แนะตั้งคณะทำงานตรวจสอบการลงทุนของกองทุนประกันสังคมในศรีพันวา

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อนุกรรมการกลั่นกรองกฎหมาย การกำหนดอัตราเงินสมทบ และการพัฒนาสิทธิประโยชน์ สำนักงานประกันสังคม อดีตรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยฯ มหาวิทยาลัยรังสิต บรรยายในงานเสวนา “ฟังเสียงเจ้าของเงิน ประชาชนต้องมีสิทธิบริหารประกันสังคม” ว่า ขณะนี้มีผู้ประกันตนจำนวนไม่น้อยเกิดความวิตกต่อเงินสมทบของตนเองในกองทุนประกันสังคม หลังจากปรากฏข้อเท็จจริงว่า มีการนำเงินกองทุนประกันสังคมไปลงทุนในบริษัทศรีพันวาในสัดส่วนที่สูงและบริษัทประสบการขาดทุนมาก

ดังนั้น จึงขอเสนอให้มีการจัดตั้งคณะทำงานในการเข้าไปตรวจสอบการลงทุนดังกล่าวด้วย และคณะทำงานชุดนี้ควรตรวจสอบบริษัทอื่นๆ ที่ประกันสังคมลงทุนแล้วประสบการขาดทุนมากกว่าเกณฑ์ผลตอบแทนในตลาดการเงินมากๆ เพื่อปกป้องความยั่งยืนทางการเงินของกองทุนประกันสังคม และผู้ประกันตนและนายจ้างจะได้เกิดความสบายใจว่า เงินที่ได้จ่ายสมทบมาจะได้รับการบริหารเงินทุนด้วยความระมัดระวัง โปร่งใส และ ยึดหลักธรรมาภิบาลในการบริหารกองทุนขนาดใหญ่

แม้ผลการดำเนินงานของการบริหารเงินลงทุนของกองทุนประกันสังคม มีค่าเฉลี่ยดีกว่าเกณฑ์ผลตอบแทนของตลาดสำหรับกองทุนที่มีนโยบายการลงทุนและข้อกำหนดในการลงทุนแบบเดียวกันมาอย่างต่อเนื่อง แต่การทบทวนนโยบายการลงทุนและประเมินผลบรรดาผู้จัดการลงทุนที่กองทุนประกันสังคมอย่างสม่ำเสมอ มีความสำคัญอย่างมากในช่วงตลาดการเงินผันผวนและเกิดภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม กองทุนประกันสังคมควรศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการปรับเปลี่ยนกองทุนประกันสังคมจากหน่วยราชการมาเป็นองค์กรอิสระที่เป็นองค์กรรัฐที่ไม่ใช่ราชการแบบสำนักงานคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) หรือองค์กรแบบธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

ส่วนการได้มาซึ่งกรรมการกองทุนประกันสังคมจำนวนหนึ่ง ควรมาจากการเลือกตั้งของลูกจ้างผู้ประกันตนและนายจ้างโดยตรง ซึ่งทางสำนักประกันสังคมได้ทำการศึกษาเรื่องนี้ไว้แล้ว โดยการตั้งเป็นอนุกรรมการยกร่างระเบียบกระทรวงแรงงานว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและฝ่ายผู้ประกันตนเป็นกรรมการในคณะกรรมการการประกันสังคม และการศึกษาได้ดำเนินการเรียบร้อยแล้วอยู่ที่ระดับนโยบายว่าจะตัดสินใจอย่างไรเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ทางอนุกรรมการกลั่นกรองกฎหมาย การกำหนดอัตราเงินสมทบ และการพัฒนาสิทธิประโยชน์ได้มีการเสนอให้มีเพิ่มสิทธิประโยชน์ด้านต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง โดยคำนึงความยั่งยืนทางการเงินควบคู่ไปด้วย เช่น การพัฒนาสิทธิประโยชน์ชราภาพ การเพิ่มสิทธิประโยชน์ประกันการว่างงาน การขยายระยะเวลาการได้รับประโยชน์ทดแทน กรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัย การลดเงินสมทบช่วงโควิด-19 การเพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีทันตกรรม การเพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีประสบอันตรายหรอืเจ็บป่วยมาตรา 40 การเพิ่มสิทธิประโยชน์และการออมเงินโดยสมัครใจมาตรา 33 และ 39 เป็นต้น

