PTTEP มั่นใจผลิตก๊าซฯเอราวัณเข้าเป้าแม้เชฟรอนยื่นอนุญาโต-รัฐเตรียม LNG รองรับ

นายพงศธร ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยว่า บริษัทมีความมั่นใจว่าจะสามารถผลิตก๊าซธรรมชาติจากแหล่งเอราวัณภายใต้สัญญาระบบแบ่งปันผลผลิต (PSC) ในเดือน เม.ย.65 ได้ตามเป้าหมายที่ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน

หลังจาก บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ซึ่งเป็นผู้ได้รับสัมปทานอยู่ในปัจจุบันจะหมดอายุสัญญาในเดือน เม.ย.65 แม้ว่าขณะนี้เชฟรอนฯได้กลับเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการอีกครั้งก็ตาม เนื่องจากที่ผ่านมาการเจรจาระหว่างบริษัทและเชฟรอนเพื่อขอเข้าพื้นที่รองรับเตรียมการผลิตในแหล่งเอราวัณเพื่อให้เกิดความต่อเนื่องหลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทานเดิมนั้นมีความเป็นไปด้วยดีและยังมีสัญญาณที่ดีต่อเนื่อง

ทั้งนี้ เพื่อให้การผลิตก๊าซฯในแหล่งดังกล่าวมีความต่อเนื่องในเดือนเม.ย.65 บริษัทจะต้องดำเนินการในเฟสแรกด้วยการติดตั้งแท่นผลิตปิโตรเลียม 8 แท่น ด้วยงบลงทุนราว 200 ล้านเหรียญสหรัฐภายในกลางปี 64 พร้อมกับการรับโอนแท่นผลิตจากกลุ่มเชฟรอนอีก 142 แท่น เพื่อให้สามารถผลิตก๊าซฯได้ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ตามสัญญาที่ได้ดำเนินการกับรัฐบาล

อย่างไรก็ตาม การจะเข้าพื้นที่เพื่อติดตั้งแท่นผลิตดังกล่าวทางบริษัทก็จะต้องขออนุญาตจากทางเชฟรอน และจะต้องมีการเซ็นสัญญาข้อตกลงการเข้าพื้นที่ (Site Access Agreement) ระยะที่ 2 ซึ่งน่าจะจบได้ในเร็ววันนี้ จากปัจจุบันที่ได้มีข้อตกลงในระยะแรก และทำให้บริษัทสามารถเข้าไปจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ได้ในขณะนี้

“กระบวนการอนุญาโตฯ เป็นการตั้งคณะพูดคุยเพื่อไกล่เกลี่ย ไม่ได้เป็นการฟ้องรัฐเป็นการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทเมื่อทั้ง 2 ฝ่ายเห็นไม่ตรงกัน ซึ่งเป็นเรื่องของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติกับเชฟรอน ส่วนเรื่องการขอเข้าไปพื้นที่เป็นหลักการที่เราทำได้ ก็มีการเจรจาพูดคุยกับเชฟรอนมี sign ที่ดี ที่ผ่านมาก็ให้เราเข้าไปศึกษา EIA …เรามั่นใจว่าเดือนเมษายน 2565 เราจะผลิตได้ เพราะทุกฝ่ายพยายามร่วมมือกัน”

นายพงศธร กล่าว

อนึ่ง เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา กลุ่มเชฟรอนฯออกประกาศว่าได้ตัดสินใจเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการ กรณีข้อพิพาทเรื่องค่าใช้จ่ายรื้อถอนแท่นปิโตรเลียมแหล่งเอราวัณในอ่าวไทยอีกครั้ง หลังจากที่ได้หยุดไปเมื่อเดือนราวก.ย.62 เนื่องจากการเจรจากับฝ่ายรัฐบาลในช่วงหยุดกระบวนการอนุญาโตตุลาการนั้นยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้

