ผู้แทนไทยร่วมประชุม รมว.คลังเอเปค แจงมาตรการภาครัฐช่วยหนุน ศก.

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงผลการหารือการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเอเปค (APEC Virtual Finance Ministers’ Meeting: APEC VFMM) ครั้งที่ 27 ในรูปแบบการประชุมทางไกล เมื่อวันที่ 25 ก.ย. ที่ผ่านมา

โดยมีนางสาวเกตสุดา สุประดิษฐ์ ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ สศค. เป็นผู้แทน รมว.คลังเข้าร่วมการประชุมว่า ที่ประชุมได้มีการหารือเกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดจากโควิด-19 ที่ได้ก่อให้เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำที่สุดนับแต่ปี 2473 (ค.ศ. 1930) ซึ่งส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเปราะบาง ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีการนำมาใช้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวในช่วงปลายปี 2564 และกลุ่มธนาคารโลกคาดการณ์ตัวเลขคนยากจนมาก (Extreme Poverty) จะเพิ่มจาก 100 ล้านคนในปี 2563 เป็น 150 ล้านคน ในปี 2564

นอกจากนี้ การประชุม APEC VFMM ในครั้งนี้สมาชิกได้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการรับมือและใช้มาตรการต่าง ๆ ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบของโควิด-19 เพื่อที่เขตเศรษฐกิจต่าง ๆ จะนำไปพิจารณาปรับใช้ตามความเหมาะสม โดยผู้แทนไทยได้ชี้แจงต่อที่ประชุมถึงมาตรการด้านการคลังและการเงินในการรับมือและกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านการให้เงินช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ การบรรเทาค่าใช้จ่ายด้านอุปโภคบริโภค การขยายระยะเวลาการยื่นแบบชำระภาษี รวมไปถึงการให้ความช่วยเหลือด้านเงินทุนแก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises: SMEs) และการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย การปรับโครงสร้างหนี้ และการออกกองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งมีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจไทยเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวที่ดีขึ้น

ทั้งนี้ ประสบการณ์ในการรับมือกับวิกฤตโควิด-19 ของสมาชิกแสดงให้เห็นว่า ทุกเขตเศรษฐกิจดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ใช้งบประมาณจำนวนมาก โดยต่างให้ความสำคัญกับการรักษาระดับหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศเพื่อการฟื้นตัวและการเติบโตอย่างยั่งยืน เช่นเดียวกับไทยที่ดำเนินการด้วยความระมัดระวัง โดยระดับหนี้สาธารณะของไทยยังคงอยู่ภายใต้กรอบความมั่นคงทางการคลัง โดยร้อยละ 98 ของแหล่งเงินกู้มาจากแหล่งเงินกู้ในประเทศ

พร้อมกันนี้ เอเปคยังให้ความสำคัญกับการดำเนินการด้านสุขภาพ สาธารณสุข และการนำระบบดิจิทัลมาใช้ในระบบการเงิน ซึ่งได้มีบทบาทที่สำคัญในช่วงของการระบาดของโควิด-19 ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการดำเนินธุรกิจของภาคส่วนต่างๆ รวมไปถึงการควบคุมการระบาดของโควิด-19 อีกทั้ง เอเปคยังคงมุ่งมั่นต่อการดำเนินการในอนาคต (APEC post-2020 vision) และให้ความสำคัญกับความร่วมมือในทุกรูปแบบต่อไป จึงกล่าวได้ว่า การประชุมครั้งนี้ทำให้ไทยได้เห็นมุมมองต่อการรับมือ COVID-19 ของสมาชิกเอเปค ขณะเดียวกันก็ได้เห็นทิศทางการดำเนินการร่วมกันของสมาชิกเอเปคต่อไปในอนาคต

สำหรับการประชุม รมต.คลังเอเปค (APEC Virtual Finance Ministers’ Meeting: APEC VFMM) ครั้งที่ 27 ในรูปแบบการประชุมทางไกล มี รมว.คลังสหพันธรัฐมาเลเซีย (Tengku Zafrul Tengku Abdul Aziz) เป็นประธาน พร้อมด้วยผู้แทนระดับสูงจากสมาชิกเอเปคทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจ และผู้แทนจากองค์กรระหว่างประเทศ อาทิ องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Co-operation and Development: OECD) กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) กลุ่มธนาคารโลก (World Bank Group) ธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) เป็นต้น เข้าร่วมการประชุม

ซึ่งแนวคิดหลักของการประชุมเอเปคประจำปี 2563 คือ การใช้ประโยชน์สูงสุดจากศักยภาพมนุษย์เพื่ออนาคตที่พร้อมรับความเปลี่ยนแปลงไปสู่ความรุ่งเรืองร่วมกัน ผ่านการกำหนดความสำคัญ การจัดลำดับความสำคัญ และความก้าวหน้า (Optimizing Human Potential towards a Resilient Future of Shared Prosperity: Pivot. Priorities. Progress.)

ขณะที่การประชุม APEC FMM ครั้งที่ 28 จะจัดขึ้นในเดือนตุลาคม 2564 โดยมีประเทศนิวซีแลนด์เป็นเจ้าภาพ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 ก.ย. 63)

Tags: , , , , , , , ,
Back to Top