EEC ตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมอาหารโลก หลังพ้นวิกฤตโควิด-19

เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ประกาศตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางในการบ่มเพาะนวัตกรรมด้านอาหารแห่งใหม่ของโลก หลังผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19

EEC ได้เร่งผลักดันโครงการอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร (Food for the Future) และอุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ (Advanced Agriculture and Biotechnology) เพื่อให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ

ดร.ลัษมณ อรรถาพิช รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EECO) กล่าวว่า แผนการสนับสนุนอุตสาหกรรมการเกษตรใน EEC จะเน้นส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและการเกษตรอัจฉริยะเพื่อเพิ่มศักยภาพให้กับไทยในฐานะศูนย์กลางการผลิตผลไม้เขตร้อน โดยในขณะนี้ ไทยอยู่ในระหว่างการหารือกับนักลงทุน ซึ่งจะทำให้เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) มีความพร้อมที่จะเปิดสายการผลิตในช่วงเวลาที่ตั้งเป้าไว้

ทั้งนี้ องค์ประกอบหลักของ EECi มีอยู่ 3 ประการด้วยกัน ซึ่งได้แก่

  1. Biopolis หรือศูนย์กลางการวิจัยและนวัตกรรมด้านชีววิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชีวภาพ ที่มีความเกี่ยวข้องในการพัฒนาเกษตรสมัยใหม่ ซึ่งจะเปิดให้บริการในปี 2564
  2. Food Innopolis หรือศูนย์วิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนให้บริษัทยักษ์ใหญ่และมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ได้วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีร่วมกับบริษัทสตาร์ทอัพและผู้ประกอบการรายเล็ก
  3. Aripolis ศูนย์กลางการวิจัยและนวัตกรรมด้านระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ และระบบอัจฉริยะกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ โลหะ และเครื่องจักร

อนึ่ง ประเทศไทยถือว่าเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญ เนื่องจากพรั่งพร้อมไปด้วยพื้นที่การเกษตรที่สมบูรณ์ อีกทั้งยังมีอาหารทะเลนานาชนิด จึงทำให้ไทยเป็นเพียงหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่สามารถผลิตอาหารได้มากกว่าความต้องการของคนในประเทศ โดยเมื่อปีที่ผ่านมา ไทยได้ส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารรวมมูลค่ากว่า 3.3 หมื่นล้านดอลลาร์

อย่างไรก็ตาม องค์การสหประชาชาติคาดการณ์ว่า อุปสงค์ด้านอาหารทั่วโลกจะปรับตัวขึ้นราว 60% ภายใน 10 ปีข้างหน้า ขณะที่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็เป็นปัจจัยที่ทำให้ภาวะไร้เสถียรภาพด้านอาหารเกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลจึงหวังที่จะใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี นวัตกรรม และการขนส่ง เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมอาหารของประเทศ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (6 ต.ค. 63)

Tags: , , , , , , , , , , ,
Back to Top