ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ม.ค. อยู่ที่ 67.3 ต่ำสุดในรอบ 69 เดือน

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ม.ค.63 อยู่ที่ 67.3 จากเดือน ธ.ค. 62 ที่อยู่ในระดับ 68.3 ปรับตัวลดลงต่อเนื่องในรอบ 69 เดือน สาเหตุมาจากความกังวลการระบาดไวรัสโคโรนา และงบประมาณรายจ่ายปี 2563 ล่าช้า และปัญหาภัยแล้ง

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโดยรวมเดือน ม.ค.อยู่ที่ 54.9 ลดลงจากเดือน ธ.ค.62 ที่อยู่ในระดับ 56.0 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำเท่ากับ 63.8 จาก 64.8 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตเท่ากับ 83.0 จาก 84.2

โดยมีปัจจัยลบสำคัญ ได้แก่ การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา, สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ปรับลดอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ปี 62 เหลือ 2.5% จากเดิมที่คาด 2.8% รวมถึงปรับลด GDP ปี 63 ลงจาก 3.3% เหลือ 2.8%, การส่งออกในเดือนธ.ค. ลดลง -1.28%, ความกังวลต่อการบังคับใช้งบประมาณรายจ่ายปี 63 ที่ล่าช้า, ปัญหาภัยแล้ง, ความกังวลปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5, ราคาพืชผลเกษตร ยังอยู่ในระดับต่ำ และผู้บริโภคยังกังวลเศรษฐกิจฟื้นตัวช้าและกระจุกตัว

ขณะที่ปัจจัยบวกในเดือนนี้มีเพียงราคาขายปลีกน้ำมันที่ปรับลดลง

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในฐานะประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ม.ค.63 ยังคงปรับตัวลดลงต่อเนื่อง และอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 69 เดือน โดยดัชนีความเชื่อมั่นทุกรายการยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าปกติ (ระดับ 100) ซึ่งแสดงว่าผู้บริโภคยังไม่มีความมั่นใจเกี่ยวกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ โอกาสการหางานทำ และรายได้ในอนาคตมากนัก

“การที่ดัชนีฯ ยังปรับตัวลดลงต่อเนื่องทุกรายการจากความไม่มั่นใจในสถานการณ์การเมือง และกังวลกับความไม่แน่นอนในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกที่มีความเสี่ยงสูง ราคาพืชผลเกษตรยังทรงตัวในระดับต่ำ ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเชิงลบในอนาคต อีกทั้งผู้บริโภคยังระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอยอย่างต่อเนื่องไปจนถึงกลางไตรมาสที่ 2 ของปีนี้เป็นอย่างน้อย ดังนั้นรัฐบาลควรดำเนินนโยบายการเงินและการคลังผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง” นายธนวรรธน์ ระบุ

สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 นั้น จากการสำรวจในช่วงเดือน ม.ค.63 ผู้บริโภคมองว่าเศรษฐกิจไทยยังไม่ได้รับผลกระทบที่รุนแรงจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา เพียงแต่ยังมีความกังวลต่อสถานการณ์ดังกล่าวว่าจะยืดเยื้อหรือรุนแรงมากขึ้นหรือไม่ หากสถานการณ์ไม่ยืดเยื้อและไม่รุนแรงก็เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับมาฟื้นตัวได้

นายธนวรรธน์ มองว่า ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือน ม.ค.63 นี้ อาจยังไม่สะท้อนความกังวลที่แท้จริงของผู้บริโภคต่อเหตุการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนาได้ชัดเจนมากนัก แต่เชื่อว่าในเดือน ก.พ.ผลสำรวจจะสะท้อนมุมมองของผู้บริโภคได้ชัดเจนมากขึ้นว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะสร้างความกังวลที่มีต่อเศรษฐกิจไทยมากน้อยเพียงใด

“กรณีไวรัสโคโรนาเข้ามาเป็นปัจจัยลบในช่วงปลายๆ เดือนมกราคม ต่อจากเรื่องงบประมาณล่าช้า ดังนั้นจึงยังไม่มี Impact ในเดือนมกราคม ดังนั้นดัชนีความเชื่อมั่นในเดือนนี้ยังไม่สะท้อนความกังวลเรื่องไวรัสโคโรนาอย่างแท้จริง แต่ตัวเลขจะปรากฎชัดเจนในการสำรวจช่วงเดือนกุมภาพันธ์ เพราะในช่วงนั้นยอดการแพร่ระบาดน่าจะเพิ่มสูงขึ้นแบบก้าวกระโดด ซึ่งเป็นภาวะปกติของการแพร่ระบาดของโรค แต่การเสียชีวิตยังไม่สูง ดังนั้นเชื่อว่าในเดือนกุมภาพันธ์ นานาชาติน่าจะเริ่มคลายกังวล ตลาดหุ้น ราคาน้ำมันคงจะเริ่มนิ่ง ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนกุมภาพันธ์จะเป็นตัวบอกได้ชัดเจนว่ามันบั่นทอนเศรษฐกิจในภูมิภาคต่างๆ ในมุมมองของผู้บริโภคแค่ไหน และสร้างความกังวลต่อเศรษฐกิจไทยในอนาคตมากน้อยแค่ไหน เราเชื่อว่าดัชนีฯ อาจจะลงต่อ แต่อยากรู้ว่าจะลงหนักแค่ไหน” นายธนวรรธน์ กล่าว

พร้อมระบุว่า เศรษฐกิจไทยยังมีสัญญาณการเติบโตที่ไม่โดดเด่น ประชาชนยังมองว่าเศรษฐกิจไทยมีโอกาสจะชะลอตัวต่อเนื่อง ซึ่งจะเห็นได้จากการค่าใช้จ่ายในการซื้อบ้าน รถยนต์ ท่องเที่ยว รวมทั้งการจับจ่ายใช้สอยอื่นๆ ที่ชะลอตัว

อย่างไรก็ดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คาดว่าสถานการณ์จะคลี่คลายลงได้ในช่วง 2-3 เดือน คิดเป็นมูลค่าผลกระทบทางเศรษฐกิจราว 2.2 แสนล้านบาท (รวมทั้งกรณีของไวรัสโคโรนา, งบประมาณปี 63 ล่าช้า และปัญหาภัยแล้ง) ส่งผลกระทบต่อ GDP ในปีนี้ให้มีโอกาสลดลงราว 1.3% จากล่าสุดที่คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายตัวได้ 2.8% โดยมีแนวโน้มที่จะปรับลดประมาณการในโอกาสต่อไป

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (05 ก.พ. 63)

Tags: , ,
Back to Top