680 เม็ด ที่รองรับใช้กับผู้ป่วย 8,438 ราย

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 ก.ย. 63)

Tags: , , , ,
Back to Top