โดยแท่นผลิตในแหล่งเอราวัณมีทั้งหมด 191 แท่น ซึ่งรัฐจะเก็บไว้ใช้ประโยชน์ 142 แท่น ทำให้เชฟรอนต้องรื้อถอน 49 แท่น แต่ได้นำไปใช้ทำปะการังเทียม 7 แท่น ดังนั้น คงเหลือรื้อถอน 42 แท่น ซึ่งเชฟรอนพร้อมจะรื้อถอน แต่ขณะเดียวกันรัฐยังระบุว่าเชฟรอนจะต้องวางเงินหลักประกันค่ารื้อถอนในอนาคตสำหรับ 142 แท่นที่รัฐจะเก็บไว้ใช้ประโยชน์ด้วยการโอนให้กับ PTTEP ซึ่งเป็นผู้ได้รับสัญญา PSC แหล่งเอราวัณรายใหม่ โดยในส่วนนี้เชฟรอนต้องจ่ายวงเงินรื้อถอนไม่น้อยกว่า 10 ล้านเหรียญสหรัฐ/แท่น หรือไม่ต่ำกว่า 1,500 ล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้เกิดกรณีข้อพิพาทดังกล่าวขึ้นมา

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท. (PTT) เปิดเผยว่า การดำเนินการของปตท.สผ. เพื่อให้การผลิตก๊าซธรรมชาติในแหล่งเอราวัณมีความต่อเนื่องภายหลังรัฐหมดสัญญาสัมปทานกับกลุ่มเชฟรอนนั้น น่าจะยังเป็นไปตามเป้าหมายเดิม โดยขณะนี้ถือว่ายังไม่ผลกระทบแต่อย่างใด ซึ่งทั้ง 3 ฝ่าย เชฟรอน ปตท.สผ. และรัฐบาล อยู่ระหว่างเจรจาร่วมกัน ซึ่งเชื่อว่าทุกอย่างจะจบลงด้วยดี สำหรับปตท.ในฐานะรัฐวิสาหกิจด้านพลังงาน ก็ยืนยันว่าจะดูแลเพื่อไม่ให้พลังงานของประเทศขาดแคลน

ด้านนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน กล่าวว่า ขณะนี้ข้อพิพาทระหว่างกระทรวงและเชฟรอน ได้เข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายแล้ว จึงไม่สามารถที่จะแสดงความคิดเห็นได้ อย่างไรก็ตามหากมีปัญหาที่การผลิตปิโตรเลียมในแหล่งเอราวัณไม่มีความต่อเนื่อง รัฐบาลก็เตรียมแผนรองรับด้วยการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เข้ามาทดแทน

ทั้งนี้ ไทยมีคลังรับ-จ่าย (LNG Receiving Terminal) แห่งที่ 1 ในพื้นที่มาบตาพุด ขนาด 11.5 ล้านตัน/ปี ที่พร้อมใช้งานแล้ว ขณะที่ปตท.อยู่ระหว่างก่อสร้างคลัง LNG แห่งที่ 2 ในพื้นที่บ้านหนองแฟบ จ.ระยอง ขนาด 7.5 ล้านตัน/ปี จะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 65 ซึ่งจะทำให้สามารรถรองรับการนำเข้า LNG ได้ถึง 19 ล้านตัน/ปี ในปี 65 หรือคิดเป็นปริมาณก๊าซธรรมชาติ 2,660 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน

ขณะที่ปัจจุบันแหล่งเอราวัณ ที่มีกลุ่มเชฟรอน เป็นผู้ดำเนินการ (operator) มีการผลิตก๊าซธรรมชาติ อยู่ที่ราว 1,240 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ส่วนแหล่งบงกชที่มีกลุ่ม PTTEP เป็นผู้ดำเนินการ มีการผลิตก๊าซฯอยู่ที่ราว 900 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน โดยแหล่งเอราวัณ และบงกช จะหมดอายุสัญญาสัมปทานในปี 65-66

ขณะที่ PTTEP ซึ่งเป็นผู้ได้รับสัญญาสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรายใหม่ภายใต้ระบบแบ่งปันผลผลิต (PSC) ในแหล่งเอราวัณและบงกช มีข้อผูกพันจะต้องผลิตปิโตรเลียมจากทั้ง 2 แหล่งให้มีความต่อเนื่องทันที โดยจะต้องมีปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติขั้นต่ำสำหรับ 10 ปีแรกของระยะการผลิตที่ 1,500 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน แบ่งเป็น แหล่งเอราวัณ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน และบงกช 700 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (5 ต.ค. 63)

Tags: , , , , , , , , , , , , , , ,
Back to Top