โดยรวมแล้ว การดำเนินการที่ผ่านเป็นการเพิ่มสวัสดิการและลดเงินสมทบให้กับผู้ประกับตนมากขึ้น ฉะนั้นจึงมีเงินไหลออกจากเงินกองทุนมากกว่าเงินไหลเข้า ด้านเงินไหลเข้านั้น กองทุนประกันสังคมก็ได้ขยายฐานสมาชิกเพิ่มขึ้น ซึ่งนายอนุสรณ์ เห็นว่า กองทุนประกันควรขยายฐานในเชิงรุกมากกว่านี้ไปยังกลุ่มเกษตรกรและผู้ประกอบอาชีพอิสระ เพื่อให้คนกลุ่มนี้ได้รับความคุ้มครองด้านสวัสดิการพื้นฐานในภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ และนอกจากนี้ยังมีเงินไหลเข้ากองทุนจากการจ่ายเงินสมทบอีกด้วย

สถานการณ์เศรษฐกิจที่หดตัวอย่างรุนแรงทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ทำให้เกิดสถานการณ์ทยอยเลิกจ้างอย่างต่อเนื่องในธุรกิจอุตสาหกรรมต่างๆ โดยธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากเป็นพิเศษ ได้แก่ กลุ่มธุรกิจอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและกิจการต่อเนื่อง ธุรกิจสายการบิน ธุรกิจสื่อสารมวลชน ธุรกิจยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์และอุปกรณ์ ธุรกิจชิ้นส่วนอิเลคทรอนิกส์ ธุรกิจบันเทิงและจัดงาน Event ต่างๆ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจการเงิน กิจการอุดมศึกษาเอกชน เป็นต้น คาดว่าอัตราการว่างงานอาจขึ้นแตะระดับ 10% (คิดเป็นประมาณ 3.81 ล้านคน) ของกำลังแรงงานและอาจทำให้มีคนว่างงานหรือทำงานไม่เต็มเวลา ว่างงานแฝงและทำงานต่ำระดับเพิ่มขึ้นมากกว่า 5 ล้านคน เงินจากกองทุนประกันการว่างงานจะไหลออกมากกว่าภาวะปรกติมาก

ขณะเดียวกันภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ รัฐบาลโดยกระทรวงแรงงาน และบอร์ดกองทุนประกันสังคมก็ได้ลดอัตราการจ่ายสมทบ หากภาวะดังกล่าวจะคงดำรงอยู่ต่อเนื่องไปอีก 3-4 ปี เมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวบ้างแล้ว มีความจำเป็นต้องจ่ายเงินสมทบเพิ่ม เพื่อให้มีเงินดูแลสวัสดิการต่างๆ ให้กับผู้ประกันตนได้อย่างเพียงพอ สถานะของเงินกองทุนประกันสังคมยังคงมั่นคง แต่ต้องปฏิรูปเพื่อให้กองทุนชราภาพมีความยั่งยืนในระยะ 50 ปีข้างหน้าด้วยการเก็บเงินสมทบเพิ่มเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวแล้ว

ขบวนการแรงงานต้องมีความเป็นเอกภาพและเข้มแข็ง เพื่อช่วงบรรเทาความลำบากทุกข์ยากของพี่น้องผู้ใช้แรงงาน และควรมีส่วนร่วมในการเข้าไปมีบทบาทในใช้งบประมาณ เพื่อช่วยเหลือกลุ่มคนที่ถูกเลิกจ้างและดำเนินโครงการ Reskill/Upskill เพื่อพัฒนาทักษะและเพิ่มผลิตภาพของแรงงานไทย

นายอนุสรณ์ กล่าวอีกว่า มีแรงงานจบใหม่ทยอยเข้าสู่ตลาดตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นมาประมาณ 5-6 แสนคน ซึ่งประมาณ 50-60% ไม่น่าจะมีตำแหน่งงานรองรับ แรงงานจบใหม่จำนวนหนึ่งยังจำเป็นต้องมีปรับทักษะเพื่อให้ตอบสนองต่อความต้องการของธุรกิจ รัฐบาลอาจจำเป็นต้องทบทวนการเปิดเสรีตลาดแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน และจำกัดการนำเข้าแรงงานต่างด้าวมากขึ้น และควรเพิ่มงบประมาณในการช่วยเหลือผู้ประกอบการเพื่อให้ชะลอการเลิกจ้าง และ จ่ายเงินอุดหนุนค่าจ้างให้กับธุรกิจอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างรุนแรงเป็นกรณีพิเศษ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (04 ต.ค. 63)

Tags: , , , ,
Back to Top